ข่าวประจำวัน » อาชญากรรม » #ฎีกาพิพากษายึดทรัพย์ยกครัว’หมอโด่ง’จำเลยจีทูจีข้าว มูลค่าเกือบ 900 ล้านตกเป็นของแผ่นดิน

#ฎีกาพิพากษายึดทรัพย์ยกครัว’หมอโด่ง’จำเลยจีทูจีข้าว มูลค่าเกือบ 900 ล้านตกเป็นของแผ่นดิน

18 May 2019
2145   0

17 พ.ค.62 – ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีริบทรัพย์คดีหมายเลขดำ อม. 282/2560 พร้อมองค์คณะผู้พิพากษารวม 9 คน ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษา คดีที่อัยการสูงสุด ยื่นคำร้องให้ศาลพิพากษาให้ทรัพย์สินของ พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ หรือหมอโด่ง จำเลยร่วมคดีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ซึ่งเป็นอดีตเลขานุการของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ จำนวน 896,554,760.28 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน

คดีนี้สืบเนื่องจากอัยการสูงสุด ผู้ร้อง ได้ยื่นคำร้องว่า พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ ผู้ถูกกล่าวหา เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและข้าราชการการเมืองอื่นตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ 2542 มาตรา 4, 66 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการของนายภูมิ สาระผล รมว.พาณิชย์ เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2554 และพ้นจากตำแหน่งวันที่ 18 ม.ค. 2555 ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ (ขณะนั้น) เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2555 และพ้นจากตำแหน่งวันที่ 30 มิ.ย. 2556

โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2558 ชี้มูลความผิด พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ ผู้ถูกกล่าวหาว่า ร่วมกับนายบุญทรง อดีต รมว.พาณิชย์ กับพวกรวม 113 คน ทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกและการระบายข้าวอันเป็นความผิด ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ. ศ.2542, พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และร่วมกันสนับสนุนกับนายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ กับพวกรวม 5 คนกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 ประกอบมาตรา 86, พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542

โดยเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2558 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่า กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ ผู้ถูกกล่าวหา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งทางการเมืองดังกล่าวนั้น ร่ำรวยผิดปกติ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 66, 75 วรรคสอง, 77 จึงให้แต่งตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ซึ่งอนุกรรมการไต่สวนแล้ว ก็ปรากฏหลักฐานว่า ระหว่างที่ พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ ผู้ถูกกล่าวหา เป็นผู้ช่วยเลขานุการของนายภูมิ รมช.พาณิชย์ และขณะเป็นเลขานุการของายบุญทรง รมว.พาณิชย์ ได้มีทรัพย์สินเป็นเงินฝากธนาคาร, เงินลงทุนในหลักทรัพย์, ที่ดินสิ่งปลูกสร้าง และยานพาหนะ มูลค่ามากเกินกว่าฐานะและรายได้ที่ พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ ผู้ถูกกล่าวหาแจ้งต่อกรมสรรพากร และมากกว่ารายได้ที่แสดงในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นต่อ คณะกรรมการ ป.ป.ช. โดย พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ ผู้ถูกกล่าวหา ยักย้าย ถ่ายเท ซุกซ่อนนำทรัพย์สินของตน มอบให้บุคคลใกล้ชิดรวม 6 คน ครอบครองแทน ได้แก่ 1.นางชฏิมา วัจนะพุกกะ อดีตภรรยา 2.น.ส.อรชุมา วัจนะพุกกะบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ 3. พล.ต.ต.วีระวัฒน์ วัจนะพุกกะ บิดาของผู้ถูกกล่าวหา 4.นางอรณี วัจนะพุกกะ มารดาของผู้ถูกกล่าวหา 5.นายสมาน ญาติมิ บิดาอดีตภรรยา 6.น.ส.ชุตินันท์ ญาติมิ หลานของอดีตภรรยา

โดยอนุกรรมการไต่สวนชั้น ป.ป.ช. ให้ผู้ถูกกล่าวหากับบุคคลดังกล่าวเข้าชี้แจง แต่ผู้ถูกกล่าวหาและบุคคลที่มีชื่อถือครองทรัพย์ฯ ไม่ชี้แจงเหตุผลใด ยกเว้นเพียง น.ส.ชุตินันท์ ที่ได้ชี้แจง แต่อนุกรรมการไต่สวน ก็เห็นว่าคำชี้แจงนั้นไม่อาจรับฟังได้ ต่อมาวันที่ 2 พ.ย. 2560 คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติเห็นชอบตามความเห็นของอนุกรรมการไต่สวนว่า พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ

ร่ำรวยผิดปกติโดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควรสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ รวมมูลค่า 896,554,760.28 บาท และ อัยการสูงสุดได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯ พิพากษาให้ทรัพย์สินดังกล่าวของ พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ ผู้ถูกกล่าวหาพร้อมดอกผลนั้นตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งหากไม่สามารถบังคับคดีเอาทรัพย์สินดังกล่าวได้ทั้งหมดหรือได้แต่แค่บางส่วน ก็ขอให้บังคับเอากับทรัพย์สินอื่นของ พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ ผู้ถูกกล่าวหา ภายในอายุความ 10 ปี ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 83

ศาลฎีกาฯ ได้ประกาศคำร้องของอัยการสูงสุดในคดีริบทรัพย์นี้ในที่เปิดเผยแล้ว พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ ผู้ถูกกล่าวหา และผู้มีชื่อครอบครองทรัพย์สินนั้นไม่ยื่นคำคัดค้าน และไม่ประสงค์คัดค้านคำร้อง

ซึ่งวันนี้ฝ่ายอัยการสูงสุด มีผู้แทนมาร่วมฟังคำพิพากษา ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาและครอบครัวไม่มีใครมาศาล คงมีเพียงทนายความรับมอบอำนาจมาฟังคำสั่งศาลเท่านั้น

ศาลฎีกาฯ พิเคราะห์พยานหลักฐานตามคำร้องของอัยการสูงสุด และตามทางไต่สวนประกอบรายงานของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว เห็นว่าบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินที่ พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ ผู้ถูกกล่าวหา ยื่นไว้ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ขณะดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการ รมว.พาณิชย์ และเลขานุการ รมว.พาณิชย์ ประกอบด้วยที่ดิน, รถยนต์, หลักทรัพย์ และบัญชีเงินฝากธนาคารต่างๆ ของ พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ ผู้ถูกกล่าวหา, ญาติและคนสนิทของผู้ถูกกล่าวหา มีมูลค่าสูงไม่สอดคล้องกับรายได้ที่มีอยู่ ซึ่งบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้เป็นภาระของ พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ ผู้ถูกกล่าวหา ต้องพิสูจน์ว่าทรัพย์สินที่ได้มานั้นเป็นทรัพย์สินที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หรือไม่มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ แต่ พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาพิสูจน์ ศาลจึงฟังพยานของอัยการสูงสุด ผู้ร้อง และหลักฐานของ ป.ป.ช. เห็นว่า ทรัพย์สินทุกรายการตามฟ้องเป็นทรัพย์สินของ พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ ซึ่งได้มาจากพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติตามหลักฐานของคณะกรรมการ ป.ป.ช.รวบรวมมา

พิพากษาว่า ทรัพย์สินตามคำร้องนั้น เป็นทรัพย์สินที่ พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ ผู้ถูกกล่าวหามีเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติ จึงให้ทรัพย์สินดังกล่าวรวมมูลค่า 896,554,760.28 บาท พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน หากไม่อาจบังคับคดีเอาทรัพย์สินตามที่วินิจฉัยมาข้างต้นได้ทั้งหมดหรือได้แต่บางส่วน ให้บังคับคดีเอาทรัพย์สินอื่นของผู้ถูกกล่าวหาได้ภายในอายุความ 10 ปี แต่ต้องไม่เกินมูลค่าของทรัพย์สินที่ศาลสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดิน ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 38, 80 ประกอบมาตรา 83

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับทรัพย์สินที่ศาลให้ตกเป็นของแผ่นดิน ประกอบด้วย 1.บัญชีเงินฝากธนาคารชื่อ พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ ผู้ถูกกล่าวหา79,389,106.02 บาท

2.บัญชีเงินฝากชื่อ นางชุฏิมา อดีตภรรยา 367,313,172 บาทเศษ

3.บัญชีเงินฝากชื่อ น.ส.อรชุมา บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ 41,607,000 บาท

4.บัญชีเงินฝากชื่อนางอรณี มารดาผู้ถูกกล่าวหา 357,555,747 บาทเศษ

5.บัญชีเงินฝากชื่อ พล.ต.ต.วีระวัฒน์ บิดาผู้ถูกกล่าวหา 43,388,526.50 บาท

6.บัญชีเงินฝากชื่อนายสมาน ญาติมิ บิดาของอดีตภรรยา 5,901,267.90 บาท

7.บัญชีเงินฝากชื่อ น.ส.ชุตินันท์ หลานของอดีตภรรยา มูลค่า 1.4 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับ พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ หรือหมอโด่งนั้น ก็ตกเป็นจำเลยร่วมคดีกับนายบุญทรง ทุจริตระบายข้าวแบบจีทูจีด้วย แต่ระหว่างดำเนินคดี พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ ได้หลบหนีไป ซึ่งศาลฎีกาฯ ได้ออกหมายจับให้ติดตามกลับมาดำเนินคดีไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้ตัวมา กระทั่งเมื่อมีการแก้ไขกฎหมายใหม่ (วิ อม.) ให้ศาลพิจารณาคดีโดยไม่มีตัวจำเลยได้ อัยการสูงสุดจึงได้ยื่นคำร้องขอให้นำคดีอาญาในส่วนของหมอโด่งนั้นขึ้นมาพิจารณาใหม่โดยไม่มีตัวจำเลย ซึ่งขณะนี้คดีอาญานั้น อยู่ระหว่างการไต่สวนพยานของศาลฎีกาฯ

Cr.thaipost

สำนักข่าววิหคนิวส์