เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #ตรึงดีเซล 35 บาท ! จนถึงสิ้นเดือน ก.ค.หลังน้ำมันลด อ้างลดภาระกองทุนน้ำมัน

#ตรึงดีเซล 35 บาท ! จนถึงสิ้นเดือน ก.ค.หลังน้ำมันลด อ้างลดภาระกองทุนน้ำมัน

26 July 2022
308   0

 

 

กบน.ยังตรึงราคาดีเซล 35 บาท/ลิตรถึงสิ้นเดือน ก.ค. หวังดูแลสภาพคล่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง  พร้อมลดการชดเชยราคาลงเหลือ 2.45 บาท/ลิตร แต่ฐานะกองทุนยังติดลบกว่า 1.15 แสนล้านบาท

เมื่อวันจันทร์ นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า วันที่ 25 ก.ค.65 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้พิจารณาทบทวนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลประจำสัปดาห์ โดยมีมติให้คงราคาน้ำดีเซลไว้ที่ลิตรละ 34.94 บาท โดยเป็นการตรึงราคาต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 6 ทั้งนี้เพื่อมีส่วนช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน และบริหารจัดการสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้สามารถช่วยเหลือราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับราคาที่เหมาะสมได้ยาวนานขึ้น ทั้งนี้ราคาปัจจุบันของดีเซลหากไม่มีการชดเชยจะอยู่ที่ประมาณ 37 บาทต่อลิตร

สำหรับประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปัจจุบัน วันที่ 24 ก.ค.65 ยังคงติดลบ 115,045  ล้านบาท โดยแบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 75,573 ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 39,472 ล้านบาท  ขณะเดียวกันกองทุนมีการลดการอุดหนุนราคาดีเซล ซึ่งปัจจุบันวันที่ 25 ก.ค.อยู่ที่ 2.45 บาทต่อลิตร โดยเป็นการลดการอุดหนุนลงจากสัปดาห์ก่อนเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่อุดหนุนอยู่ที่ 3.82 บาทต่อลิตร ซึ่งจะส่งผลให้ภาระของกองทุนน้ำมันลดลงและสามารถจัดการสภาพคล่องได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดีเซล (GAS OIL) ลดลง 5.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยเมื่อวันที่ 15 ก.ค.65 ราคา  GAS OIL อยู่ที่ 134.14 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และลดลงเป็น 128.51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา ด้วยปัจจัยหลักๆ จากสถานการณ์โควิดในจีนยังคงกดดันตลาด ซึ่งวิตกว่าจะมีมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดในหลายเมืองสำคัญรวมถึงเซี่ยงไฮ้ด้วย ทำให้ความต้องการใช้พลังงานลดลง ประกอบกับหลังจากการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB)  ได้มีมติปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย 0.5% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้ตลาดกังวลเศรษฐกิจชะลอตัว และความต้องการใช้น้ำมันปรับลดลง

นอกจากนี้ ในด้านซัพพลายปริมาณการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบของลิเบียมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากบริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย (NOC) ได้ประกาศกลับมาดำเนินการผลิตน้ำมันบางส่วน หลังจากที่ยกเลิกภาวะฉุกเฉิน (Force Majeure) ในแหล่งผลิตน้ำมันขนาดใหญ่หลายแห่งเมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งคาดว่าจะทำให้แนวโน้มการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า  0.85 ล้านบาร์เรลต่อวัน.