เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ที่รัฐสภา เกียกกาย นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ อนาคตใหม่ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้รับรองเอกอัครราชทูตและผู้แทนเอกอัครราชทูต อาทิ อังกฤษ นอร์เวย์ สวีเดน โปรตูเกต สเปน และเยอรมนี รวม 9 ประเทศ โดยมีองค์กรระหว่างประเทศ และองค์กรเอ็นจีโอ อาทิ ผู้แทนฝ่ายการเมืองจากสหภาพยุโรป ผู้แทนองค์การสหประชาชาติ ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ เป็นต้น เข้าร่วมแลกเปลี่ยนปัญหาเกี่ยวกับสถานการณ์มนุษยชนภายในประเทศ
โดยนายปิยบุตร ได้โพสต์ในแฟนเพจ Piyabutr Saengkanokkul – ปิยบุตร แสงกนกกุล ภายหลังการหารือ ว่า ผมและสมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ได้รับรองคณะผู้แทนทางการทูตและตัวแทนจากภาคประชาสังคม ที่ให้เกียรติมาพูดคุยแลกเปลี่ยน เนื่องในโอกาสวันยุติโทษประหารชีวิตสากล ซึ่งตรงกับ วันที่ 10 ตุลาคม ของทุกปี
ผมต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติมาร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการยกเลิกโทษประหารชีวิตในประเทศไทยและประเทศต่างๆ ทั่วโลก พร้อมทำความรู้จักกับคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ชุดใหม่ ซึ่งได้เริ่มทำงานมาประมาณ 1 เดือนเท่านั้น
นี่ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่ คณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน จะได้กลับมาทำงานอีกครั้ง หลังจากไม่มีสภาผู้แทนราษฎรมากว่า 5 ปี ซึ่งระหว่าง 5 ปีที่ผ่านมานั้น สถานการณ์ในประเด็น กฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ในประเทศไทยถดถอยลงไปอย่างมาก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่สมาชิกคณะกรรมาธิการทุกท่านต้องเดินหน้าทำงานอย่างเต็มที่
ผมเองเชื่อว่าคณะกรรมาธิการฯ ทุกท่าน เข้ามาทำงานเพราะต่างมีความเชื่อ ในเรื่องความยุติธรรม หลักนิติรัฐ หลักนิติธรรม และสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานร่วมกัน และตั้งใจมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ในประเด็นต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน
ในการประชุมนี้ผู้แทนจากหลากหลายประเทศซึ่งเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้ว (จากประมาณกว่า 150 ประเทศทั่วโลก) อาทิ อังกฤษ คณะผู้แทนสหภาพยุโรป เยอรมนี นอร์เวย์ ฝรั่งเศส สเปน สวิสเซอร์แลนด์ สวีเดน โปรตุเกส ออสเตรเลีย แคนาดา ได้เล่าถึงประวัติศาสตร์ ความพยายาม และการรณรงค์รวมทั้งประสบการณ์ต่างๆ เพื่อนำไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตในแต่ละประเทศว่าดำเนินการอย่างไร รวมทั้งเหตุผลหลากหลายประการและแนวทางการดำเนินงานเพื่อนำไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต
นอกจากนี้ตัวแทนจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและองค์กรภาคประชาสังคม อาทิ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เครือข่ายเพื่อการรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิต คณะกรรมการสากลเพื่อการต่อต้านโทษประหาร สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ก็ได้ร่วมเสนอแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างภาคประชาสังคมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้อกังวลเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม เสนอแนะกลไกการทำงานต่างๆ ของสหประชาชาติที่สามารถนำมาใช้ได้ และความจำเป็นของการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คนในสังคมได้เข้ามาร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนกันถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนต่างๆ
ผมตั้งใจและหวังว่าการประชุมในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการผลักดันให้การพัฒนาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยได้มีพื้นที่มากขึ้นทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและในพื้นที่สาธารณะ การทำงานของคณะกรรมาธิการจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญกับการรับฟังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย รับฟังประสบการณ์การทำงานจากองค์กรต่างๆ และความต้องการจากภาคประชาชน
ในตอนท้ายผมกล่าวปิดประชุมว่า “ปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนในบางประเด็น เช่น การยกเลิกโทษประหารชีวิต อาจเป็นเรื่องที่ยังเป็นที่ถกเถียงกัน (Controversial) และละเอียดอ่อนอยู่ เพราะแต่ละประเทศก็มีประสบการณ์และวัฒนธรรมของตนเอง ผมทราบดีว่าประเทศไทยก็มีวัฒนธรรมของเรา แต่จะทำอย่างไรให้วัฒนธรรมของไทยสอดคล้องกับคุณค่าสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องสิทธิมนุษยชน
วันนี้เราได้รับความรู้และประสบการณ์จากหลากหลายประเทศ ผมได้พิจารณาความคิดของนักวิชาการหลายคนตั้งแต่ Cesare Beccaria จนมาถึง Michel Foucault จาก Napoléon Bonaparte ผ่าน Phillipe Pétain มาจนถึง François Mitterrand ทั้งหมดนี้ มีจุดร่วมกันอยู่ว่าการยกเลิกโทษประหารชีวิตซึ่งเป็นละเอียดอ่อนนี้ จะเกิดขึ้นได้ ต้องประกอบไปด้วยสองปัจจัย 1. เจตจำนงทางการเมือง (Political Will) และ 2. การแลกเปลี่ยนสาธารณะอย่างเสรี เปิดเผย และปลอดภัย ซึ่งสองปัจจัยนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในประเทศที่ปกครองโดยเผด็จการ
วันนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงของการฟื้นฟูประชาธิปไตยกลับมาใหม่อีกครั้ง ภายหลังการครองอำนาจของเผด็จการทหารมา 5 ปี การประชุมวันนี้ จึงเป็นนิมิตหมายที่ดีในการริเริ่มเปิดพื้นที่ให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ ตรงไปตรงมา เพื่อนำไปสู่การหาฉันทามติร่วมกัน ผมขอปิดประชุมในวันนี้ด้วยประโยคของ Robert Badinter รัฐมนตรีผู้ผลักดันการยกเลิกโทษประหารชีวิตได้สำเร็จในฝรั่งเศสว่า “La justice ne peut plus être une justice qui tue” – ” ความยุติธรรมต้องไม่เป็นความยุติธรรมที่ฆ่าคนอีกต่อไป”
Cr.มติชนสุดสัปดาห์
สำนักข่าววิหคนิวส์