29 สิงหาคม 2563 ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง หยุดคุกคามประชาชน กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ผ่าน “เสียงประชาชนในโลกโซเชียล” (Social Media Voice) ด้วยระบบ Net Super Poll จำนวน 5,962 ตัวอย่างในโลกโซเชียล และ “เสียงประชาชนในสังคมดั้งเดิม” (Traditional Voice) จำนวน 1,121 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20 – 28 สิงหาคม ที่ผ่านมา
เมื่อถามว่าเหตุการณ์ต่อไปนี้เป็นการ คุกคามประชาชน หรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.3 ยกกรณีจลาจลฮ่องกง จุดไฟเผาคุณลุงผู้เห็นต่าง เป็นการคุกคามประชาชน รองลงมาคือ ร้อยละ 95.6 ยกกรณีจลาจลฮ่องกง กลุ่มม็อบนักเรียนห้ามครูบาอาจารย์สอนเรียนนักเรียนคนอื่น บังคับให้ไปม็อบ เป็นการคุกคามประชาชน , ร้อยละ 92.3 ระบุ การโจมตี ด่า สลิ่ม ด่า ชังชาติ ต่างฝ่ายต่างด่าโจมตีกันไปมาเป็นการคุกคามประชาชน , ร้อยละ 91.7 ระบุการโจมตี ด่า กลุ่มเห็นต่างในโลกโซเชียล เป็นการคุกคามประชาชน
ร้อยละ 91.4 ระบุ ม็อบกดดันเจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัวคนทำผิดกฎหมาย เป็น การคุกคามประชาชน , ร้อยละ 91.4 เช่นกัน ระบุ กลุ่มนักเรียน ฝ่าฝืนกฎระเบียบวินัย ขณะครูบาอาจารย์กำลังสอน เป็นการคุกคามผู้อื่น , ร้อยละ 90.7 ระบุ การยึดพื้นที่ปิดถนน ไม่ให้ประชาชนเดินทางไปมา เป็นการคุกคามประชาชน , ร้อยละ 90.5 ระบุ การถอนโฆษณาจากรายการที่เห็นต่าง เป็นการคุกคามประชาชน และร้อยละ 89.8 ระบุ การปลดพิธีกรรายการที่เห็นต่าง เป็นการคุกคามประชาชน เช่นกัน
ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.4 ระบุ เชื่อว่าจริง ที่ชาวต่างชาติกับนักการเมืองไทย กลุ่มผู้เสียผลประโยชน์ และอื่น ๆ ร่วมกันออกแบบ สั่นคลอน ความมั่นคงของประเทศ ซ้ำเติมวิกฤต ความเดือดร้อนของประชาชน ในขณะที่ร้อยละ 17.6 ไม่เชื่อว่าจริง
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.1 ระบุ กลุ่มม็อบต่าง ๆ ก็คุกคามประชาชน ในขณะที่ร้อยละ 22.9 ระบุ กลุ่มม็อบต่าง ๆ ไม่ได้คุกคามประชาชน
ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.8 เห็นด้วยว่า ทุกฝ่ายควรหยุดคุกคามประชาชน ในขณะที่ร้อยละ 10.2 ไม่เห็นด้วย
ผศ.ดร.นพดล กล่าวด้วยว่า ผลการสำรวจ “เสียงประชาชนในโลกโซเชียล” (Social Media Voice) ผ่านระบบ Net Super Poll ในการศึกษาแนวโน้มความเคลื่อนไหว “หยุดคุกคามประชาชน” ในโลกโซเชียล ซึ่งพบข้อมูลที่น่าพิจารณาคือ จำนวนผู้ใช้โซเชียลเฉพาะประเทศไทยอย่างเดียวการเคลื่อนไหวของผู้ใช้งานในวันม็อบ 16 สิงหาคม จำนวน 148,034 ผู้ใช้งานเฉพาะภายในประเทศไทย แต่ ถ้านำข้อมูลรวมจากต่างชาติเข้ามาวิเคราะห์ด้วยมีถึงจำนวน 7,928,492 ผู้ใช้งาน
นอกจากนี้ข้อสังเกตที่ค้นพบอีกประการหนึ่ง คือ ประเทศไทยมีจำนวนเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 12 – 24 ปีทั่วประเทศจำนวน 11,056,769 คน อ้างอิงจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยในปี พ.ศ. 2562 จึงเห็นได้ว่า กลุ่มเคลื่อนไหว “หยุดคุกคามประชาชน” ในโซเชียลจำนวน 148,034 ผู้ใช้งาน คิดเป็นร้อยละ 1.34 เท่านั้นซึ่งยังต้องแยกกลุ่มผู้ใหญ่ที่เข้ามาผสมโรงออกไปอีกในโอกาสต่อไป
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์บ้านเมืองสงบสุขได้มากกว่านี้มากถ้าไม่มีการสร้างปั่นกระแสจากต่างประเทศเข้ามาผสมโรง เพราะระดับกระแสเฉพาะคนในประเทศไทยถูกเติมเชื้อไฟจากต่างประเทศเข้ามาทำให้เกิดภาพลวงตา ปลุกเร้าอารมณ์ให้ประชาชนคนไทยโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนกำลังตกเป็นเครื่องมือ โดยฝ่ายหนึ่งใช้วิธีออนไลน์เชื่อมต่อลงพื้นที่จริง (Online-OnGround) ทำให้เกิดภาพกระแสแรงในโซเชียลแต่ผลการศึกษาพบว่า มีกระปลุกปั่นกระแสจากต่างประเทศเข้ามาผสมโรงโดยเฉพาะช่วงนี้จะหนาแน่นจากกลุ่มประเทศในอาเซียน และกลุ่มประเทศตะวันตก เสมือนเกิดสงครามโลกที่ประเทศไทยกำลังตกเป็นประเทศที่ถูกรุมถล่มให้ “เสาหลักของชาติสั่นคลอน” จึงจำเป็นต้องส่งข้อมูลเตือนไปยังประชาชนทั่วประเทศ
“ถ้าประชาชนทุกคนในชาติรู้เท่าทัน มีสติเกาะติดความเป็นจริง มากกว่า ตามกระแสปั่นอารมณ์ จะทำให้เราจะไม่แพ้สงครามโลกโซเชียลครั้งนี้ จึงเสนอให้ หยุดคุกคามประชาชน หยุดคุกคามผู้อื่นทุกรูปแบบ ใครผิดว่าไปตามผิด ชาติบ้านเมืองก็จะเดินหน้าได้ไม่สะดุด ความสงบสุขอยู่ที่สติและปลายนิ้วมือของทุกคน เพราะการศึกษาครั้งนี้ค้นพบชัดเจนว่าอารมณ์ของประชาชนมีส่วนถูกปลุกปั่นจากกลุ่มเคลื่อนไหวในต่างประเทศที่พวกเขาเหล่านั้นไม่ต้องการให้ประเทศแข็งแกร่งไปมากกว่านี้” ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าว