‘
ณัฐวุฒิ’ แนะ ‘ธรรมนัส’ ต้องยกมือไม่ไว้วางใจ รบ. คนถึงยอมรับเป็นฝ่ายค้าน ไม่ใช่ปากด่าแต่โหวตให้ – ‘เพื่อไทย’ ลั่นจัดหนัก ‘ประยุทธ์’ บริหารไม่โปร่งใสเอื้อพวกพ้อง แนะพรรคร่วม รบ. ฟังข้อมูลก่อนตัดสินใจ หากไม่อยากแพ้ในสนามเลือกตั้ง – ‘ก้าวไกล’ ระบุฝ่ายค้านไม่เคยหารือแบ่งเวลาให้ ‘เศรษฐกิจไทย’ อภิปราย เพราะวางแผนและจัดคิวการอภิปรายไว้ลงตัวหมดแล้ว – รองหัวหน้า ‘ประชาธิปัตย์’ ชี้สถานการณ์เปราะบาง อภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ประมาทไม่ได้
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย | แฟ้มภาพ
16 ก.ค. 2565 มติชนออนไลน์ รายงานว่านายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กับมติชนทีวี ถึง ส.ส.ฝ่ายค้านบางส่วนยังไม่เชื่อ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย จะมาเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างที่ได้ประกาศ ว่า แม้การส่งสัญญาณจะมาเป็นฝ่ายค้าน ถึงขั้นจะขอร่วมอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลด้วย ส่วนตัวไม่รู้ว่าวิปฝ่ายค้านจะว่าอย่างไร เพราะตามข่าวเตรียมการกันไปไกล แต่อย่างน้อยถ้าไม่ได้อภิปรายการโหวตลงมติต้องชัดเจนตรงไปตรงมาให้สังคมสิ้นสงสัย เพราะที่ผ่านมาหลายครั้ง อย่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบที่แล้ว โหมโรงฟอร์มร้องแรง แต่พอหงายไพ่มาโหวตให้รัฐบาล วันนี้ประชาชนเลยไม่เชื่อ ในแวดวงการเมืองไม่มีใครมั่นใจ ดังนั้น ร.อ.ธรรมนัส ต้องสร้างความชัดเจนตามคำที่พูดให้ได้จริงๆ สักครั้งเสียก่อน ถึงจะค่อยมาดูว่า จะซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เสียหายอย่างไรจากผลการเลือกตั้งที่ลำปาง
เมื่อถามว่า ร.อ.ธรรมนัส ประกาศเป้าหมายที่ พล.อ.ประยุทธ์ เหมือนฝ่ายค้าน แต่สำหรับพล.อ.ประวิตร ยังเคารพถึงขั้นต้องไปกราบลา นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า การไปลามาไหว้สังคมไทยเข้าใจกันได้ แต่ปากด่าแล้วยกมือให้ มันเป็นสิ่งที่เข้าใจไม่ได้ ดังนั้น การปฏิบัติว่าไม่ยอมรับ พล.อ.ประยุทธ์ ให้อยู่ในอำนาจอีกต่อไปต้องมีน้ำหนักสมบูรณ์ โดย ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย ทั้ง 16 คน 16 แต้ม ต้องเป็นเอกฉันท์ เกมศูนย์ คือไม่ไว้วางใจพล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล แล้วถ้าจะให้แข็งแรงขึ้นไปอีก กลุ่ม 16 พรรคเล็ก ที่ ร.อ.ธรรมนัส พูดมาตั้งแต่ต้นๆ ของรัฐบาลว่าเป็นคนให้กล้วย ก็ควรจะมาบวกกันให้ได้ 32 แต้มในการยกมือไม่ไว้วางใจคราวนี้ แบบนี้ถึงจะกอบกู้ความเชื่อมั่นขึ้นมาใหม่ได้ แต่ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วลำบากแน่ แต่ดูอาการแล้วเชื่อว่า จะไม่ครบ 32 เพราะจะตกหล่นขาดหายแน่นอน ส่วน ร.อ.ธรรมนัสจะรักษาเอาไว้ได้เท่าไหร่ ก็คงต้องรอดูกันในวันลงมติ ที่สำคัญวันนั้นจะทำให้เราได้เห็นสภาพทางการเมืองของ ร.อ.ธรรมนัสด้วยว่า มีน้ำหนักเท่าไหร่
‘เพื่อไทย’ ลั่นจัดหนัก ‘ประยุทธ์’ บริหารไม่โปร่งใสเอื้อพวกพ้อง แนะพรรคร่วม รบ. ฟังข้อมูลก่อนตัดสินใจ หากไม่อยากแพ้ในสนามเลือกตั้ง
ทีมสื่อพรรคเพื่อไทยแจ้งต่อสื่อมวลชนว่านายสมคิด เชื้อคง ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือ วิปฝ่ายค้าน เปิดเผยว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตามมาตรา 151 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 ถือเป็นครั้งสุดท้าย ที่จะมีการลงมติ พรรคร่วมฝ่ายค้านทุกพรรคเก็บข้อมูลทำงานอย่างเต็มกำลัง ซึ่งการอภิปรายครั้งนี้เชื่อว่าประชาชนจะได้รับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างเต็มที่ การอภิปรายครั้งนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องตอบเพราะพี่น้องประชาชนจับตาดูอยู่
ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่าอาจมีงูเห่าเพิ่มขึ้น เชื่อว่าไม่น่าจะมีแล้ว เพราะประชาชนคงไม่ยอมแล้ว ที่ไปแล้วก็ไม่ว่ากันส่วนที่ยังอยู่ก็ต้องสู้กันต่อไป ส่วนพรรคเศรษฐกิจไทยที่ตัดสินใจร่วมฝ่ายค้านจะเป็นพลังที่จะช่วยให้ฝ่ายค้านได้คะแนนเพิ่มขึ้นทั้งนี้ส่งสัญญาณไปยังพรรคร่วมรัฐบาล หากฟังคำอภิปรายแล้วมีการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งไม่แน่ว่ารัฐบาลจะรอดหรือไม่ เพราะอยู่ที่การอภิปรายของฝ่ายค้าน เชื่อว่าเป็นช่วงปลายรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องระวังตัวเอง เพราะต้องไปตอบคำถามประชาชนในสนามเลือกตั้ง ถ้ายังเข้าข้างรัฐบาลอย่างไม่มีเหตุผล พรรคการเมืองนั้นก็เตรียมตัวตายในสนามเลือกตั้ง
นายสมคิด กล่าวด้วยว่า การอภิปรายจะมุ่งเน้นไปที่ความล้มเหลวของรัฐบาล ที่ผ่านมาทั้งหมด เพราะรับปากประชาชนแล้วทำไม่ได้ นอกจากนี้ 4 ปีที่ผ่านมารัฐบาลล้มเหลวไม่สามารถแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนได้เลย อีกทั้งการบริหารประเทศมีความไม่โปร่งใส การทำงานของรัฐบาลให้การช่วย เหลือพรรคพวกมาตลอด ซึ่งอยากให้ประชาชนรอฟังการอภิปรายของฝ่ายค้าน
“นอกจากนี้ไม่ประหลาดในการที่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ใช้พื้นที่กองทัพเป็นสถานที่ต่อรองทางการเมือง เพราะทำมาตลอด และที่มาของรัฐบาลมาจากคสช. ดังนั้นจึงให้ความสำคัญกับฝ่ายทหารมากกว่าประชาชน เห็นได้จาก สมาชิก ส.ว.ส่วนใหญ่ เป็นทหาร ตำรวจ เป็นข้าราชการเกษียณ ไม่ต่างจากพรรคข้าราชการในสภา หากจะให้ทหารออกจากการเมืองคงยาก ทั้งนี้รัฐบาลสามารถครอบงำเสียงในสภาได้ สามารถสั่งได้ตามใจ ดังนั้นหากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลพร้อมที่จะตั้งส.ส.ร.ขึ้นมา เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ให้ประเทศไทยหลุดจากกับดักรัฐธรรมนูญปี 2560 เพื่อเริ่มตั้งต้นกันใหม่ หากไม่แก้ตรงนี้ประเทศเดินหน้าไม่ได้แน่” นายสมคิด กล่าว
‘ก้าวไกล’ ระบุพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่เคยหารือเรื่องเวลาแบ่งให้ ‘เศรษฐกิจไทย’ อภิปราย เพราะมีการวางแผนและจัดคิวการอภิปรายไว้ลงตัวหมดแล้ว
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่านายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะวิปพรรค กล่าวถึงการเตรียมตัวอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 19-23 ก.ค. 2565 ว่า พรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้แบ่งเวลา และวางคิวผู้อภิปรายไว้เรียบร้อยแล้ว สำหรับพรรคก้าวไกล ได้เตรียมผู้อภิปรายอย่างน้อย 14 คน รวมทั้งยังเตรียมพร้อมเรื่องข้อมูลเป็นอย่างดี โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค จะเป็นผู้นำในครั้งนี้ และจะอภิปรายเป็นคนสุดท้ายของพรรค
“สุดท้ายแม้มือในสภาฯ จะไม่เพียงพอที่จะทำให้ล้มรัฐบาล หรือล้ม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ แต่ก็จะทำให้สังคมได้เห็นถึงหลักฐานหลายอย่าง ซึ่งเราไม่สามารถบอกรายละเอียดตอนนี้ได้ และไม่สามารถระบุว่าผู้อภิปรายจะเป็นใครบ้าง จึงอยากให้พี่น้องประชาชนติดตามการอภิปราย” นายพิจารณ์ กล่าว
เมื่อถามถึงการวางคิวอภิปราย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เป็นคนแรก และปิดท้ายด้วย 3 ป. จะเป็นการอภิปรายในประเด็นใด นายพิจารณ์ กล่าวว่า ขออนุญาตไม่ลงในรายละเอียดว่าเป็นประเด็นใด แต่ก็ดูได้จากหน้าที่ความรับผิดชอบของนายอนุทิน และกลุ่ม 3 ป.
เมื่อถามว่า พรรคร่วมฝ่ายค้าน จะแบ่งเวลาให้พรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) ร่วมอภิปรายหรือไม่ นายพิจารณ์ กล่าวว่า การที่พรรคร่วมฝ่ายค้านขอเวลาจากรัฐบาลนั้น เกิดจากการรวบรวมความต้องการของแต่ละพรรคว่าต้องการเวลาเท่าใด ถ้าจะให้เวลา ก็ต้องแบ่งเวลาจากแต่ละพรรคการเมือง ดังนั้น จึงไม่มั่นใจว่าจะมีเวลาให้พรรค ศท. หรือไม่
วันเดียวกัน นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมตัวอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า พรรคก้าวไกลจะพุ่งเป้าอภิปรายรัฐมนตรีจากกลุ่ม 3 ป. และ 2 พรรคร่วมรัฐบาล โดยในวันที่ 19 ก.ค. จะจัดหนักพรรคภูมิใจไทย (ภท.) คนแรก คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรค ภท. เกี่ยวกับเรื่องกัญชา และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะเลขาธิการพรรค ภท. เรื่องพฤติกรรมการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ลำดับต่อไปที่ล็อกเป้าคือ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองหัวหน้าพรรค ปชป.
“สำหรับรัฐมนตรี กลุ่ม 3 ป. จะมีประเด็นหลายเรื่องหลากมิติ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะเกี่ยวกับเรื่องภายในกองทัพ วงการตำรวจ ความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน และการเป็นภัยต่อความมั่นคงต่อประชาชน โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค จะเป็นแกนนำหลักในการอภิปราย และอภิปรายเป็นคนสุดท้ายของพรรค ในส่วน พล.อ.ประยุทธ์ รับรองว่ามีเรื่องและประเด็นให้น่าสนใจทุกวัน จึงอยากให้พี่น้องประชาชนเฝ้าติดตามพรรคก้าวไกลจะทำงานอย่างเต็มที่” นายชัยธวัช กล่าว
เมื่อถามว่า พรรคร่วมฝ่ายค้าน จะแบ่งเวลาให้พรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) ร่วมอภิปรายหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่เคยหารือกันเรื่องนี้ และคิดว่าในวันที่ 18 ก.ค. 2565 จะไม่มีการพูดคุยกันเรื่องนี้ด้วย เพราะทุกอย่างถูกวางแผน และจัดคิวการอภิปรายไว้ลงตัวหมดแล้ว
‘นิโรธ’ ชี้ ‘เศรษฐกิจไทย’ ดีเอ็นเอคือรัฐบาลเป็นฝ่ายค้านไม่ได้ ชี้ 11 รมต. โหวตผ่านฉลุย แต่เสียงไม่เท่ากัน เผย ‘ไผ่’ รับปากช่วยรัฐบาลโหวตเรื่องสำคัญ
ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่านายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ถึงการเคลื่อนไหวของพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) และกลุ่ม 16 ขู่โหวตล้มรัฐมนตรีบางคน มองว่ามีนัยยะทางการเมืองอะไรหรือไม่ ว่า ตนไม่ขอแสดงความเห็นต่อ พรรค ศท. ส่วนกลุ่ม 16 นั้นแถลงว่าจะยังอยู่ร่วมรัฐบาล และเห็นว่าไปร่วมงานวันเกิดของนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ส.ส.ชลบุรี และผู้อำนายการพรรค พปชร. ที่จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา และนายสุชาติ ก็บอกว่าไม่มีปัญหาอะไร
เมื่อถามว่า จะสามารถคุมเสียงในสภาผู้แทนราษฎรให้โหวตผ่านรัฐมนตรีทั้ง 11 คนหรือไม่ นายนิโรธ กล่าวว่า ผ่านหมด และเชื่อมั่นว่าเสียงโหวตจะเกินครึ่งทุกคน แต่ไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขว่ามีเสียงเท่าใดได้ ทั้งนี้ รัฐมนตรีแต่ละคนคงได้คะแนนไม่เท่ากันทุกคน เพราะคะแนนเป็นไปตามธรรมชาติ
เมื่อถามถึง ท่าทีของพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่เปิดโอกาสให้พรรค ศท. ร่วมอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย นายนิโรธ กล่าวว่า พรรค พท. คงได้รับสัญญาณอะไรบางอย่าง ทั้งที่ทีแรกยังออกมาตีกันอยู่เลย ถึงกับปรามาสว่าเป็นเห็บเป็นเหา ตนคิดว่า ดีเอ็นเอของพรรค ศท. ไม่ใช่ฝ่ายค้าน แต่เป็นฝ่ายรัฐบาล เพราะแยกมาจากพรรค พปชร. เนื้อแท้เป็นรัฐบาล การจะไปทำหน้าที่ฝ่ายค้าน ดีเอ็นเอเรียงกันไม่ได้ เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ไม่ไว้ใจให้พรรค ศท. ร่วมอภิปรายด้วย เพราะยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรค พปชร. นั้น นายนิโรธ กล่าวว่า ตนจึงบอกว่าพรรค ศท. มีดีเอ็นเอต่างกับฝ่ายค้าน
เมื่อถามว่า จะพูดคุยกับพรรค ศท. เพื่อให้ช่วยโหวตหรือไม่ นายนิโรธ กล่าวว่า ตอนที่นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร เลขาธิการพรรค ศท. ลาออกจากวิปรัฐบาล ได้โทรหาตน และบอกว่าจะขอออกไปทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติอย่างสบายใจ เพราะบางครั้งต้องโหวตไปตามเสียงสนับสนุนของคนในพื้นที่ภาคเหนือที่มีการผลิตสุราพื้นบ้านเยอะ โดยโหวตผ่านกฎหมายสุราก้าวหน้า ตรงข้ามกับมติวิปรัฐบาล นอกจากนี้ นายไผ่ ยังบอกกับตนว่าหากมีอะไรจำเป็นและสำคัญให้โทรประสาน รวมถึงการโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย ซึ่งก็คงจะทำเป็นครั้งๆ แต่ต้องรอดูท่าทีพรรค ศท. ก่อนการโหวตในวันที่ 23 ก.ค.นี้ ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด
รองหัวหน้า ปชป. ชี้สถานการณ์เปราะบาง อภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ประมาทไม่ได้
เว็บไซต์บ้านเมือง รายงานว่านายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ เขียนในเฟสบุ๊กระบุว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีก 10 คน ระหว่างวันที่ 19-22 ก.ค. โดยจะลงมติวันที่ 23 ก.ค. นี้ถือเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งที่4และครั้งสุดท้ายของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ซึ่งรัฐบาลจะประมาทไม่ได้เนื่องจากปัญหาเสียงสนับสนุนรัฐบาลลดลงจากกรณีพรรคเศรษฐกิจไทยและเสียงสนับสนุนจากกลุ่มพรรคเล็กที่เป็นตัวแปรสำคัญยังไม่นิ่งเป็นสถานการณ์ที่เปราะบางมากกว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจทุกครั้งที่ผ่านมา
ในขณะที่กระแสทางการเมืองในปัจจุบันเอื้อต่อฝ่ายค้านใน 2 เรื่อง 1.ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่และสงครามรัสเซีย-ยูเครน 2.กระแสพรรคฝ่ายค้านดีขึ้นจากชัยชนะต่อเนื่องในการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.และการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ลำปางเขต4
ดังนั้น รัฐบาลต้องผนึกเสียง 6 พรรคร่วมรัฐบาลให้เป็นเอกภาพมากที่สุดและแสวงหาเสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้นจากกลุ่มพรรคเล็กและส.ส.ในพรรคอื่นที่ต้องการสนับสนุนรัฐบาลหรือมีเจตนาจะย้ายสังกัดมาอยู่พรรคร่วมรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งหน้าก็จะสามารถฝ่าด่านการอภิปรายครั้งนี้ไปได้
“การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้เป็นโอกาสการทำหน้าที่อภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นครั้งสุดท้ายของพรรคร่วมฝ่ายค้านจึงจะทุ่มเททุกสรรพกำลังในการซักฟอกครั้งนี้โดยมุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลังการอภิปรายและสร้างบาดแผลให้กับผู้นำรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลให้มากที่สุดและลึกที่สุดโดยเฉพาะประเด็นเศรษฐกิจปากท้องและปมทุจริตเพื่อให้มีผลไปถึงการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้าเมื่อสิ้นวาระของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้หรือการเลือกตั้งในปีนี้หากมีการยุบสภาภายหลังการประชุมเอเปค
ด้วยเหตุนี้นายกรัฐมนตรีและ 10 รัฐมนตรีที่ถูกซักฟอกพึงใช้วิกฤติเป็นโอกาสโดยชี้แจงข้อกล่าวหาให้ชัดเจนกระชับตรงประเด็นพร้อมนำเสนอผลงานของรัฐบาลและรัฐมนตรีแต่ละคนประกอบการชี้แจง ประการสำคัญต้องทำตัวเหมือนผีดิบคือต้องไร้ความรู้สึกไร้อารมณ์และหลีกเลี่ยงการตอบโต้เพราะจะทำให้เสียสมาธิและสูญเสียเวลาโดยไม่จำเป็นในการชี้แจงทำความเข้าใจต่อสภาผู้แทนราษฏร”
นัดประชุม ส.ส.วันจันทร์นี้ เตรียมพร้อมศึกซักฟอกในสภา
สำนักข่าวไทย รายงานว่านายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคและประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านว่า ตนได้เรียกประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในวันจันทร์ที่ 18 ก.ค.นี้ เวลา 13.30 น. เพื่อพิจารณาญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 19-22 ก.ค. และจะมีการลงมติในวันที่ 23 ก.ค.นี้
การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นการทำหน้าที่ตามปกติของฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลว่ามีการกระทำใดๆ ที่เข้าข่ายทุจริต ทำผิดกฎหมาย และมีการบริหารราชการแผ่นดินที่ขาดตกบกพร่องหรือไม่อย่างไร ซึ่งรัฐบาลก็มีหน้าที่ต้องชี้แจงแสดงเหตุผลว่า การทำงานของรัฐบาลเป็นไปอย่างที่ฝ่ายค้านอภิปรายหรือไม่ ถือเป็นความสวยงามของประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา
ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ มีรัฐมนตรีถูกอภิปราย 3 ท่าน คือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเมื่อดูจากเนื้อหาในญัตติที่จะอภิปรายทั้ง 3 ท่าน ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานในหน้าที่ที่รับผิดชอบ ซึ่งตนเชื่อว่า รัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ที่ถูกอภิปราย สามารถชี้แจงแสดงเหตุผลให้ ส.ส.ในสภาฯ เข้าใจได้ ไม่น่ามีปัญหาอะไร ส่วนที่ฝ่ายค้านจะนำเรื่องเก่าที่เคยอภิปรายไปแล้วมาอภิปรายอีก ก็สามารถทำได้ คงอยู่ที่ดุลพินิจของฝ่ายค้านที่จะพิจารณา
สำหรับเรื่องการลงมติในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ขณะที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองย้ายขั้วสลับข้างของหลายพรรคการเมือง จะส่งผลกระทบอะไรกับรัฐบาลหรือไม่นั้น นายองอาจ กล่าวว่า การลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจครั้งนี้ไม่น่าส่งผลกระทบอะไรต่อรัฐบาล เชื่อว่าเสียงของ ส.ส.ซีกรัฐบาลในสภาฯ จะทำให้การลงมติในสภาฯ ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้มีการกำชับอะไรกันเป็นพิเศษในการลงมติ คงจะมีการพูดคุยแสดงความคิดเห็นกันในการประชุม ส.ส.ของพรรค ในวันจันทร์นี้ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับที่ประชุมว่าจะแสดงความคิดเห็นอย่างไร ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ส่วนมากก็ลงมติไปในทิศทางเดียวกัน
อย่างไรก็ดี การลงมติของ ส.ส.ในสภาฯ ถือเป็นเอกสิทธิ์ พรรคประชาธิปัตย์เชื่อมั่นว่า การทำหน้าที่ของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ จะเป็นการทำหน้าที่อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยรวมมากกว่าเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องแต่เพียงอย่างเดียว
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตอบข้อถามของสื่อมวลชนถึงการเตรียมตัวชี้แจงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะมีขึ้นนี้ว่า ได้เตรียมชี้แจงในคำถามที่คิดว่าตอบได้ ยกเว้นจะมีเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับกระทรวงพาณิชย์ ก็ไม่อยากพูดตรงนั้น แต่พร้อมที่จะชี้แจง
ส่วนที่ถามว่า มีการคาดการณ์ว่าฝ่ายค้านจะเน้นเรื่องใดหรือไม่นั้น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ดูไปตามญัตติ เพราะต้องดูจากญัตติเป็นหลัก ส่วนการอภิปรายจะเป็นอย่างไรนั้น ก็ต้องไปดูที่การอภิปรายจริง แต่การอภิปรายก็ต้องอยู่ในขอบเขตของญัตติ หากจะไปอภิปรายนอกเหนือจากญัตติ ก็จะเป็นปัญหาเรื่องข้อบังคับการประชุมได้ เพราะระเบียบข้อบังคับการประชุมก็เปิดโอกาสให้เขียนญัตติไว้แล้วตั้งแต่ต้น
พรรคพลังธรรมใหม่ ยกเจตนารมณ์ รธน.ศึกซักฟอก ส.ส.ต้องโหวตโดยยึดประโยชน์ของชาติ แซะ อย่าฟังแต่ความแค้นส่วนตัวของหัวหน้าพรรค
สำนักข่าวไทย รายงานว่า นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.พรรคพลังธรรมใหม่ หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ โพสต์เฟสบุ๊คระบุว่า ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ มีคำถามว่า ส.ส.ที่ประชาชนต้องการ ควรจะลงมติอย่างไรตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ 2560 ระบุไว้ในหน้า 135 ว่า “ รัฐธรรมนูญ 2560 มีความมุ่งหมายเพื่อแก้ไข สภาพปัญหาการเมืองในระยะที่ผ่านมาที่ ส.ส.มิได้ปฎิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนของประชาชนอย่างแท้จริง หากแต่เป็นตัวแทนพรรคการเมืองหรือเจ้าของพรรคการเมือง “ และมาตรา 114 ที่ระบุชัดเจนว่า “ส.ส.และ ส.ว.ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่ง อาณัติมอบหมาย หรือ ความครอบงำ ใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ” รวมถึง มาตรา 115 ที่ระบุให้ ส.ส.และ ส.ว.ต้องปฏิญาณตนก่อนรับหน้าที่ว่า“…………. ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน………….”
นพ.ระวี กล่าวต่อว่า จะเห็นได้ว่าจากเจตนารมณ์ มาตรา 114 ,มาตรา 115 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุไว้เป็นการยืนยันว่ารัฐธรรมนูญต้องการให้ ส.ส.ทุกคนมีอิสระ ไม่มีการครอบงำจากนายทุนพรรคให้ ส.ส.ทุกคนโหวตโดยยึดผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก ถ้าฝ่ายค้านมีหลักฐานชัดเจนและรัฐมนตรีตอบคำถามไม่ได้ ส.ส.ก็ต้องโหวตคว่ำรัฐมนตรีคนนั้น แต่ถ้ารัฐมนตรี ตอบคำถามได้ชัดเจน ส.ส.ก็ต้องโหวตไว้วางใจ
“ไม่ใช่ยังไม่ได้ฟังการอภิปรายของฝ่ายค้าน ยังไม่ได้ฟังคำตอบจากรัฐมนตรี ก็ประกาศผ่านให้ก่อนแล้ว หรือต้องไม่โหวตตามความแค้นส่วนตัวของหัวหน้าพรรค โดยไม่ฟังคำตอบของรัฐมนตรีก่อนเลย หรือประกาศไม่โหวตรับตั้งแต่ไก่โห่ โดยยังไม่ได้ฟังข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านไม่ได้ฟังคำตอบจากรัฐมนตรี ผมขอเรียกร้อง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลทุกคน ไม่ว่าพรรคเล็กหรือพรรคใหญ่ มายึดหลักการโหวต โดยถือผลประโยชน์ของชาติของประชาชนเป็นหลัก#ประชาชนไม่เอา ส.ส.ฝักถั่ว#ประชาชนไม่เอา ส.ส.กินแต่กล้วย #ประชาชนต้องการ ส.ส.ใจถึงประชาชนพึ่งได้” นพ.ระวี กล่าว
โฆษกรัฐบาลมั่นใจ ‘ประยุทธ’ แจงซักฟอกได้
เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่านายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า มั่นใจว่าการบริหารประเทศตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของรัฐบาล มุ่งแก้ปัญหาต่าง ๆ ของประเทศ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาโควิด-19 ปัญหาผลกระทบสงครามรัฐเซีย-ยูเครน และปัญหาความขัดแย้งของคนในประเทศได้เป็นที่น่าพอใจ
ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมถึงรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายนั้น ต่างเตรียมข้อมูลเพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างครบถ้วน
นายธนกรกล่าวว่า เชื่อว่าไม่มีอะไรน่ากังวล แต่ขอให้ฝ่ายค้านอย่าอภิปรายนอกประเด็น หรืออภิปรายในเรื่องอดีตที่เคยได้ชี้แจงไปแล้วหลายรอบ เพื่อไม่ให้ประชาชนรู้สึกเบื่อหน่าย หรือนำข้อมูลที่ไม่ได้ผ่านการตรวจมาก่อน ได้ยินแต่เขาเล่าว่าแล้วก็รีบนำมาอภิปราย ซึ่งมีแต่จะทำให้เกิดการประท้วงวุ่นวาย จนต้องเสียเวลาของสภาฯ ไปโดยเปล่าประโยชน์
“ขอให้ฝ่ายค้านรู้จักเคารพกติกา เคารพข้อบังคับของสภาฯ ด้วย ไม่ใช่จ้องแต่จะเบี่ยงเบนประเด็นเพื่อหาเรื่องตีกินไปเรื่อยจนประชาชนสับสน ขอให้ทำหน้าที่ของฝ่ายค้านอย่างสร้างสรรค์ งัดหลักฐานที่ว่าเป็นไม้เด็ดออกมาอภิปรายให้ได้เห็นว่ามีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ไม่ใช่อภิปรายเรื่อยเปื่อยแล้วจบแบบมวยล้มต้มคนดูเหมือนที่ผ่านมา” นายธนกร กล่าว