วันที่ 27 พ.ค. 2567 เวลา 09.30 น. ที่ศาลอาญาตลิ่งชัน มีนัดอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14 (3) ของ “ธนพร (สงวนนามสกุล)” แม่ลูกอ่อนจากจังหวัดอุทัยธานีวัย 24 ปี ผู้ถูกฟ้องจากการใช้บัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวไปแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์เฟซบุ๊กของเพจซึ่งเผยแพร่ภาพตัดต่อของรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 เมื่อช่วงปี 2564
คดีนี้เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2564 ธนพรถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าแสดงหมายจับในขณะที่อยู่บ้านพัก และถูกนำตัวมาสอบสวนที่ สน.บางพลัด โดยไม่มีทนายความอยู่ด้วยในขณะที่ให้การต่อพนักงานสอบสวน และต่อมาทราบว่าคดีนี้มี ร.อ.รังสิกร ทิกะ เป็นผู้ไปกล่าวหาไว้ เธอถูกคุมขังอยู่ที่สถานีตำรวจเป็นเวลา 1 วัน ก่อนที่ตำรวจจะนำตัวไปฝากขังในชั้นสอบสวน โดยศาลอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน ให้วางหลักทรัพย์จำนวน 100,000 บาท กำหนดเงื่อนไขให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัว (EM)
ทั้งนี้ ในชั้นสอบสวนและชั้นศาล ธนพรให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยมีทนายความที่ศาลแต่งตั้งให้ในชั้นพิจารณา
ต่อมาในวันที่ 17 ก.พ. 2565 ศาลชั้นต้นได้นัดอ่านคำพิพากษา โดยเห็นว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ลงโทษจำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 2 ปี และเมื่อพิเคราะห์จากรายงานสืบเสาะ ธนพรไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จำเลยให้การรับสารภาพด้วยตนเองแสดงถึงความรู้สึกความผิด โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยโดยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 8 ครั้ง ภายในกำหนด 2 ปี และให้จำเลยทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติจัดให้กระทำ 24 ชั่วโมง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ลงโทษธนพรจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา
ชวลิต อิศรเดช รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาตลิ่งชันในขณะนั้น ได้ทำความเห็นแย้งคำพิพากษาดังกล่าว โดยเห็นว่าจำเลยแสดงความเห็นเป็นข้อความเปรียบเทียบหยาบคายก้าวล่วงไปถึงราชวงศ์จักรี อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ย่อมมีผลกระทบเกิดความเสียหายต่อราชวงศ์จักรีและสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งกระทบต่อความรู้สึกนึกคิดของประชาชนชาวไทยอันมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งต่างให้ความเคารพสักการะและยกย่องเทิดทูนไว้เหนือเกล้าฯ ตลอดมาตั้งแต่โบราณกาล
เมื่อคำนึงถึงลักษณะการกระทำของจำเลยดังกล่าว แสดงว่าจำเลยมีเวลาและโอกาสคิดไตร่ตรองก่อนแล้ว แต่ยังกระทำประกอบกับขณะกระทำผิดจำเลยมีอายุ 21 ปีเศษ รู้จักผิดชอบชั่วดีแล้ว จำเลยได้รับการศึกษาจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ย่อมรู้ถึงความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อสังคมไทย เข้าใจถึงขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนไทยและสังคมไทยเป็นอย่างดี
การที่จำเลยยังบังอาจกล้ากระทำการอันไม่บังควรอย่างยิ่งเช่นนี้ จึงไม่สมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย แต่ควรลงโทษจำคุกโดยไม่รอการลงโทษ เพื่อให้จำเลยหลาบจำไม่กล้ากระทำอีก อีกทั้งจะเป็นการป้องกันมิให้บุคคลอื่นกระทำการลักษณะนี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในอนาคต ตลอดจนความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรได้
อัยการจึงได้ยื่นอุทธรณ์คดีนี้ต่อศาลอุทธรณ์ และในวันที่ 14 ก.พ. 2566 ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการก้าวล่วง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันกษัตริย์ ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ก่อนศาลอนุญาตให้ประกันตัว ด้วยหลักประกันเป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ และฝ่ายจำเลยได้ยื่นฎีกาคำพิพากษาต่อมา
ในวันนี้ (27 พ.ค. 2567) ที่ห้องพิจารณาคดี 305 ธนพรได้เดินทางมาพร้อมกับลูกทั้ง 2 คนของเธอและครอบครัว โดยเธอได้อุ้มลูกสาววัย 6 เดือนติดตัวอยู่ด้วยตลอดเวลา
เวลา 10.00 น. ธนพรพร้อมด้วยครอบครัว ได้ขึ้นไปรออยู่บริเวณหน้าห้องพิจารณาคดี โดยพบว่าตำรวจศาลและเจ้าหน้าที่ รปภ. ได้ยืนอยู่เต็มบริเวณหน้าห้องดังกล่าว
ต่อมา 10.30 น. ธนพรได้ถูกเรียกตัวเข้าไปในห้องพิจารณาคดี โดยศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา โดยมีใจความสำคัญสั้น ๆ เพียงว่า คดีนี้จำเลยได้ฎีกาว่า จำเลยรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาตั้งแต่ในชั้นสอบสวน ถึงชั้นพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษจำคุก 4 ปี แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ และเป็นการกระทำผิดครั้งแรก มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษจำคุกเหลือ 2 ปี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ โดยให้คุมความประพฤติจำเลยโดยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 8 ครั้ง ภายในกำหนด 2 ปี และให้จำเลยทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติจัดให้กระทำ 24 ชั่วโมง
ส่วนศาลอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยแก้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นการแสดงความเห็นเป็นข้อความเปรียบเทียบหยาบคายก้าวล่วงไปถึงราชวงศ์จักรี ย่อมมีผลกระทบเกิดความเสียหายต่อราชวงศ์จักรีและสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งกระทบต่อความรู้สึกนึกคิดของประชาชนชาวไทยอันมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ศาลเห็นว่าโทษจำคุกไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ พิพากษาให้ลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน
ภายหลังฟังคำพิพากษา ธนพรขอกอดลูกทั้ง 2 เป็นครั้งสุดท้าย
หลังจบการอ่านคำพิพากษา โดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้เข้ามาควบคุมตัวธนพร ซึ่งเธอได้ร้องขอให้ตัวเองได้กอดลูกชายวัย 2 ขวบ และลูกสาววัย 6 เดือนเศษเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้อนุญาตให้เธอได้พูดคุยและเตรียมตัวกับครอบครัวก่อนเข้าเรือนจำ ตลอดการควบคุมตัวธนพรไม่สามารถหยุดร้องไห้ได้หลังจากได้ฟังคำพิพากษา และเมื่อเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไป ลูกทั้งสองคนของเธอก็ร้องไห้ไม่หยุด จนครอบครัวต้องช่วยกันเข้ามาปลอบให้เด็กทั้งสองหยุดร้อง ธนพรจะถูกนำตัวไปคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงธนบุรีตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ลูกชายของเธอ จะอายุครบ 2 ขวบเต็มในวันพรุ่งนี้ (28 พ.ค. 2567) ซึ่งเป็นวันที่เขาจะไม่ได้มีแม่อยู่ในการฉลองครบรอบวันเกิดเป็นครั้งแรก
ธนพรยังเปิดเผยข้อมูลอีกว่าช่วงก่อนนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกานี้ ระหว่างวันที่ 24-26 พ.ค. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายหน่วยงาน ทั้งจาก สภ.ใกล้บ้าน ตำรวจสันติบาล และตำรวจภูธรภาค 6 เข้าไปติดตามเธอถึงที่บ้านทุกวัน ทั้งมาสอบถามความเป็นอยู่ สอบถามเรื่องคดี และตรวจดูว่าเธอยังอยู่หรือไม่ ทำให้เธอเกิดความกลัวและกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย
ผลของคำพิพากษาศาลฎีกานี้ ทำให้มีผู้ต้องขังในคดีทางการเมืองเพิ่มรวมเป็นอย่างน้อย 44 คน โดยจากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ธนพร เป็นผู้ต้องหาคดี ม.112 ที่มีคำพิพากษาฎีกาเป็นคดีแรกของปี 2567 โดย เป็นผู้ต้องขังที่คดีถึงที่สุดและถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเป็นรายที่ 17 และถือเป็นผู้ต้องคดี ม.112 ที่คดีถึงที่สุด รายที่ 8 แล้ว