องค์กร Change โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่-กลุ่ม We love Thailand ผสานเครือข่ายนักศึกษา 10 สถาบัน ร่วมรณรงค์ล่า 1 ล้านชื่อ ตรวจสอบ กกต. เพื่อนำไปสู่การถอดถอน เผย ล่าสุดยอดทะลุ 7.8 แสนรายชื่อ เตรียมหลักฐานการทุจริตของจ้าหน้าที่ใน 30 จังหวัด ยื่นต่อ ป.ป.ช. สัปดาห์หน้า ด้าน “ศรีสุวรรณ” เร่งล่าชื่อทั่วประเทศเช่นกัน ขณะที่อดีต กกต. แจง ไม่กระทบผลการเลือกตั้ง ให้ กกต. ใหม่ทำหน้าที่แทนชุดที่ถูกถอด
เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักสำหรับการทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในครั้งนี้ ทั้งในส่วนของการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เมื่อต้นเดือน มี.ค. 2562 ซึ่งมีปัญหาในเรื่องความพร้อมในการจัดการเลือกตั้ง, การเลือกตั้งล่วงหน้า เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ซึ่งมีปัญหาแจกบัตรผิดเขต และไม่มีข้อมูลผู้สมัคร และการจัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 ที่ผ่านมา ซึ่งสังคมมีความเคลือบแคลงใจในผลการเลือกตั้งที่ออกมาแปลกประหลาดพิลึกพิลั่น โดยเฉพาะผลคะแนนรวมที่มีจำนวนมากกว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ซึ่งเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ รวมทั้งพบว่ามีบัตรเกินบัตรผีเกลื่อนกลาดมากมาย ที่สำคัญปัญหาดังกล่าวล้วนเกิดขึ้นภายในหน่วยเลือกตั้งซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ปัญหาเหล่านี้สร้างความไม่ไว้วางใจให้แก่ประชาชนผู้ลงคะแนนจนนำไปสู่การเดินหน้าถอดถอน กกต. โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ และกลุ่ม We love Thailand ได้เสนอแคมเปญ“ล่ารายชื่อถอดถอนกรรมการการเลือกตั้ง” ผ่านองค์กร “Change” องค์กรซึ่งเป็นตัวกลางในการสะท้อนความเห็นเพื่อสร้างความเปลี่ยนให้สังคม เพื่อรวบรวมผู้ที่ไม่ไว้วางใจในการทำหน้าที่ของ กกต.และต้องการให้มีการตรวจสอบ-ถอดถอน กกต.ออกจากตำแหน่ง โดยเปิดให้ประชาชนร่วมลงชื่อผ่านเว็บไซต์ www.change.org ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนมากเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ยอดล่าสุด ณ วันที่ 26 มี.ค.2562 มีผู้ร่วมลงชื่อถอดถอนแล้วกว่า 770,000 คน
ทั้งนี้ ตัวแทนกลุ่มคนรุ่นใหม่ ได้ชี้แจงรายละเอียดของแคมเปญครั้งนี้ว่า ทางกลุ่มได้เริ่มแคมเปญเมื่อ 17 มี.ค.หลังการเลือกตั้งล่วงหน้า เนื่องจากเห็นถึงปัญหาเรื่องประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการทำหน้าที่ของ กกต. โดยตั้งเป้าล่ารายชื่อให้ได้ 1 ล้านรายชื่อ เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ต้องการให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของ กกต. โดยจะเปิดให้ลงชื่อถึงสิ้นเดือน มี.ค.นี้ จากนั้นจะนำรายชื่อไปยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของ กกต. ซึ่งหากพบว่ามีความผิดก็จะนำไปสู่การพิจารณาถอดถอน กกต.ต่อไป
“นอกจากเราจะเปิดให้ประชาชนลงชื่อผ่านเว็บไซต์ของ Change แล้ว ล่าสุดเรายังได้ร่วมมือกับเครือข่ายนักศึกษาจาก 10 สถาบัน ซึ่งจะออกไปตั้งโต๊ะเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนที่สนใจร่วมลงชื่ออีกด้วย โดยเราจะเปิดให้ลงถึงสิ้นเดือนนี้ ขณะเดียวกันก็กำลังรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับการทำหน้าที่โดยมิชอบของ กกต.ซึ่งตอนนี้มีประชาชนส่งข้อมูลหลักฐานจาก 30 จังหวัด โดยเราจะนำรายชื่อพร้อมทั้งหลักฐานเหล่านี้ไปยื่นต่อ ป.ป.ช.ในสัปดาห์หน้า” ตัวแทนกลุ่มคนรุ่นใหม่ ระบุ
ด้าน วริศรา ศรเพชร ผู้อำนวยการ Change.org ประเทศไทย ระบุว่า แคมเปญร่วมกันลงชื่อถอดถอน กกต. นับเป็นแคมเปญที่เติบโตเร็วที่สุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จากเดิมที่มีแคมเปญชวนลงชื่อหยุดกฎหมายล้างผิดคดีโกง (พ.ร.บ.นิรโทษกรรม) ที่สร้างโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เมื่อปี 2556 ซึ่งมีผู้ร่วมลงชื่อประมาณ 6 แสนคน
ทั้งนี้ ตัวแทนกลุ่มคนรุ่นใหม่ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การล่ารายชื่อครั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งระบุไว้ในมาตรา 235 ว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเข้าชื่อจํานวนไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคน เพื่อยื่นตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ โดยให้ ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริง และหากมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งให้ส่งสํานวนการไต่สวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดําเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง โดยเมื่อศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองประทับรับฟ้อง ให้ผู้ถูกกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคําพิพากษา เว้นแต่ศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น ในกรณีที่ศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองมีคําพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์หรือกระทําความผิดตามที่ถูกกล่าวหา แล้วแต่กรณี ให้ผู้ต้องคําพิพากษานั้นพ้นจากตําแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ในฐานะอดีต กกต. ระบุว่า แม้ กกต.จะถูกยื่นถอดถอนจนต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ก็ไม่กระทบต่อผลการเลือกตั้ง ซึ่งหาก กกต.ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ มาตรา 17 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ระบุว่า ให้ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดดำเนินการแต่งตั้งบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมขึ้นมาทำหน้าที่แทน
“กกต.ชุดใหม่สามารถทำหน้าที่แทน กกต.เดิมทุกอย่าง และหากมีการร้องเรียนเรื่องผลการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใส กกต.ใหม่ก็ต้องเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งหากพบว่าเป็นไปตามที่ถูกร้องเรียนก็ให้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งใหม่” นายสมชัย ระบุ
นอกจากการล่ารายชื่อถอดถอน กกต.โดยองค์กร Change แล้ว ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ก็เตรียมที่จะเดินหน้าถอดถอน กกต.เช่นกัน โดยนายศรีสุวรรณเปิดเผยว่า ในวันที่ 28 มี.ค.นี้หลังจากที่ตนยื่นเรื่องให้ กกต.ตรวจสอบการทุจริตในหน่วยเลือกตั้งแล้ว ตนจะเปิดแถลงข่าวเชิญชวนคนไทยทั่วประเทศให้ร่วมลงชื่อถอดถอน กกต.
“ในการล่ารายชื่อถอดถอน กกต.ครั้งนี้ คงต้องหาเครือข่ายประชาชนที่จะมาร่วมกันทำงานเพื่อให้คนไทยในทุกพื้นที่ทั่วประเทศที่เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลในการทำหน้าที่ของ กกต.ได้มีโอกาสร่วมลงชื่อถอดถอน กกต.ด้วย” นายศรีสุวรรณ กล่าว
ทั้งนี้ ประเด็นปัญหาอันเนื่องมาจากการทำหน้าที่ของ กกต. ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้แก่ ผลคะแนนรวมที่มีจำนวนมากกว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ซึ่งเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ส่งผลให้คะแนนรวมทั้งประเทศที่นับจากบัตรเลือกตั้ง (ณ ช่วงที่นับคะแนนได้ 92%) อยู่ที่ 26,084,005 คน ทั้งที่มีประชาชนมาใช้สิทธิเลือกตั้งเพียง 20,611,660 คน จึงเกิดคำถามว่ายอดบัตรที่เกินมาถึง 5,472,345 คนนั้นมาจากไหน มีการแอบใส่บัตรในหน่วยเลือกตั้งเพื่อช่วยผู้สมัครบางพรรคหรือไม่?
อีกทั้งยังมีการตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติหลายประการ เช่น บางจังหวัดมีจำนวนบัตรเสียมากกว่าบัตรดีหลาย 10 เท่า อาทิ จังหวัดอุบลราชธานี มีผู้มาใช้สิทธิ์ 494,926 คน เป็นบัตรดี 14,991 ใบ ขณะที่จำนวนบัตรเสียสูงถึง 478,477 ใบ ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ นอกจากนั้นยังมีบัตรที่ไม่เลือกผู้ใด หรือโหวตโน อีกถึง 462,886 คน ซึ่งเมื่อรวมบัตรดี บัตรเสีย และบัตรโหวตโน แล้วจะมีจำนวนถึง 956,354 ใบ ซึ่งมากกว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ถึง 461,428 คน หรือกรณีที่ผลการนับคะแนนซึ่งปรากฏว่าผู้สมัครของพรรคการเมืองหนึ่งมีคะแนนนำอยู่ แต่เมื่อนับคะแนนไปได้สักพัก ผลคะแนนของผู้สมัครพรรคการเมืองนั้นกลับลดลง ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ อาทิ กรณี เขต 1 จ.นครราชสีมา ณ เวลา 23.58 น. ของวันที่ 24 มี.ค.2562 ระบบแจ้งว่านับคะแนนไปแล้ว 104,635 ใบ โดยผู้สมัครพรรคอนาคตใหม่ มีคะแนนมาเป็นอันดับ 1 ที่ 31,764 คะแนน ตามด้วย พรรคพลังประชารัฐ 22,170 คะแนน และชาติพัฒนา 13,867 คะแนน แต่หลังจากนั้นเวลา 01.24 น. ระบบแจ้งว่านับคะแนนไปแล้ว 95,199 ใบ ขณะที่คะแนนของผู้สมัครพรรคอนาคตใหม่อยู่ที่ 20,505 คะแนน ซึ่งจะเห็นได้ว่าคะแนนทั้งสองจุดลดลง ส่วนคะแนนของผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐและชาติพัฒนา เพิ่มขึ้นเป็น 22,795 คะแนน และ 14,673 ซึ่งแน่นอนว่าความผิดปกติดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อความเที่ยงตรงของผลการเลือกตั้ง รวมถึงความไม่มั่นใจในประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการทำหน้าที่ของ กกต.
ส่วนหลังจากนี้ กกต.ชุดปัจจุบันจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้หรือไม่ และข้อครหาเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสในการนับคะแนนในพื้นที่ต่างๆ จะได้รับการแก้ไขหรือเปล่า ก็คงต้องติดตามกันต่อไป
//////////////////////////
กกต. แจง 7 ประเด็นข้อสงสัย
ขณะที่กระแสสังคมโดยเฉพาะในโลกโซเชียลต่างแสดงความเคลือบแคลงและวิพากษย์วิจารณ์การทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อย่างหนัก ทางด้าน กกต.ก็ได้ออกมาแถลงชี้แจงประเด็นข้อสงสัยที่มีการตั้งข้อสังเกตในโซเชียลมีเดีย รวม 7 กรณีด้วยกัน คือ
1.กรณีมีข่าวปลด 2 กกต.สลับรถขนบัตร ทาง กกต.ยืนยันว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง
2.กรณีข่าวที่ระบุว่า หน่วยเลือกตั้งที่ จ.เพชรบูรณ์ มีการแกะหีบนำบัตรออกมานับโดยคัดบัตรเสียออก แล้วเอาบัตรใส่ใหม่ ทางด้าน กกต.ได้ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นการตรวจนับเพื่อความถูกต้องของ กกต.ประจำหน่วย ระหว่างที่รอจัดส่งหีบบัตรให้ กกต.เขตที่มารับหีบบัตรและอุปกรณ์
3.กรณีทหารประจำการกองพลทหารม้าที่ 2 สนามเป้า ชะโงกหน้าดูเพื่อนทหารลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งที่ 34 เขตเลือกตั้งที่ 6 พญาไท กรุงเทพฯ กกต.ระบุว่าขณะนี้อยู่ระหว่างให้มีการข้อเท็จจริง หากพบความไม่สุจริตอาจสั่งให้มีการลงคะแนนของหน่วยเลือกตั้งนี้ใหม่
4. กรณีปรากฏภาพและข้อความว่า พบเอกสาร ป้ายปิดซองใส่บัตรเลือกตั้ง (แบบส.ส.5/1) และสายรัดหีบบัตร อยู่ในถังขยะปั๊มน้ำมัน จ.ชุมพร ทาง กกต.ชี้แจงว่าตรวจสอบแล้วพบว่าวัสดุอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นของหน่วยเลือกตั้งที่ 16 เขตเลือกตั้งที่ 1 ต.บางหมาก อ.เมือง จ.ชุมพร ซึ่งเป็นวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก็บรักษาไว้ก่อนวันเลือกตั้งและถูกนำมาทิ้งหลังจากการลงคะแนนเสร็จสิ้นแล้วจึงไม่มีผลอะไรต่อการเลือกตั้ง
5. กรณีจำนวนบัตรลงคะแนนมากกว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิ กกต.ชี้แจงว่าเป็นข้อมูลที่อยู่ในขั้นตอนการรายงานผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ จากบางหน่วยเลือกตั้งไปยังกกต.ประจำเขต และสำนักงานกกต.จังหวัด ประกอบกับระบบการรายงานผลในช่วงเวลาดังกล่าวเกิดความขัดข้องทางเทคนิค ทำให้ข้อมูลที่รายงานออกไปเกิดความคลาดเคลื่อน ซึ่ง กกต.ได้แก้ไขแล้ว ทั้งนี้การรายงานผลการนับคะแนนที่ดำเนินการครบถ้วนทุกหน่วยเลือกตั้งในขั้นสุดท้าย เป็นข้อมูลจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งบัตรดี บัตรเสีย บัตรไม่ประสงค์จะเลือกผู้สมัครผู้ใดที่ถูกต้องตรงกันแล้ว โดยผู้ที่สนใจติดตามข่าวสามารถตรวจสอบการรายงานผลการลงคะแนนอย่างเป็นทางการที่เป็นข้อมูลที่ถูกต้องสมบูรณ์จากเว็บไซด์กกต.ได้อีกครั้งหนึ่งในภายหลัง
6.กรณีที่มีข่าวว่าสำนักงาน กกต.ได้จัดทำบัตรเลือกตั้งตัวอย่างสีชมพู โดยมีหมายเลขผู้สมัคร ภาพ เครื่องหมายพรรค และชื่อพรรคการเมือง โดยภาพ เครื่องหมายพรรค และชื่อพรรคการเมืองมีเพียงพรรคพลังประชารัฐเพียงพรรคเดียวนั้น สำนักงาน กกต.ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า บัตรเลือกตั้งตามภาพที่ปรากฏเป็นข่าวไม่ใช่บัตรที่ กกต.จัดพิมพ์และส่งไปให้หน่วยเลือกตั้งต่างๆใช้ในการประชาสัมพันธ์ เนื่องจากสีและเลขบัตรไม่ตรงกับของ กกต. โดยเชื่อว่าเป็นภาพที่เกิดจากการตัดต่อ
7. กรณีการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งบางหน่วยมีการวินิจฉัยเรื่องการทำเครื่องหมายกากบาททับหมายเลขผู้สมัคร ซึ่งเป็นบัตรเสียว่าเป็นบัตรดีนั้น จากการตรวจสอบหน่วยเลือกตั้งที่ 44 เขตเลือกตั้งที่ 7 กรุงเทพฯ ปรากฎว่าในขณะที่ทำการวินิจฉัยบัตรเลือกตั้งดังกล่าว กรรมการวินิจฉัยว่าเป็นบัตรดีและนับเป็นคะแนนให้ผู้สมัคร แต่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทักท้วงการนับคะแนนดังกล่าวว่าเป็นบัตรเสีย กรรมการจึงได้ประชุมหารือและวินิจฉัยให้บัตรเลือกตั้งดังกล่าวเป็นบัตรเสีย
Cr.mgronline
สำนักข่าววิหคนิวส์