วันที่ (10 ธ.ค.) ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์สาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนบทความ “Hope vs. Fear” เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุเนื้อหาดังนี้
“จะว่า บังเอิญก็ใช่ แต่จะว่าถูกกำหนดอย่างท่วมท้น (overdetermined) ก็ได้เช่นกัน คือ เมื่อวานมีเพื่อนอาจารย์และอดีตลูกศิษย์คนหนึ่งที่พบกันโดยบังเอิญ ถามผมไปในทำนองเดียวกันว่า ช่วงที่ผ่านมา รู้สึกหมดหวังกับการเปลี่ยนแปลง เพราะดูมันยากมาก… และสถานการณ์บ้านเมืองเป็นไงบ้าง พอมีหวังจะเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างไหม? ก็เป็นคำถามโคตะระยากที่คนสอนรัฐศาสตร์มักเจอเป็นประจำ และจากประสบการณ์ของตัวเอง ยิ่งตอบบ่อยเข้า ก็ยิ่งรู้สึกว่า ตอบยากขึ้นทุกที แวบแรกที่ผมนึกตอบไปทันควันคือ…มันมืดครับ
แต่พอคุยกันไป คิดกันไป ผมก็ค่อย ๆ นึกเกลาแก้คำตอบบางอย่างที่ต่างไปได้ 2 ข้อ ดังนี้ครับ 1) ในทางเป็นจริง ระเบียบอำนาจปัจจุบันอ่อนแอมาก ทั้งทางสติปัญญา และความชอบธรรม นี่คงเป็นข้อความจริงที่สังเกตเห็นกันทั่วไปอยู่ แต่ผมเกรงว่า คนทั่วไปอาจไม่หยั่งซึ้งถึงความสำคัญของมัน คืองี้นะครับ อำนาจมีสิทธิ์ไม่รู้/โง่กว่าปกติ ยิ่งอำนาจมากก็ยิ่งมีสิทธิ์ไม่รู้/โง่มากขึ้น เพราะบริษัทบริวารทั้งหลายของอำนาจ ลังเลหวาดหวั่นที่จะรายงานความจริงที่ไม่ตรงกับความอยากเชื่อของอำนาจให้อำนาจฟัง
อำนาจ จึงมักได้ยิน ได้ฟังแต่ความจริงฉบับ edited ส่วนที่ไม่ตรงหรือขัดแย้งกับความเชื่อของตนทิ้งไปเรียบร้อยแล้ว ทำให้อำนาจตัดสินใจบนฐานความไม่รู้ไม่เข้าใจความจริงโดยภาพรวม แต่อิงเฉพาะความจริงเฉพาะส่วนที่ตนอยากเชื่ออยากฟ้งมากขึ้นทุกที โอกาสที่อำนาจจะพลาด ใช้อำนาจสวนทวนกับความจริงก็ย่อมมีมาก นอกจากนี้ ก็ไม่ควรดูเบาสิ่งนามธรรมทางการเมืองการปกครองอย่างความชอบธรรม มันอาจไม่ใช่ตำแหน่ง อาวุธยุทโธปกรณ์ กำลังคนหรือเงินตรา ฯลฯ
แต่ความชอบธรรมเป็นฐานรองรับหล่อเลี้ยงทรัพยากรทางอำนาจอื่นทั้งหมดนั้น ถ้าไม่มีความชอบธรรม ทรัพยากรดังกล่าวเหล่านั้น ก็ขาดพร่องได้ง่าย หรือลดทอนประสิทธิภาพลง ต่อให้มีอาวุธ ก็อาจปล่อยไม่ออกได้ ในทางกลับกัน ถ้ามีความชอบธรรมเป็นพื้นฐานมั่นคงชัดเจน ทรัพยากรอำนาจอื่น ๆ ก็ค่อย ๆ ถ่ายเทหลั่งไหลมาหาได้เช่นกัน
ผมจำได้ว่าสมัยรัฐบาลทักษิณ กุมเสียงข้างมากเด็ดขาด จากการเลือกตั้ง ในสภาฯ ท่ามกลางการดำเนินนโยบายที่ขัดฝืนกระแสสังคมอย่างมาก โดยมั่นใจในอำนาจและไม่แยแสเสียงคัดค้านนั้น อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ได้เคยเตือนรัฐบาลทักษิณว่า ตามหลักรัฐศาสตร์ อย่าดูเบาปัญหาความชอบธรรม แต่รัฐบาลทักษิณไม่ฟัง…จนมีอันเป็นไปในที่สุด ผมเกรงว่า สติปัญญาและความชอบธรรมของระเบียบอำนาจปัจจุบันของเรานั้นอ่อนเปราะยิ่งกว่าสมัยรัฐบาลทักษิณด้วยซ้ำไป
2) ผมอยากลองสันนิษฐานว่า การที่ผู้คนถามถึงความหวังกันมากขึ้นนั้น ไม่เพียงสะท้อนความไม่พึงพอใจ ในสภาพปัจจุบันดังที่เป็นอยู่ (status quo) เท่านั้น แต่ยังบ่งชี้ว่า พวกเขากลัวน้อยลงด้วย การคิดพึ่งพาอาศัยแต่กำลังบังคับ นิติอำนาจ และความกลัวมากสยบสังคมให้หยุดนิ่งยอมตาม มันอยู่ได้ตราบที่คนหมดหวัง หากคนดิ้นรนค้นหาความหวัง มุ่งหวัง ไขว่คว้าความหวังกันมากขึ้นเท่าไหร่ ความกลัวก็จะอ่อนด้อยความหมายและพลังในการหยุดความเคลื่อนไหวของสังคมลงไปเท่านั้น… ถ้าสังคมเลิกกลัว แล้ว อำนาจจะเหลืออะไร?”
Cr.Bright today