29 พ.ค.2565-นายเชาว์ มีขวด ทนายความอาสา อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เซฟบุ๊กเรื่องกระเป๋าป้ายหาเสียง “ชัชชาติ” กับคะแนนกว่า 1.3 ล้านเสียงของคนกรุง ระบุว่า มีสื่อมวลชนโทรศัพท์มาขอสัมภาษณ์ ประเด็นกระเป๋าป้ายหาเสียงของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่เพิ่งได้รับเลือกจากคนกรุงเทพฯไปด้วยคะแนนกว่า 1.3 ล้านเสียงเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากผมเคยได้แสดงความเห็นทางกฎหมายต่อสาธารณะไปตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งว่า เรื่องนี้หมิ่นเหม่ที่จะถูก กกต.แจกใบเหลืองได้ เพราะอาจเข้าข่ายเป็นการ จัดทำให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนน เป็นเหตุให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรมตามมาตรา 108 วรรคสองพ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 โดยกกต.เคยมีคำวินิจฉัยเรื่องทำนองเดียวกันนี้มาแล้ว ในเคสของนายชานุวัฒน์ วรามิตร นายกอบจ.กาฬสินธุ์ เนื่องจากผู้ช่วยหาเสียงไปโพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดีย ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเก็บป้ายหาเสียงของนายชานุวัฒน์ไปใช้ประโยชน์ได้ฟรี โดยขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์
นายเชาว์ ระบุว่า หลายคนตำหนินายศรีสุวรรณ จรรยา ที่นำเรื่องป้ายกระเป๋าของนายชัชชาติไปร้องต่อ กกต. พร้อมระบุว่า หาเรื่องไม่เข้าท่า เขาได้คะแนนมากว่า 1.3 ล้านคะแนน จะไปเอาอะไรกับเขาอีก สมมติว่าผิด เลือกตั้งใหม่เขาก็ชนะกลับมาเข้ามาอีกอยู่ดี ส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยกับความคิดลักษณะนี้ โดยอยากให้แยกเรื่องนี้ออกเป็นสามประเด็นคือ
1. นายศรีสุวรรณ มีสิทธิที่จะร้องในเรื่องที่เห็นว่าอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย ซึ่งกรณีป้ายกระเป๋าหาเสียง ที่สามารถนำกลับไปใช้ได้อีก ไม่ใช่มีแค่ทีมงานของนายชัชชาติเท่านั้นที่จะนำป้ายที่มีแพทเทิร์นกระเป๋านำกลับไปใช้ได้ แต่ประชาชนก็นำกลับไปใช้ได้ด้วย แม้จะมีการมาระบุหลังเลือกตั้งว่าผิดกฎหมายก็ตาม แต่ก่อนหน้านี้ในโพสต์ของนายชัชชาติผ่านทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2565 ข้อความว่า “ทีมงานเพื่อนชัชชาติ ไม่อยากให้ป้ายไวนิลหาเสียงกลายเป็นขยะหลังการเลือกตั้ง เราจึงมีแผนนำกลับมาหมุนเวียน (Recycle) โดยตัดเย็บเป็นกระเป๋าหรือผ้ากันเปื้อน ไว้ใช่ต่อกันเองในทีม ป้ายใหม่ที่กำลังติดตั้งเพิ่มจะมีลาย Pattern ตัดเย็บให้เห็นลาง ๆ ลองตามหากันดูนะครับ” (ตามลิงก์ที่แนบ) https://mobile.twitter.com/chadchart_trip/status/1512422813994713094
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ on Twitter: “ทีมงานเพื่อนชัชชาติไม่อยากให้ไวนิลป้ายหาเสียงกลายเป็นขยะหลังการเลือกตั้ง เราจึงมีแผนนำกลับมาหมุนเวียน (Recycle) โดยตัดเย็บเป็นกระเป๋าหรือเป็นผ้ากันเปื้อน ไว้ใช้ต่อกันเองในทีม ป้ายใหม่ที่กำลังติดตั้งเพิ่มจะมีลาย Pattern ตัดเย็บให้เห็นลางๆ ลองตามหากันดูนะครับ #ชัชชาติ #ชัช8าติ https://t.co/h86OU5bmvr” / Twitter
“ทีมงานเพื่อนชัชชาติไม่อยากให้ไวนิลป้ายหาเสียงกลายเป็นขยะหลังการเลือกตั้ง เราจึงมีแผนนำกลับมาหมุนเวียน (Recycle) โดยตัดเย็บเป็นกระเป๋าหรือ …mobile.twitter.com
คำว่า ป้ายใหม่ที่กำลังติดตั้งเพิ่มจะมีลาย Pattern ตัดเย็บให้เห็นลาง ๆ ลองตามหากันดูนะครับ เป็นการชี้ชวนหรือไม่ กกต.จะต้องพิจารณา เพราะหลังเลือกตั้งจะเห็นภาพคนกรุงเทพฯจำนวนหนึ่งเก็บป้ายหาเสียงนายชัชชาติไปทำกระเป๋ากันอย่างคึกคักเลยทีเดียว
2. นายชัชชาติได้คะแนนเสียงจากคนกรุงเทพฯมากกว่า 1.3 ล้านเสียง จะไปหาเรื่องเขาทำไม อันนี้ยิ่งไม่ถูกใหญ่ คะแนนเสียงคือความนิยม ซึ่งต้องแยกจากพฤติกรรม หากมีการทำผิดกฎหมายเกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะมีคะแนนนิยมมากเท่าไหร่ ก็มิอาจลบล้างความผิดนั้นได้ และองค์กรที่มีหน้าที่ชี้ถูกผิด ต้องไม่หวั่นไหวกับสิ่งเหล่านี้ แต่ต้องดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ขอยกตัวอย่างที่น่าจะทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นคือ ในยุคของนายทักษิณ ชินวัตร ที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรี หอบเอาคะแนนเสียงกว่า 11 ล้านคะแนนทั่วประเทศมาด้วย ซึ่งในขณะนั้นมีคดีที่ค้างการพิจารณาอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ คือกรณีซุกหุ้นอันลือลั่น พร้อมวลี “บกพร่องโดยสุจริต” ก็มีการนำคะแนนนิยมที่ได้มาสร้างกระแสกดดันศาลรัฐธรรมนูญ สุดท้ายนายทักษิณ รอดพ้นคดีด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 7 เมื่อวัดนที่ 3 สิงหาคม 2544 โดยมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคน ใช้เรื่องคะแนนนิยมดังกล่าวมาเป็นเหตุผลในการตัดสินคดีด้วยในที่นี้ตนขออนุญาตหยิบยกคำวินิจฉัยส่วนตนของท่านประเสริฐ นาสกุล อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญผู้ล่วงลับ ท่านให้หลักไว้อย่างดีมากในตอนท้ายของคำวินิจฉัย ความว่า
“…เมื่อผู้ร้องกล่าวหาผู้ถูกร้องว่า จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ มีข่าวที่ค่อยๆเบี่ยงเบนประเด็นที่ผู้ถูกร้องถูกกล่าวหาทีละน้อย ๆ และเป็นระยะ ๆ ว่า ผู้ถูกร้องประกอบธุรกิจจนร่ำรวยด้วยน้ำพักน้ำแรง ไม่มีการทุจริต ผิดกฎหมาย ผู้ถูกร้องเป็นคนแรกที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินให้ประชาชนทราบ ในขณะที่ยังไม่มีกฎหมายบังคับ ผู้ถูกร้องสมัครใจยื่นรายการทรัพย์ สินและหนี้สินเพิ่มเติมเอง หากศาลเห็นว่า ผู้ถูกร้องกระทำผิดก็เป็นการทำผิดโดยสุจริต ควรใช้หลักรัฐศาสตร์ชะลอการตัดสินคดี หรือยกโทษให้ผู้ถูกร้อง ไม่ควรลงโทษผู้ถูกร้องซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน 10 กว่า ล้านคน เพื่อให้โอกาสผู้ถูกร้องบริหารประเทศต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพราะไม่มีใครดีกว่าผู้ถูกร้อง ประเทศไทยขาดผู้ถูกร้องไม่ได้ซึ่งไม่มีบทบัญญัติให้ศาลกระทำได้ และเมื่อใกล้จะถึงวันที่ศาลลงมติ มีข่าวหนาหูขึ้นว่า ฝ่ายผู้สนับสนุนผู้ถูกร้องจะชุมนุมกันเพื่อกดดันศาล จะวางเพลิงเผาศาล ตลอดจนจะทำร้ายตุลาการบางคน จนกระทั่งมีการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปให้ความคุ้มครอง ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินไปอย่างน่าเสียดาย เป็นต้น ข่าวต่างๆ ดังที่กล่าวมานี้เกิดขึ้นได้อย่างไร หากมิใช่เป็น การแสดง “ความเห็นแก่ตัว” ของคน”
3. เลือกตั้งใหม่ นายชัชชาติก็กลับมาอยู่ดี จะร้องไปทำไมให้เสียเวลา สิ้นเปลืองงบประมาณด้วยหากจะต้องมีการเลือกตั้งกันใหม่ อันนี้ผมยิ่งไม่เห็นด้วย เพราะสังคมไทยต้องจรรโลงไว้ซึ่งศีลธรรม และกฎหมาย ผิดว่าไปตามผิด ถูกว่าไปตามถูก สังคมจึงจะอยู่ได้อย่างสงบสุข ถ้าเราจะกดจริยธรรม มองข้ามกฎหมายไป เพียงเพราะใครคนหนึ่งได้รับความนิยมจากประชาชน หลักกฎหมายจะค้ำยันบ้านเมืองต่อไปได้อย่างไร และที่กล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า ตัดสินไปเองแล้วนายชัชชาติ ผิด เพียงแต่ชี้ว่าทุกอย่างต้องเป็นไปตามกติกา คำวินิจฉัยของ กกต.ต้องอธิบายเหตุผลได้ บนหลักกฎหมาย ไม่ใช่เบี่ยงเบนไปเพราะกระแสกดดัน