ข่าวประจำวัน » อาชญากรรม » #จ่ายเช็ค“วัฒนา” 81 ล้าน! พยานคดีบ้านเอื้ออาทรยันกลางศาล “อริสมันต์”เป็นนายหน้า

#จ่ายเช็ค“วัฒนา” 81 ล้าน! พยานคดีบ้านเอื้ออาทรยันกลางศาล “อริสมันต์”เป็นนายหน้า

12 June 2019
2648   0

พยานคดีทุจริตบ้านเอื้ออาทรเบิกความต่อศาล ทำเช็คจ่าย’วัฒนา เมืองสุข’ รวม 81 ล้านบาท พร้อมบันทึกในบัญชีเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม เพราะไม่มีใบเสร็จ แต่รายงานเป็นค่าที่ปรึกษา พร้อมระบุ“อริสมันต์”ติดต่อร่วมโครงการ ถ้าผ่านอนุมัติต้องจ่ายผู้ใหญ่ 40 ล้าน “เสี่ยไก่”ลั่นสู้ถึงที่สุด อ้างคดีล่าช้าทำจำเลยเสียเปรียบ

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 9 คน นัดสืบพยานโจทก์คดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ หมายเลขดำ อม.42/2561 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวัฒนา เมืองสุข อายุ 62 ปี อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ยุครัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร , นายมานะ วงศ์พิวัฒน์ อดีตกรรมการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) และอดีตประธานอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการปี 2548–2549, นายพรพรหม วงศ์พิวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจก่อสร้างที่พักอาศัย, นายอภิชาติ หรือ เสี่ยเปี๋ยง จันทร์สกุลพร นักธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่, นายอริสมันต์ หรือกี้ร์ พงษ์เรืองรอง อายุ 56 ปี อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย และกลุ่มเอกชน รวม 14 ราย เป็นจำเลยที่ 1-14 ในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 , เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มาตรา 157, ฐานเป็นพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อให้กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 และตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6 , 11 และเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 91
โดยวันนี้ นายวัฒนา , นายอริสมันต์ ที่ได้ประกันตัวไป 5 ล้านบาท กับจำเลยอื่นที่ได้รับการประกันตัว ซึ่งศาลกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาต เดินทางมาศาล ส่วนจำเลยที่ 6-7, 11-12 หลบหนีศาลได้ออกหมายจับไว้แล้ว ส่วนเสี่ยเปี๋ยง และลูกน้อง ที่ตกเป็นจำเลยที่ 4-5 เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เบิกตัวมาจากเรือนจำขณะที่จำเลยที่ 9 ในฐานะนิติบุคคลไม่ได้มาศาล


อัยการ โจทก์นำพยานเข้าไต่สวนรวม 4 ปาก พยานของอัยการโจทก์ปากแรก คือ น.ส.ประเทือง ภิรมย์นก อดีตพนักงานฝ่ายการเงิน บริษัท พาสทิญ่าไทย จำกัด เบิกความต่อศาลสรุปว่า ตนมีหน้าที่ทำเอกสารสั่งจ่ายเช็คตามคำสั่งของหัวหน้าฝ่ายการเงิน ซึ่งได้รับคำสั่งมาจากผู้บริหารอีกต่อหนึ่ง โดยบริษัทฯ มีผู้ถือหุ้นเป็นชาวมาเลเซีย 3 คน และคนไทย 1 คนซึ่งผู้อนุมัติเช็คเป็นชาวมาเลเซีย ส่วนเงินที่สั่งจ่ายถูกบันทึกว่าเป็นค่าที่ปรึกษา ซึ่งได้สั่งจ่ายเช็ครวมทั้งหมด 60 ล้านบาท แต่แยกจ่ายเช็คหลายใบสั่งจ่ายแต่ละครั้ง 1-2 ล้านบาทและการจ่ายจะระบุเป็นเงินสดโดยไม่ได้ระบุเป็นชื่อผู้รับเช็ค ทั้งนี้ หลังจากสั่งจ่ายเช็คไม่ทราบว่าเป็นของใคร หรือนำไปทำอะไร รวมถึงไม่ทราบว่าบริษัทมีที่ปรึกษากี่คน ส่วนที่เคยให้การกับ คตส. และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พนักงานสอบสวนไม่ได้สอบถามในรายละเอียดเกี่ยวกับการสั่งจ่ายเช็ค ถามเพียงข้อมูลการทำงานเท่านั้น
ส่วนนางชดช้อย พงศ์ไพโรจน์ ผู้ประกอบการบริษัทเอกชน พยานปากที่ 2 เบิกความว่า บริษัทได้เข้าร่วมโครงการบ้านเอื้ออาทร กับการเคหะแห่งชาติ ก่อนที่นายวัฒนา จำเลยที่ 1 รับตำแหน่งเป็นรมว.พม. และไม่เคยหารือกับนายวัฒนาเกี่ยวกับการทำโครงการ โดยได้ติดต่อนายอริสมันต์ให้ช่วยหาที่ดิน ซึ่งนายอริสมันต์ได้แนะนำเสนอที่ดินในจังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 6 แปลง ซึ่งนายอริสมันต์แจ้งว่าหากได้รับการอนุมัติให้ร่วมโครงการต้องจ่ายค่าดำเนินการให้ผู้ใหญ่ 40 ล้านบาท และ 7.6 ล้านบาทเป็นค่านายหน้า โดยมีที่ดิน 2 แปลงผ่านหลักเกณฑ์ให้ทำโครงการได้จึงทำการซื้อจำนวน 2 แปลง ภายหลังที่บริษัทได้รับการอนุมัติให้ทำโครงการ ก็มีผู้โทรศัพท์เข้ามาอ้างชื่อนายวัฒนา ทวงถามเงินค่าดำเนินการอนุมัติโครงการจำนวน 40 ล้านบาท ซึ่งตนไม่ทราบว่านายวัฒนา จำเลยที่ 1 อยู่ในนิวยอร์กเพื่อร่วมประชุมกับสำนักงานองค์การสหประชาชาติ ส่วนเงินจำนวนดังกล่าวยืนยันมีการจ่ายจริงโดยตนได้เป็นผู้ดำเนินการแทนเจ้าของที่ดิน ขณะที่โครงการประชาวัฒนาในพื้นที่ลาดกระบัง หลังจากได้รับอนุมัติโครงการมีนายอภิชาต จันทร์สกุลพร จำเลยที่ 4 โทรมาทวงเงินค่าดำเนินการให้กับผู้ใหญ่ในกระทรวง แต่ตนได้ปฏิเสธไป ทั้งนี้ ยืนยันว่าตลอดการทำโครงการบริษัทไม่ได้มีการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่การเคหะแห่งชาติ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ
ต่อมาช่วงบ่ายอัยการ โจทก์ นำพยานขึ้นเบิกความอีก 2 ปาก โดนน.ส.วิชชุดา รักจันทร์ อายุ 43 ปี อดีตหัวหน้าฝ่ายการเงินบริษัท กล่าวว่า ตนมีหน้าที่รับผิดชอบการเบิกจ่ายเงินของบริษัท โดยระหว่างที่บริษัทเป็นคู่สัญญาในโครงการบ้านเอื้ออาทร ผู้บริหารได้สั่งให้จัดทำเช็ค 11 ฉบับ จำนวน 18 ล้านบาท และเช็ค 34 ฉบับ จำนวน 63 ล้านบาทเพื่อจ่ายให้กับผู้บริหารการเคหะแห่งชาติ จึงได้สั่งการต่อให้ผู้ใต้บังคับบัญชาจัดทำเช็คดังกล่าว ต่อมาทราบจากผู้บริหารอีกคนของบริษัทว่าเป็นการสั่งจ่ายให้นายวัฒนา เมืองสุข รมว.พม.ในขณะนั้น ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวถูกบันทึกในบัญชีไว้เป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม เพื่อหักออกจากรายได้ของบริษัท เพราะรายจ่ายนี้ไม่มีใบเสร็จ แต่ในเอกสารรายงานระบุเป็นค่าใช้จ่ายที่ปรึกษา อย่างไรก็ตาม ไม่ทราบว่าเช็คดังกล่าวถูกโอนเข้าบัญชีใคร เพราะเมื่อนำเช็คส่งให้ผู้บริหารที่สั่งให้ทำเช็คก็ไม่ได้สอบถาม
ขณะที่ น.ส.รุ่งทิพย์ จารุทรรศนกุล เจ้าของที่ดินในโครงการบ้านเอื้ออาทร เบิกความสรุปว่า น้องชายตนแจ้งว่าจะหาคนมาซื้อที่ดิน ซึ่งน้องชายตนเป็นเพื่อนกับน้องชายของนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง น้องชายตนบอกว่านายอริสมันต์จะช่วยให้ขายที่ดินได้ ต่อมานายอริสมันต์ได้มาติดต่อเสนอจะนำที่ดินของตนให้การเคหะฯ พิจารณาทำโครงการบ้านเอื้ออาทร โดยแนะนำให้บริษัทของนางชดช้อยเป็นผู้ซื้อที่ดิน และให้น้องชายตนเป็นกลุ่มนายหน้า ตนจึงเสนอขายที่ดินไร่ละ 2.5 ล้านบาท มีการทำสัญญาซื้อขายกับบริษัทของนางชดช้อยพร้อมวางมัดจำ 1 ล้านบาท ซึ่งการเจรจาซื้อขายมีครั้งหนึ่งนายอริสมันต์แจ้งว่าต้องมีค่าดำเนินการให้ผู้ใหญ่ 40 ล้านบาท และ 7.6 ล้านเป็นค่านายหน้า กระทั่งโครงการได้รับอนุมัติเมื่อเดือนม.ค.49 นางชดช้อยให้ตนเสนอราคาไปที่การเคหะฯ ไร่ละ 3 ล้านบาท เพราะต้องใช้ดินถมที่จำนวนมาก แต่ตนไม่มีประสบการณ์ติดต่อกับหน่วยงานราชการ ดังนั้น เงินค่านายหน้า ค่าถมที่ดิน และค่าดำเนินการที่ได้มอบให้นางชดช้อยดำเนินการ ซึ่งตนไม่เห็นตัวเลขที่แท้จริงของเงินที่จ่ายไป ไม่ทราบว่านางชดช้อยจ่ายให้ใครบ้าง และไม่ทราบว่าผู้ใหญ่ของการเคหะเป็นใคร
“ดิฉันไม่รู้ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการเสนอราคาให้ส่วนราชการเท่าไหร่ แต่ดิฉันต้องการขายที่ดิน 2 แปลง รวม 97 ไร่เศษ ในราคาไร่ละ 2.5 ล้านบาท ดังนั้น ส่วนต่างที่เป็นค่านายหน้าหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ดิฉันบอกไปว่าไม่ขอรับรู้ ให้ไปดำเนินการกันเอง แต่ต่อมาทราบว่าเช็คเงินสด 7.6 ล้านบาทเป็นค่านายหน้าให้น้องชาย ส่วนเช็คเงินสด 40 ล้านบาทไม่ทราบว่าใครเป็นผู้รับไป” น.ส.รุ่งทิพย์ กล่าว
ภายหลังการไต่สวน นายวัฒนา จำเลยที่ 1 กล่าวว่า คดีนี้ใช้เวลาไต่สวนมา 12 ปี ขาดอายุความไปเยอะมาก ถ้าโดยสามัญสำนึกคดีไม่ได้มีความสลับซับซ้อนอะไร แต่ใช้เวลาไต่สวนตั้งแต่คณะรัฐประหารแรก จนกระทั่งมาถึงรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง ถ้าถามตนเกี่ยวกับคดีตนก็มีความมั่นใจในคดีจึงเดินหน้าสู้ ไม่ได้มีความกังวลอะไร ความจริงก็คือความจริง คดีนี้หากมีหลักฐานดำเนินคดีไปนานแล้ว นี่ดึงมาจนกระทั่งคดีขาดอายุความ
เมื่อถามว่า ความกดดันเรื่องคำให้การของพยานที่ให้การไว้ค่อนข้างนานแล้ว กังวลว่าอาจจะถูกกดดันจาก อัยการสูงสุดหรือไม่ นายวัฒนา กล่าวว่า ข้อเสียเปรียบของจำเลยมีอยู่หลายอย่าง อย่างแรกถึงเวลาพยานก็จะบอกจำไม่ได้บ้าง มันเป็นปัญหามาก วันนี้บอกจำไม่ได้ แต่ไปพูดกับ คตส.ในวันนั้นก็เกิดความยากลำบากต่อจำเลยที่ต้องไปหาพยานหลักฐานมาหักล้าง ขณะที่วันนี้ศาลก็ไต่สวนพยานได้ 4 ปาก โดยตนยังต้องเดินทางมาศาล อีกประมาณ 12 ครั้ง ในนัดไต่สวนตั้งแต่เดือน ก.ค.-ก.ย.นี้ หลังจากนั้นก็ต้องดูอีกทีว่ากระบวนการสืบพยานโจทก์แล้วเสร็จหรือไม่ โดยหากได้สืบพยานจำเลยภายในเดือน ต.ค.62 คาดว่าคดีดังกล่าวจะพิพากษาได้ภายในปี 2562 นี้
“ถึงวันนี้ก็ยืนยันว่าจะสู้จนสุดทาง มันเป็นที่เดียวที่เราจะใช้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ ไม่ได้โดนคดีนี้เป็นคดีแรก คดีที่เกิดจากการรัฐประหารคดีนี้เป็นคดีที่ 5 มี 4 คดีที่ยกฟ้องไปแล้ว ทุกคดีก็โดนกล่าวหาว่าทุจริต เหลือคดีนี้เป็นคดีสุดท้าย”
เมื่อถามว่า จากคดีที่เกิดขึ้นในศาล จะทำให้มีท่าทีหรือจุดยืนเปลี่ยนไปบ้างหรือไม่ นายวัฒนากล่าวยืนยันว่า เป็นเหมือนเดิม สิ่งหนึ่งที่อยากบอกพี่น้องประชาชนว่าอย่างน้อยที่สุดนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งจะถูกกล่าวหาอย่างไรก็จะได้รับการพิสูจน์ เรียกว่าได้รับการตรวจสอบ ไม่เหมือนนักการเมืองที่มาจากการรัฐประหารตรวจสอบอะไรไม่ได้ การที่ตนมาขึ้นศาลเพื่อพิสูจน์ตัวเอง 4 คดีที่ผ่านมาที่ศาลยกฟ้องแปลว่าตนบริสุทธิ์ คดีนี้เหมือนกันที่ต้องมาสู้ก็มาพิสูจน์ตัวเองในศาล ในขณะที่นักการเมืองที่มาจากรัฐประหารทำความเสียหายให้บ้านเมืองไม่ต้องพิสูจน์นิรโทษกรรมให้ตัวเองหมด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับจำเลยทั้ง 14 ราย ประกอบด้วย นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พม. , นายมานะ วงศ์พิวัฒน์ อดีตบอร์ด กคช. และอดีตประธานอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการระหว่างวันที่ 9 ก.ย.48 – 19 ก.ย.49 , นายพรพรหม วงศ์พิวัฒน์ อดีตผอ.ฝ่ายการเงิน บริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจก่อสร้างที่พักอาศัย , นายอภิชาติหรือเสี่ยเปี๋ยง จันทร์สกุลพร นักธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่ , น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง ลูกน้องคนสนิทเสี่ยเปี๋ยง , น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด , น.ส.รุ่งเรือง ขุนปัญญา พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์ฯ , บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด โดยนายปกรณ์ อัศวีนารักษ์ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน และบริษัท ซิลเวอร์ อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด (เดิมชื่อ บริษัท ไทย เฉน หยู อินเตอร์เนชั่นแนลคอนสตรัคชั่น ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด) โดยนางพิมพ์วรา รัชต์ธนโรจน์ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง หรือกี้ร์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย, บริษัท พาสทิญ่าไทย จำกัด , บริษัท นามแฟทท์ คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบกิจการก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย , บริษัท พรินซิพเทค ไทย จำกัด ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง , น.ส.สุภาวิดา คงสุข กก.ผู้มีอำนาจทำการแทน บริษัท ไทยเฉนหยูฯ

Cr.news1live

สำนักข่าววิหคนิวส์