วันที่ 31 มีนาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดี ที่ นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวม 47 คน (ผู้ร้อง) ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ยื่นคำร้องเสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 วรรคสาม กรณีที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ผู้ถูกร้อง) เป็นผู้เสนองบประมาณของกระทรวงคมนาคม ผู้พิจารณา และคณะกรรมาธิการ ที่มีส่วนโดยทางตรงและทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และยังคงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ที่อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่น กรณีดังกล่าวน่าเชื่อได้ว่าผู้ถูกร้องใช้สถานะการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และกรรมาธิการ ใช้อำนาจในตำแหน่งดังกล่าวจัดทำหรือให้ความเห็นชอบโครงการใด ๆ ของหน่วยงานของรัฐ โดยมีเจตนาพิเศษส่งผลทำให้หจก.ฯ และบริษัทที่บริจาคเงินให้กับพรรคภูมิใจไทยรับงานเข้าเป็นคู่สัญญากับกระทรวงคมนาคม อันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 วรรคสอง
ทั้งนี้ ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า การยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 วรรคสาม ต้องอยู่ในระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณของสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และคณะกรรมาธิการ เสนอ แปรญัตติ หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันมีส่วนไม่ว่า โดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย หรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้รับการพิจารณาเสร็จสิ้น และเป็นกฎหมายใช้บังคับแล้ว กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 วรรคสาม ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (7) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย