เปิดปฏิบัติการตรวจยึดทรัพย์ผู้ต้องหาเพิ่มอีกกว่า 309 ล้านบาท
พร้อมสรุปสำนวนคดีทุจริตเงินสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจพัทลุงส่งอัยการ
จากกรณีเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา กลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นสมาชิกสหกรณ์จังหวัดพัทลุงได้รวมตัวกันยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมจาก พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. ให้ช่วยติดตามคดีการทุจริตภายในสหกรณ์ออมทรัพย์จังหวัดพัทลุง ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและครอบครัวที่เป็นสมาชิกได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก และคดีนี้ยังมีความสลับซับซ้อน แม้มีเจ้าหน้าที่หลายคนถูกพบว่ากระทำความผิด แต่ก็ยังสามารถทำงานในสหกรณ์ได้ ซึ่งอาจทำให้พยานหลักฐานต่าง ๆ สูญหายหรือถูกแก้ไขไปอีก ความเสียหายโดยรวมมีมูลค่ากว่า 1,500 ล้านบาท
จากกรณีดังกล่าว พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. เร่งสืบสวนและสอบสวนคดีที่เกิดขึ้น และได้ออกคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 293/2565 ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2565 แต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนตามคำสั่งดังกล่าวให้มีอำนาจในการสืบสวนคดีร่วมกันทุจริตเงินสหกรณ์ออมทรัพย์พัทลุง จำกัด โดยประสานความร่วมมือกับ พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง เลขาธิการ ปปง., พ.ต.ท.ธีรพงษ์ ดุลยวิจารณ์ ผอ.คด.4 ปปง., นางชลธิชา ดาวเรือง ผอ.คด.3 ปปง. เจ้าหน้าที่ ปปง. เพื่อเร่งคลี่คลายคดีและติดตามทรัพย์สินที่ถูกประทุษร้ายกลับคืนให้กลุ่มผู้เสียหายและดำเนินคดีกลุ่มผู้ต้องหาในความผิดฐานฟอกเงิน
พฤติการณ์ในคดี กล่าวคือ เมื่อปี พ.ศ.2563 ทางสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจพัทลุง จำกัด ได้มีการเปลี่ยนตัวผู้จัดการสหกรณ์, คณะกรรมการดำเนินการชุดใหม่ และได้จัดให้มีการตรวจสอบหลักฐานทางบัญชีของสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจพัทลุง พบความผิดปกติทางบัญชีการเงิน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทุจริตของคณะกรรมการดำเนินการ ฝ่ายจัดการเจ้าหน้าที่และบุคคลภายนอก จึงได้มีการร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย และจากการสอบสวนพยานบุคคลและรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ปรากฏพบผู้ต้องหากับพวกซึ่งเป็นคณะกรรมการดำเนินการ ผู้จัดการ เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจพัทลุง จำกัด และบุคคลภายนอก มีพฤติการณ์ร่วมกันในการตกลง วางแผน และแบ่งหน้าที่กันทำ โดยกระทำความผิดหลายกรรมหลายวาระต่างกันเป็นเวลาต่อเนื่องกันมาเป็นเวลายาวนาน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 จนถึงปี พ.ศ.2563 โดยมีรูปแบบการกระทำความผิดและวิธีการมากกว่า 10 วิธีการ เช่น การตกแต่งบัญชีของสมาชิกและไม่ได้เป็นสมาชิก การตกแต่งบัญชีลูกหนี้และลูกหนี้ที่ไม่มีตัวตน หรือตกแต่งบัญชีเกินความเป็นจริง การปลอมใบเสร็จรับเงิน เป็นต้น รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 1,489,572,427.14.-บาท
ในคดีนี้ได้มีการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาไปแล้วทั้งสิ้นจำนวน 27 ราย แบ่งเป็น
– เป็นผู้จัดการและเจ้าหน้าที่สหกรณ์ฯ จำนวน 12 ราย (คดีอาญา)
– เป็นข้าราชการตำรวจอยู่ในราชการ จำนวน 6 ราย ขณะกระทำความผิดมีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ รองประธาน และเหรัญญิก ซึ่งมีอำนาจลงนามสั่งจ่ายเช็ค (คดีอาญา) ได้แก่ ร.ต.ต.พันธ์ชัยฯ รอง สว.(ป) สภ.เมืองพัทลุง, พ.ต.ท.วิเชียรฯ สว.กก.2 บก.ส.1, ด.ต.ชุณฐกฤตม์ฯ รอง สว.กก.สส.ภ.จว.พัทลุง, ร.ต.อ.ธนเวทย์ฯ รอง สว.กก.สส.ภ.จว.พัทลุง, ร.ต.ท.หญิง อรุชาฯ รอง สว.ธุรการ สภ.โคกชะงาย และ ด.ต.สุทัศน์ฯ ผบ.หมู่ (ป.) สภ.ควนขนุน
– เป็นอดีตข้าราชการตำรวจ เกษียณแล้ว จำนวน 3 คน โดยขณะกระทำความผิดมีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ รองประธาน และสมาชิกสมทบ (คดีอาญา) ได้แก่ พ.ต.อ.ชำนาญฯ อดีต ผกก.กลุ่มงานสอบสวน ภ.จว.พัทลุง, ร.ต.ต.ใจฯ อดีต ผบ.หมู่ (ป.) สภ.ควนขนุน และ ด.ต.วิชาฯ อดีต รอง สว.(ป) สภ.ศรีบรรพต เป็นสมาชิกสมทบ/ผู้นำเช็คไปขึ้นเงิน
– บุคคลภายนอก จำนวน 5 คน (คดีอาญา) เป็นสมาชิกสมทบ/ผู้นำเช็คไปขึ้นเงิน/รับโอนเงิน จำนวน 3 ราย (นางสารภีฯ, นายศิรัฐโรจฯ และนางมณฑาฯ) เป็นโปรแกรมเมอร์ จำนวน 1 ราย (นายวิเชียรฯ) และเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีภาคเอกชน จำนวน 1 ราย (นางพรศรีฯ) โดยกล่าวหาว่า ลักทรัพย์ โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป, ร่วมกันลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างหรืออยู่ในความครอบครองของนายจ้าง, ร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิ และใช้เอกสารสิทธิปลอม, ร่วมกันปลอมเอกสาร และใช้เอกสารปลอม และดำเนินคดีในความผิดเป็นเจ้าพนักงานทุจริตต่อหน้าที่
– เป็นอดีตข้าราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์ฯ เกษียณแล้ว จำนวน 1 ราย (ส่ง ป.ป.ช.) คือ นางพัชราฯ ตำแหน่ง ผอ.ฯ ผู้ตรวจสอบบัญชีภาครัฐ
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 ได้มีปฏิบัติการเข้าตรวจค้น 74 เป้าหมาย ในพื้นที่ 9 จังหวัด เพื่อตรวจยึดและอายัดทรัพย์สินของกลุ่มผู้ต้องหาทั้งหมด ซึ่งสามารถยึดอายัดทรัพย์สินได้มูลค่ากว่า 694 ล้านบาท มีรายละเอียด ดังนี้
1.อายัดบัญชี ผู้ต้องหาจำนวน 37 บัญชี เงินคงเหลือในบัญชี 4,369,867.76.-บาท
2.ตรวจยึดบ้านพร้อมที่ดิน 28 หลัง
3.ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 28 หลัง
4.ห้องชุด 6 ห้อง
5.ที่ดินเปล่า(โฉนด) 13 แปลง
6.ที่ดินเปล่า (นส.3 ก.) 11 แปลง
7.รีสอร์ต 1 แห่ง (หัวหิน)
8.ตลาดสดนาโยง จว.ตรัง (6 ไร่)
9.อายัดทุนเรือนหุ้นสหกรณ์ (ผตห. 6 ราย)
10.รถยนต์ 19 คัน รถจักรยานยนต์ 12 คัน
ต่อมาเช้าวันที่ 13 กันยายน 2565 ได้เข้าตรวจค้นเพิ่มเติมอีก 25 จุด ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี, นครศรีธรรมราช, ตรัง และพัทลุง สามารถยึดอายัดทรัพย์สินได้เพิ่มเติมอีกกว่า 309 ล้านบาท
โดยทรัพย์สินที่สามารถติดตามยึดอายัดมาได้ในคราวนี้ ประกอบด้วย
1. บ้าน จำนวน 7 หลัง โฉนดที่ดิน 5 แปลง (เพิ่ม)
2. ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 5 จุด
3. ที่ดินตามโฉนดที่ดิน จำนวน 18 จุด
4. อายัดหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ มูลค่า 52,311,640.-บาท
รวมมูลค่าทรัพย์สินที่ถูกยึดอายัดในคราวนี้ 309,311,640.-บาท
รวมมูลค่าทรัพย์สินตรวจยึดได้ทั้งหมด 1,003,753,140.-บาท
สำนวนการสอบสวนในคดีนี้ คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐาน สอบปากคำพยานกว่า 959 ราย เอกสารในสำนวนมีมากกว่า 50,000 แผ่น พนักงานสอบสวนได้มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 26 ราย ตามฐานความผิดทุกข้อกล่าวหา สรุปสำนวนเตรียมเสนออัยการต่อไป ส่วนผู้ต้องหาอีก 1 ราย ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐ ได้แยกทำสำนวนเสนอส่ง ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการอีกส่วนหนึ่งแล้ว ในส่วนของทรัพย์สินที่มีการตรวจยึดอายัดทั้งหมดรวมกว่า 900 ล้านบาท ได้แยกสำนวนเป็นคดีฟอกเงินอีกส่วนหนึ่ง และจะเร่งสรุปสำนวนเสนออัยการในชั้นต่อไป