ญี่ปุ่นเรียกร้องเมื่อวันอาทิตย์(20 มี.ค.) ให้สหรัฐอาหรับเอเมิเรตส์ (ยูเออี) ผลิตน้ำมันเพิ่ม สกัดราคาที่พุ่งสูงสืบเนื่องจากนานาชาติกำหนดมาตรการคว่ำบาตรภาคพลังงานรัสเซียต่อกรณีรุกรานยูเครน ประเทศล่าสุดต่อจากสหราชอาณาจักร ที่เคลื่อนไหวล็อบบี้บรรดาผู้ผลิตน้ำมันในอ่าวเปอร์เซีย อย่างไรก็ตาม ยูอีเอไม่รับปากใดๆ และบอกว่าจะทำตามกรอบของโอเปกพลัส ซึ่งหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มดังกล่าวก็คือรัสเซีย
คำร้องขอของนายโยชิมาซะ ฮายาชิ รัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่น มีขึ้นระหว่างพบปะหารือกับบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งประจวบเหมาะพอดีกับการเดินทางมาเยือนของรัฐมนตรีเศรษฐกิจเยอรมนี 3 สัปดาห์หลังจากรัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครน
ความเคลื่อนไหวนี้ยังมีขึ้นหลังจาก บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร เดินทางไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และซาอุดีอาระเบีย เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในความพยายามฉุดรั้งราคาน้ำมันที่พุ่งเหนือ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และค้นหาอุปทานแหล่งอื่นทดแทนน้ำมันจากรัสเซีย
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นแถลงข่าวทางออนไลน์ เปิดเผยว่า ฮายาชิ ร้องขอให้ “สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สนับสนุนเสถียรภาพของตลาดน้ำมันโลกเพื่อการป้อนอุปทานน้ำมันเพิ่มมากขึ้น รับประกันกำลังการผลิตสำรองในฐานะสมาชิกรายใหญ่ลำดับต้นๆ ของโอเปกพลัส”
ยูเออีเป็นผู้จัดหาน้ำมันป้อนแก่ญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของปริมาณน้ำมันนำเข้าทั้งหมดของญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม ไม่มีคำสัญญาว่าจะผลิตน้ำมันเพิ่มจากยูเออี ซึ่งเน้นย้ำว่าพวเขาจะดำเนินการตามกรอบของพันธมิตรโอเปกพลัส ซึ่งในนั้นมีรัสเซียรวมอยู่ด้วย
การพูดคุยระหว่าง ฮายาชิ กับรัฐมนตรีต่างประเทศของยูเออี และรัฐมนตรีอุตสาหกรรม มีขึ้นหลังจากนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ได้ร้องขอแบบเดียวกันระหว่างพูดคุยทางโทรศัพท์กับผู้นำของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และซาอุดีอาระเบียเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
เอกอัครราชทูตยูเออีประจำสหรัฐฯ ส่งสัญญาณเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่า พวกเขาอยากให้โอเปกพลัสเพิ่มกำลังผลิตเพื่อฉุดให้ราคาน้ำมันลดต่ำลง อย่างไรก็ตาม หนึ่งวันต่อมา ยูเออีเน้นย้ำพันธสัญญาของพวกเขาที่มีต่อโอเปกพลัส
จนถึงตอนนี้เสียงเรียกร้องให้เพิ่มกำลังผลิตน้ำมันยังไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ “ผมคิดว่าคุณจำเป็นต้องพูดกับซาอุดีอาระเบียเกี่ยวกับเรื่องนี้” จอห์นสัน กล่าวหลังจากเดินทางไปยังกรุงริยาด เมื่อถูกถามว่าเขาได้รับคำรับประกันใดๆ เกี่ยวกับการผลิตน้ำมันเพิ่มเติมหรือไม่
พวกนักวิเคราะห์มองว่าบรรดาชาติผู้ผลิตน้ำมันไม่มีกำลังการผลิตสำรองสำหรับชดเชยน้ำมันส่งออกของรัสเซีย ขณะเดียวกัน ก็ลังเลที่จะก่อความแตกแยกในพันธมิตรโอเปกพลัสของพวกเขา
นอกจากนี้ อมีนา เบเกอร์ นักวิเคราะห์จากเอเนอร์จี อินเทลลิเจนท์ บอกกับเอเอฟพีว่า พวกผู้ผลิตนำมันยังเกรงด้วยว่ามันจะก่อความตื่นตระหนกแก่ตลาด หากว่ามีการใช้กำลังผลิตสำรองทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่ง เยอรมนี แถลงบรรลุความเป็นหุ้นส่วนทางพลังงานระยะยาวกับกาตาร์ในวันอาทิตย์ (20 มี.ค.) ในขณะที่พวกเขากำลังหาทางลดพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย
(ที่มา : เอเอฟพี)