จากกรณีที่ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร , นครปฐม , นนทบุรี , ปทุมธานี , สมุทรปราการ และ สมุทรสาคร
โดยรัฐได้เตรียมวงเงินจำนวน 2,519.38 ล้านบาท ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ได้แก่ นายจ้างและผู้ประกันตน มาตรา 33 ใน 4 ประเภทกิจการ ได้แก่ กิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร กิจการศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ และกิจการกิจกรรมการบริการด้านอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบ
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ ที่ผู้ประกันตน ม.33 หรือ นายจ้าง ต้องทำความเข้าใจในการรับเงินเยียวยาโควิด-19 จากประกันสังคม มีอยู่ 2 กลุ่ม คือ
นายจ้าง
– นายจ้างที่อยู่ในฐานข้อมูลประกันสังคม ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2564 หรือนายจ้างที่ขึ้นทะเบียนใหม่ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน-30 กรกฎาคม 2564 จำนวน 41,940 ราย โดยจะได้รับเงินเยียวยาในอัตรา 3,000 บาทต่อลูกจ้างหนึ่งคน สูงสุดไม่เกิน 200 คนต่อแห่ง
– ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 663,916 ราย จะได้รับเงินเยียวยาในอัตรา 2,000 บาทต่อคน ทั้งนี้กรณีที่ผู้ประกันตนทำงานกับนายจ้างมากกว่า 1 ราย ให้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาเพียงครั้งเดียวในอัตรา 2,000 บาท
ลูกจ้าง
– ลูกจ้างที่มีการจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 6 เดือน รับเงินชดเชยเหตุสุดวิสัย 50% ของค่าจ้างสูงสุดไม่เกิน7,500 บาท
– รัฐบาลจ่ายเพิ่มเติมให้ลูกจ้างในระบบประกันสังคมที่มีสัญชาติไทยอีก 2,000 บาทต่อคน
วีธีรับเงินเงินเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33
– กรณีบุคคลธรรมดาและผู้ประกันตนมาตรา 33 จะโอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์ (Prompt Pay) เฉพาะการผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขบัตรประชาชน
– กรณีนายจ้างที่เป็นนิติบุคคล สำนักงานประกันสังคมจะโอนเข้าบัญชีเงินฝากตามที่นายจ้างแจ้ง หรือตามวิธีการอื่น ๆ ที่กระทรวงแรงงานกำหนด โดยเริ่มโอนเงินเยียวยาครั้งแรกภายในวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 และโอนเงินซ้ำทุกสัปดาห์ละ 1 ครั้ง