ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #จุฬา แจง !! เนติวิทย์พวก แพร่ข้อมูลบิดเบือน-สร้างเรื่องกระทบชื่อเสียงสถาบัน

#จุฬา แจง !! เนติวิทย์พวก แพร่ข้อมูลบิดเบือน-สร้างเรื่องกระทบชื่อเสียงสถาบัน

1 September 2017
736   0

             จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกคำชี้แจงครั้งแรก (31 ส.ค.) ผ่านเว็บไซต์ กรณีเหตุการณ์ความไม่เรียบร้อยในพิธีถวายสัตย์ฯ ของนิสิตชั้นปีที่ 1 เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ที่ผ่านมา เผยเหตุตัดคะแนนความประพฤตินายเนติวิทย์กับเพื่อนรวม 8 คน เพราะไม่ประพฤติปฏิบัติตัวตามบทบาทที่พึงเป็น และเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน-สร้างเรื่องกระทบชื่อเสียงสถาบัน

            bbc – ในคำชี้แจงระบุว่า “โดยปกติมหาวิทยาลัยจะไม่เปิดเผยการลงโทษนิสิต หากแต่ขณะนี้มีการเผยแพร่ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น” มหาวิทยาลัยจึงจำเป็นต้องสื่อสารกับสาธารณะ
             โดยมีใจความสำคัญว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวินัยนิสิต เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของนิสิตทั้ง 8 คนผิดวินัยนิสิต เสนอมหาวิทยาลัยให้ลงโทษนิสิตกลุ่มนี้ด้วยการตัดคะแนนความประพฤติ เนื่องจากทั้งหมดเป็นตัวแทนสภานิสิตจุฬาฯ แต่ไม่ประพฤติปฏิบัติตัวตามบทบาทหน้าที่ที่พึงจะเป็น ทั้งที่ทราบอยู่แล้วว่าตนมีทัศนะไม่ตรงกับขนบธรรมเนียมประเพณีของมหาวิทยาลัย ในการถวายสักการะและถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อแสดงตนเป็นนิสิตใหม่ มหาวิทยาลัยซึ่งตระหนักถึงเสรีภาพทางความคิดของนิสิต ได้จัดพื้นที่พิเศษสำหรับนิสิตกลุ่มนี้ไว้แล้ว โดยนิสิตก็ยังแสดงความจำนงเข้าร่วมพิธีในฐานะสภานิสิต แต่ไม่ยืนอยู่ในแถวตามที่ผู้เป็นผู้แทนสภานิสิตพึงกระทำ จนกว่าพิธีการจะเสร็จสิ้นเรียบร้อย กลับนัดหมายกันเดินออกจากแถวเพื่อไปทำความเคารพพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ด้วยการโค้งคำนับเพื่อให้แตกต่าง และปรากฏภาพที่ขัดแย้งกับนิสิตคนอื่นที่เข้าร่วมถวายสักการะด้วยการถวายบังคม จนนำไปสู่เหตุการณ์ความไม่เรียบร้อย ส่งผลทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อมหาวิทยาลัย
            “นิสิตยังได้เผยแพร่ข้อมูลที่มีการบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อสร้างให้เรื่องราวที่ดูเสมือนความขัดแย้งนี้เป็นประเด็นในสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อชื่อเสียงมหาวิทยาลัย และสะท้อนถึงการไม่เคารพต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นที่มีทัศนะแตกต่างจากตน โดยเฉพาะของประชาคมทั้งนิสิต บุคลากร และนิสิตเก่าอื่นๆ ที่ให้คุณค่าและมีศรัทธาต่อพิธีถวายบังคมเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพระผู้พระราชทานกำเนิด..” คำชี้แจงจุฬาฯ ระบุ

              คำชี้แจงจุฬาฯ ยืนยันด้วยว่า ได้สอบสวนและประมวลข้อเท็จจริงในส่วนของอาจารย์ไปแล้วบางส่วน แต่ยังขาดผลการให้ข้อเท็จจริงในส่วนของนิสิตที่เกี่ยวข้องซึ่งไม่ว่างมาให้ข้อเท็จจริง แต่ได้นัดหมายกันในวันที่ 4 ก.ย. คาดว่าน่าจะสามารถสรุปผลได้ในเวลาอันใกล้

             ก่อนหน้านี้สภานิสิตจุฬาฯ ได้ออกแถลงการณ์ของสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงจุดยืนไม่ยอมรับคำสั่ง 2 ฉบับของจุฬาฯ ที่สั่งตัดคะแนนความประพฤตินิสิตจำนวน 25 คะแนน และสั่งให้สมาชิกสภานิสิตสามัญพ้นจากตำแหน่ง พร้อมขอเรียกร้องให้คณะกรรมการฯ ชี้แจงกระบวนการพิจารณาและข้อกล่าวหาอย่างชัดเจนแก่นิสิตที่ถูกสอบสวน รวมทั้งเปิดโอกาสให้นิสิตที่ถูกสอบสวนมีเวลาในการรวบรวมพยานหลักฐาน และแก้ข้อกล่าวหาอย่างเต็มที่ในชั้นของการอุทธรณ์ต่อไป
            นอกจากนี้สภานิสิตฯ ยังแสดงความกังวลต่อกระบวนการสอบสวนทางวินัยกับอาจารย์ที่เข้าไปทำร้ายร่างกายนิสิต ที่ไม่มีความคืบหน้าออกมาแต่อย่างใด

            นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ มีโอกาสติดเข็มประธานสภาแห่งนิสิตจุฬาฯ ได้ไม่ถึง 2 ชั่วโมง ก่อนถูกสั่งปลด กล่าวกับบีบีซีไทยว่า “เสียใจกับมหาวิทยาลัยที่ทำแบบนี้ ยังหวังว่ามหาวิทยาลัยจะให้ความเป็นธรรม ผมยังมีงานต้องทำอีกมากในจุฬาฯ ตามวิสัยทัศน์ที่ผมคิดไว้”

             เขาเล่าว่า “เมื่อช่วงเช้านี้ ผมเพิ่งได้รับเข็มประธานสภานิสิตฯ ในพิธีไหว้ครู.. มาตอนบ่าย ผมถึงรู้ว่าผมถูกปลดแล้ว มีคำตัดสินตั้งแต่วานนี้ (30 ส.ค.) แต่เขาไม่ได้บอกผม” นายเนติวิทย์กล่าว
            เขาเพิ่งได้รับหนังสือคำสั่งจากคณะกรรมการส่งเสริมวินัยนิสิต ในฝ่ายกิจการนิสิต จุฬาฯ เมื่อช่วงเวลา 16.00 น. ที่ผ่านมา มีเนื้อหาให้ลงนามยอมรับความผิด 5 ข้อ เช่น ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของมหาวิทยาลัย ไม่ประพฤติศีลธรรมดีงาม เป็นผลให้ถูกตัดคะแนนความประพฤติ 25 คะแนน

            ตามระเบียบจุฬาฯ ว่าด้วยสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2529 ผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิสิตฯ ต้องไม่เป็นนิสิตที่เคยถูกลงโทษตัดคะแนนความประพฤติสะสมตั้งแต่ 20 คะแนนขึ้นไป นั่นทำให้นายเนติวิทย์กับเพื่อนอีก 4 คน ต้องพ้นจากการเป็นสมาชิกสภานิสิตฯ
           การสอบสวนเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ส.ค. มีนิสิต 8 คนที่ถูกสอบสวน ในฐานะที่มีส่วนรู้เห็นกับการเดินออกมาจากพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนของนิสิตใหม่ประจำปี 2560 ที่พระบรมราชานุสาวรีย์ 2 รัชกาลในจุฬาฯ

            นิสิตถูกเรียกสอบสวนทีละคน ใช้ช่วงตั้งแต่ 13.30-19.00 น. ส่วนของนายเนติวิทย์ใช้เวลา 50 นาที โดยมี ผศ.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษา และอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ในฐานะผู้ปกครอง เข้าร่วมรับฟัง แต่ไม่เปิดโอกาสให้ซักถามใดๆ

            ประเด็นที่คณะกรรมการมุ่งตรวจสอบคือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีการเตรียมการล่วงหน้าระหว่างนิสิตกับช่างภาพหรือไม่ และนายเนติวิทย์ได้แจ้งให้ รศ.ดร.บัญชา ชลาภิรมย์ รองอธิการบดีด้านกิจการนิสิต (ขณะนั้น) ทราบก่อนหรือไม่ว่าจะมีนิสิตเดินออกจากสถานที่ทำพิธี
            นายเนติวิทย์เล่าว่าในวันนั้น คณะกรรมการบอกว่า “เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูล ไม่ได้เป็นการสอบสวน” แต่เมื่อเข้าไปในห้องสอบ กลับเป็นการสอบสวน โดยเริ่มจากการให้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันพิธีถวายสัตย์
            “ทั้งห้องมีกรรมการเป็น 10 คน แต่ให้นิสิตเข้ามาทีละคน ตอนนั้นเราไม่รู้เลยว่าคนสอบเอาข้อมูลอะไรมา หรืออยู่ดีๆ ไปเชื่อข้อมูลจากแหล่งข่าวที่ไหน ก่อนมีการตัดสินออกมาเลยภายหลังการสอบแค่ไม่กี่วัน ทั้งที่ 1 ในกรรมการยังบอกให้รอผลต้นเดือนหน้า (ก.ย.)”

            ก่อนหน้านี้ นายเนติวิทย์ได้ยื่นขอขยายเวลาสอบสวนเพิ่มเติม เพื่อรวบรวมข้อมูลส่งให้คณะกรรมการสอบ แต่ถูกปฏิเสธ และบอกว่าหากยื่นหลักฐานนอกรอบคณะกรรมการจะไม่รับ อย่างไรก็ตามจะยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอีกชุด ซึ่งตามระเบียบสามารถทำได้ภายใน 30 วัน
            นายเนติวิทย์ชี้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้น “สะท้อนกระบวนการยุติธรรมของประเทศนี้ที่รับฟังข้างเดียว” และคิดว่าเป็นเรื่องที่ “มีธงอยู่แล้วในใจ แต่ไม่เชื่อว่าจะมาทำแบบนี้ในมหาวิทยาลัย มันเป็นการทำลายแสงสว่างทางปัญญา”

            อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อ ตั้งข้อสังเกตว่าคำสั่งลงโทษนิสิตที่ออกมาค่อนข้างคลุมเครือ และกระบวนการสอบสวนค่อนข้างรวดเร็วและรวบรัด คณะกรรมการฯ ไม่ยอมรับเอกสารชี้แจงเพิ่มเติมจากนิสิต จึงเชื่อว่ามหาวิทยาลัยอยู่ภายใต้แรงกดดันไม่น้อย

“เราประเมินว่าการตัดคะแนนความประพฤตินิสิต น่าจะอยู่ที่ 10-15 คะแนน เพื่อให้นิสิตกลับตัว ไม่คิดว่าจะตัดคะแนนสูงขนาดนี้” อาจารย์จุฬาฯ กล่าว
           นอกจากนี้ เนติวิทย์ยังถูกสอบวินัย กรณีจัดประชุมฟังความเดือดร้อนผู้ค้าบริเวณสวนหลวงสแควร์โดยไม่ได้ขออนุญาตทางมหาวิทยาลัยใช้สถานที่ นายเนติวิทย์กล่าวว่าหากผลออกมาว่าถูกตัดคะแนนในอีกข้อหา และถูกตัดคะแนนความประพฤติเพิ่มจนเกิน 40 คะแนนขึ้นไป จะมีผลให้ถูกพักการเรียนตามระเบียบของมหาวิทยาลัย
            คนส. นัดถกปมเนติวิทย์ 4 ก.ย. เรียกร้องจุฬาฯ แจงนักวิชาการบางส่วนของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ได้ออกมาเคลื่อนไหว

             ผศ.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นแกนนำของคนส.กล่าวกับบีบีซีไทยทางโทรศัพท์ว่ากรณีนี้เป็นการใช้ระเบียบกฎเกณฑ์ลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของนิสิต “เข้าใจว่านายเนติวิทย์กับพวกเคลื่อนไหวท้าทายคุณค่าและหลักบางประการที่คนบางกลุ่มยึดถือ มีคนบางกลุ่มผูกขาดว่าจุฬาฯ ต้องหมายความว่าอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เมื่อถูกคนรุ่นหลังท้าทาย จึงพยายามหาวิธีการยับยั้งการท้าทาย”

           เขายังได้เรียกร้องให้จุฬาฯ ตอบคำถามสังคมว่านิสิตที่ถูกสอบสวนมีพฤติกรรมผิดระเบียบวินัยของมหาวิทยาลัยอย่างไร อาศัยกฎข้อไหนลงโทษ และทำผิดแบบไหนจะถูกตัดคะแนนเท่าไร เพื่อให้เกิดความชัดเจน
            ความเคลื่อนไหวต่อไปของกลุ่มคนส.คือจะจัดแถลงข่าววันที่ 3 ก.ย. ที่คณะสังคมวิทยาฯ เกี่ยวกับประเด็นสิทธิเสรีภาพในสถาบันการศึกษา โดยมีกรณีนายเนติวิทย์กับเพื่อน และกรณี ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถูกออกหมายเรียกกรณีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.
           หลังจุฬาฯมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนนิสิตที่เดินออกจากพิธีถวายสัตย์ คนส.ที่เกิดจากการรวมตัวของคณาจารย์และนักวิชาการไทย 128 คนได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงผู้บริหารจุฬาฯ เตือนว่า “หากการตัดสินของจุฬาฯ ขัดแย้งกับหลักฐานที่ปรากฏ ไม่เพียงแต่จะส่งผลให้ผู้บริหารจุฬาฯ ถูกพิพากษาจากสังคม แต่จะส่งผลต่อชื่อเสียงและเกียรติภูมิของจุฬาฯ อย่างสำคัญ”

สำนักข่าววิหคนิวส์