11 พ.ค.2565 – เมื่อเวลา 16.00 น. ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค พปชร. ในฐานะประธานคณะกรรมการกฎหมายและข้อบังคับพรรค พปชร. ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาบทบงโทษของนายพิเชษฐ สถริชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. ที่ใช้เวลานานถึง 2 ชั่วโมง ว่า นายพิเชษฐ ในฐานะสมาชิกพรรค พปชร. ได้มีการกระทำในการจัดตั้งกลุ่มการเมืองใช้ชื่อกลุ่ม 16 เพื่อเคลื่อนไหวการเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก พปชร. และตามคำสั่งหัวหน้าพรรคไม่ให้สมาชิกพรรคมีการตั้งกลุ่มการเมืองขึ้น เพราะจะเป็นการทำลายเอกภาพของพรรค
ขณะเดียวกัน ได้ใช้สถานะการเป็นสมาชิกพรรคไปร่วมประชุมกับคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ในวันที่ 28 เม.ย.และในวันที่ 4 พ.ค.เพื่อเตรียมเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะยื่นไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่สังกัดพรรค พปชร. การกระทำของพรรคเพื่อไทยเป็นปฏิปักษ์ต่อพรรค พปชร. แต่เมื่อปรากฏว่านายพิเชษฐ ไปร่วมประชุมหารือวางแผนในการอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีกับคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยถึง 2 ครั้ง การกระทำของนายพิเชษฐ จึงเป็นการกระทำที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย และเป็นการตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับพรรค พปชร.ด้วยเหตุนี้นายพิเชษฐ จึงฝ่าฝืนข้อบังคับของพรรคพลังประชารัฐหลายข้อ
นายไพบูลย์ กล่าวว่า นอกจากนี้ นายพิเชษฐ ได้โทรศัพท์คุยกับนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ระหว่างหลบหนีหมายจับในคดีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และเป็นบุคคลที่ตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับพรรค พปชร. ดังนั้น การกระทำดังกล่าวข้างต้นของนายพิเชษฐ จึงเป็นการกระทำตามอำเภอใจ โดยไม่มีสำนึกร่วมรับผิดชอบต่อเสถียรภาพของพรรค ไม่มีจิตสำนึกในอุดมคติของพรรค ในฐานะเป็นเจ้าของพรรค ไม่เป็นไปตามหลักการอยู่ร่วมกันของสมาชิกพรรคภายใต้ระเบียบแบบแผนของพรรค พปชร. เป็นการตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับพรรค พปชร. ทำให้สังคมและบุคคลภายนอกเข้าใจผิดและตำหนิติเตียนพรรค พปชร. ทำให้พรรคเสียหายต่อชื่อเสียง
นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า การติดต่อพูดคุยกับบุคคลที่อยู่ระหว่างหลบหนีหมายจับในคดีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และเป็นบุคคลที่ตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับ พปชร. ยังเป็นการคบหาผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ซึ่งการกระทำดังกล่าวข้างต้น เป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับพรรค พปชร. ในฐานะสมาชิกพรรคต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อพรรคตามข้อบังคับ ข้อที่ 56 (1) (3) และไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมของสมาชิกพรรค ตามข้อบังคับ ข้อที่ 64 ข้อที่ 69 ข้อที่ 72 ข้อที่ 76
ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่าการกระทำของนายพิเชษฐ ในฐานะสมาชิกพรรคได้กระทำที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับพรรค ในฐานะสมาชิกพรรคต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อพรรคตามข้อบังคับ เพื่อเป็นการรักษาหลักการและแนวทางปฏิบัติที่เคยดำเนินการในกรณีก่อนหน้านี้ จึงมีมติเห็นควรให้ดำเนินการงดเว้นสิทธิของนายพิเชษฐ ในฐานะสมาชิกพรรคที่พึงได้จากพรรคเป็นการชั่วคราวระยะเวลา 6 เดือน ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค.65 ถึง 12 พ.ย.65 ดังต่อไปนี้
1.สิทธิในการได้รับการเสนอชื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมาธิการ หรือตำแหน่งอื่นในสัดส่วนของพรรค 2.สิทธิในการร่วมกิจกรรม ร่วมประชุมหรือใช้ห้องประชุมพรรค และสิทธิในการรับข้อมูล ข่าวสารต่างๆ เช่น ในระบบแอพลิเคชั่นไลน์ของพรรค และ3. สิทธิในการใช้ชื่อ ตรา เครื่องหมาย สัญลักษณ์ ของพรรค พปชร.ในการประชาสัมพันธ์ต่างๆ ทั้งนี้ หลังจากนี้คณะกรรมการจะนำผลการประชุมครั้งนี้เสนอต่อผู้บริหารพรรคต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายพิเชษฐ ท้าให้ พปชร. มีมติขับพ้นจากพรรค นายไพบูลย์ กล่าวว่า ไม่ถึงขั้นต้องให้ความสำคัญขนาดนั้นที่จะต้องให้กรรมการบริหารพรรคหรือ ส.ส.มาพิจารณาเพื่อขับพ้นพรรค เพียงแค่ทำตามที่กรรมการเสนอไปก็เพียงพอแล้ว
เมื่อถามว่า หากมีการกระทำผิดซ้ำอีก จะทำอย่างไร นายไพบูลย์ กล่าวว่า สามารถพิจารณาเพิ่มเติมในส่วนของการขยายเวลาตัดสิทธิได้อีก เมื่อถามย้ำว่า จะไม่มีการขับพ้นจากพรรคใช่หรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ไม่มี
“เขาอยากให้ขับ เราก็ไม่ขับ ก็อยู่กันอย่างนี้ล่ะครับ หลักใหญ่คือ นายพิเชษฐมีหน้าที่ความรับผิดชอบ ต้องรักษาเสถียรภาพ ต้องมีจิตสำนึก อุดมการณ์ในการเป็นเจ้าของพรรคร่วมกัน ไม่เป็นไร ไม่ต้องกังวล เรื่องนี้ถึงเวลามีทางออกอยู่แล้ว ถ้าเขาจะไปจริงๆ เขาก็คิดได้เอง แต่พรรคจะไม่ขับ”
เมื่อถามว่า การทำในลักษณะนี้เหมือนการแช่แข็งนายพิเชษฐหรือไม่ นายไพบูลย์ หัวเราะพร้อมกล่าวว่า “ไม่มีความเห็น ไปคิดเอาเอง”
นายไพบูลย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การพิจารณาครั้งนี้เราพิจารณาในฐานะที่นายพิเชษฐเป็นสมาชิกของพรรค พปชร. ไม่ได้พิจารณาในฐานะ ส.ส.
รายงานข่าวจากที่ประชุมแจ้งว่า สาเหตุที่คณะกรรมการไม่มีการขับนายพิเชษฐพ้นพรรค เนื่องจากเห็นว่าพฤติกรรมของนายพิเชษฐ ในฐานะ ส.ส.นั้น เข้าข่ายกระทำผิดรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะกรณีที่มีการพูดคุยกับฝ่ายค้านเรื่องเงินทอง หรือการปฏิเสธรับเงินทอง ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต.ที่สามารถตรวจสอบได้อยู่แล้วหากมีผู้ไปร้องเรียน เพราะตามรัฐธรรมนูญห้ามไม่ให้ ส.ส.รับทรัพย์ใดๆ ทั้งสิ้น ขณะที่คณะกรรมการฯพิจารณากรณีของนายพิเชษฐในฐานะสมาชิกพรรคเท่านั้น