พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ยมนาค
หนึ่งในผู้ให้กำเนิดฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์
ฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ได้แบบอย่างจากการแข่งขันเรือประเพณีระหว่างมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดและมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในสหราชอาณาจักร และการแข่งขันเบสบอลประเพณีระหว่างมหาวิทยาลัยเคโอและมหาวิทยาลัยวาเซดะในประเทศญี่ปุ่น
คำว่า ประเพณี นี้มีคุณค่าล้ำลึก เนื่องจากต้องใช้เวลาต่อเนื่องยาวนาน
คำว่า ประเพณี หมายถึง กิจกรรมที่มีการปฏิบัติสืบเนื่องกันมา เป็นเอกลักษณ์และมีความสำคัญต่อสังคม
จากประเพณี จะกลายเป็นบ่อเกิดของวัฒนธรรม ที่จะถ่ายทอดกันต่อไปโดยลำดับ
ประเพณีการอัญเชิญตราพระเกี้ยวนั้นมีความหมายลึกซึ้ง จนทำให้นิสิตยุคปัจจุบันไม่เข้าใจจริงหรือ
หรือว่าคนยุคใหม่มีความเปราะบางมากจนถูกนักการเมืองและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลอกใช้เป็นประเด็นทางการเมืองอย่างง่ายดาย
……………………………………………………………………………..
ไทยพีบีเอส เคยรายงานเรื่องฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า
ขบวนพาเหรดในพิธีเปิด งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ทุกปีนั้น เป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจจากผู้ชมเป็นอย่างมากในทุก ๆ ครั้ง ส่วนหนึ่งในขบวนที่สามารถดึงดูดผู้ชมได้ก็คือ ขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว และตราธรรมจักร
การอัญเชิญตราสัญลักษณ์ เข้ามาในขบวนพาเหรดของงานฟุตบอลประเพณีฯ ที่เก่าแก่ที่สุด จากหนังสือพิมพ์สยามนิกร (พิเศษ) ฉบับวันจันทร์ที่ 28 ธ.ค.2507 มีผู้อัญเชิญเป็นนิสิตหญิงเพียงคนเดียว และองค์พระเกี้ยวมีขนาดเล็กกว่าองค์พระเกี้ยวจำลองที่ใช้ในปัจจุบัน
การอัญเชิญตราสัญลักษณ์เข้ามาในสนามแข่งขันนั้นเหมือนเป็นการเปิดงาน ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการอัญเชิญตราพระเกี้ยว ทางธรรมศาสตร์จะต้องมีตราธรรมจักร ตราสัญลักษณ์ดังกล่าวเปรียบดังทุกสิ่งที่เป็นสถานศึกษาแห่งนั้น จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องอัญเชิญเข้ามาในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์
ในส่วนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การอัญเชิญตราพระเกี้ยวเปรียบเสมือนการอัญเชิญพระพุทธเจ้าหลวงทั้ง 2 พระองค์ ซึ่งเป็นผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัย เข้ามาในงาน และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่นักกีฬาและเหล่ากองเชียร์ ดังประโยคที่ดังก้องอยู่ในใจชาวจุฬาฯ ทุกคนว่า “สีชมพูจักอยู่ในกายเจ้า พระเกี้ยวเกล้าจักอยู่เป็นคู่ขวัญ”
……………………………………………………………………………..
จุดเริ่มต้นของฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์เริ่มมาจากนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบที่รักการเล่นฟุตบอล ซึ่งหนึ่งในคนสำคัญก็คือ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ยมนาค ที่เริ่มเล่นฟุตบอลตั้งแต่อยู่โรงเรียนสวนกุหลาบ
จนเมื่อ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ เข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมกับเพื่อนบางคน ในขณะที่บางคนเข้าเรียนต่อที่จุฬาฯ ได้ร่วมกันจัดการแข่งขันฟุตบอลกันเองระหว่างศิษย์เก่าสวนกุหลาบและเทพศิรินทร์ ซึ่งในเวลานั้นกลายเป็นนิสิตจุฬาและนักศึกษาธรรมศาสตร์
และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ที่จัดขึ้นในครั้งแรกที่สนามหลวง เมื่อปี พ.ศ. 2477 และพล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ก็เป็นหนึ่งของผู้เข้าแข่งขันครั้งนั้นด้วย
……………………………………………………………………………..
หมายเหตุ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ยมนาค อดีตสมาชิกวุฒิสภา อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเลย และอดีตนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ควบตำแหน่ง “รองประธานฟีฟ่า ฝ่ายกิจการเอเชีย” ผู้สร้างยุครุ่งเรืองของวงการฟุตบอลลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ใน พ.ศ. 2527 พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ยมนาค ได้รับรางวัลแห่งเกียรติยศ “บุคคลผู้ทรงคุณค่าในรอบ 30 ปี ของสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย AFC.” (AFC DISTINGUISHED SERVICE AWARD RECEIPIENTS 1984)
……………………………………………………………………………..
อัษฎางค์ ยมนาค