วันที่ 23 ก.ย. 65 นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการที่ กกต. ออกประกาศระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่3) พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 22 ก.ย.เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติสำหรับผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และพรรคการเมือง ในช่วง 180 วันก่อนวันเลือกตั้งว่า กฎหมายเลือกตั้งเดิมจะกำหนดเรื่องของระยะเวลาในการหาเสียงไว้เพียง 30 – 40 วัน แต่ตามกฎหมายใหม่ทำให้การหาเสียงของผู้สมัครและพรรคการเมืองมีความซับซ้อนขึ้น โดยมีทั้งช่วงก่อนระยะเวลา 180 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง ช่วง 180 วัน จนถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง ซึ่งทำให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองสุ่มเสี่ยงผิดต่อวิธีการหาเสียง เช่น การประชุมใหญ่พรรค การเปิดตัวผู้สมัคร การทำไพรมารีโหวต หรือการจัดโครงการที่พรรคทำกับประชาชนโดยได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง หากไม่ใช่เวลาหาเสียงเลือกตั้งการให้เงินกับประชาชนสามารถทำได้ แต่เมื่อมีการเลือกตั้งแล้วการให้เงินจะเป็นความผิด ซึ่งประเด็นเหล่านี้เราจะต้องชี้แจงให้พรรคฟัง
ส่วนการลงพื้นที่จัดกิจกรรมของพรรคการเมือง หากเป็นการหาเสียง ต้องคิดรวมเป็นค่าใช้จ่ายของพรรคการเมือง แต่ถ้าเป็นการหาเสียงโดยที่พรรคการเมืองไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการ ก็คิดเป็นค่าใช้จ่ายของพรรคตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เป็นการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคตามปกติ ซึ่งผู้สมัครถ้าไปทำอะไรที่ไม่ใช่เป็นการหาเสียงก็ไม่ต้องนำมาคิดเป็นค่าใช้จ่าย
“แต่ถ้าอะไรที่ผิดกฎหมายเลย เช่น การช่วยเหลือน้ำท่วม ก่อนช่วงระยะเวลา 180 วัน ให้ได้ไม่เกิน 300,000 บาท ถ้าเกินต้องนำมารวมเป็นค่าใช้จ่าย แต่พอมาในช่วงระยะเวลา 180 วัน จะให้ไม่ได้เลย ถ้าให้ถือว่าผิดกฎหมาย ส่วนผู้สมัครที่มีการขึ้นป้ายหาเสียงไว้ก่อนเข้าช่วงระยะเวลา 180 วัน ก็ต้องมีการปลดป้ายดังกล่าวลงมาและแก้ไขให้ป้ายเป็นไปตามขนาด และติดตั้งตามสถานที่ที่ประกาศ กกต. เรื่องป้ายกำหนด เพราะนับแต่วันที่ 24 ก.ย. จะถือว่าเข้าโหมดการเลือกตั้ง 100% ขณะที่พรรคการเมืองจะจัดระดมทุน เปิดตัวผู้สมัคร ก็สามารถทำได้ตามปกติ ตราบใดที่ไม่ได้ให้ทรัพย์สิน ซึ่งคิดว่าพรรคการเมืองน่าจะเข้าใจเรื่องเหล่านี้ได้ดี”
เมื่อถามว่า ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศเขตเลือกตั้ง ผู้ที่จะลงสมัครอาจสับสนในเรื่องของวิธีการหาเสียง นายแสวง กล่าวว่า ตามระเบียบให้อ้างอิงเขตเลือกตั้งเดิม ตามประกาศของผู้อำนวยการคณะกรรมการเลือกตั้งประจำจังหวัด (ผอ.กกต.จังหวัด) และประกาศ กกต. เกี่ยวกับบัญชีรายชื่อ ซึ่งจะมีการระบุว่าติดป้ายหาเสียงตรงไหนได้ จำนวนเท่าใด ส่วนถ้าเป็นป้ายของหน่วยงานราชการที่ขึ้นให้การต้อนรับรัฐมนตรี และระบุผลงานของพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลรวมอยู่ด้วย ก็ต้องพิจารณา ถ้าเป็นงานในหน้าที่ของรัฐมนตรีหรือส่วนราชการก็จะไม่ผิด แต่ถ้าเกินกว่านี้ต้องดูข้อเท็จจริง ซึ่งส่วนราชการต้องพึงระวังว่าทำได้แค่ไหนอย่างไร แล้วอยู่ในอำนาจหน้าที่หรือไม่ แต่ถ้าเป็นป้ายขอบคุณเช่นในอดีต เคยมีการขึ้นป้ายข้อความพี่น้องชาวโคราชขอขอบคุณโดยระบุชื่อนักการเมืองคนหนึ่ง ซึ่ง กกต. เห็นว่าข้อความในลักษณะดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการหาเสียง และไม่พบว่าใครเป็นเจ้าของก็มีการให้ผอ.กกต.จังหวัดปลดป้ายลง
“เมื่อก่อนระยะเวลาในการหาเสียงจะกำหนดในช่วง 30 – 60 วัน ซึ่งพรรคการเมืองจะต้องหยุดในเรื่องของงานกิจกรรมต่างๆ ของพรรค แล้วมาทำในเรื่องของการหาเสียงเลือกตั้งเท่านั้น แต่คราวนี้ระยะเวลามันยาวเป็น 180 วัน ซึ่งพรรคก็ยังมีเรื่องที่ต้องทำทั้งการจัดประชุมใหญ่สมาชิก จัดระดมทุน จัดเปิดตัวผู้สมัคร ซึ่งก็ต้องระมัดระวังการกระทำที่จะไม่เป็นไปตามวิธีการหาเสียง ขณะเดียวกันสิ่งที่ทำก็ต้องคำนวณให้ดีว่าจะต้องคิดเป็นค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งหรือไม่ เพราะขณะนี้ยังไม่รู้ว่าค่าใช้จ่ายในการหาเสียงจะถูกกำหนดไว้ที่เท่าไหร่ อีกทั้งเมื่อมีประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งก็จะเข้มข้นขึ้น อยากให้ผู้ที่จะสมัครและพรรคการเมืองพิจารณาให้ดี อะไรที่ไม่ควรทำก็อย่าทำ ซึ่งตรงนี้ก็ต้องแยกกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการของหน่วยงานรัฐ และรัฐบาลซึ่งมีหน้าที่ดูแลประชาชน” นายแสวง กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากมีการยุบสภาเกิดขึ้น สิ่งที่ผู้สมัครและพรรคการเมืองทำในช่วงระยะเวลา 180 วัน จะไม่ถูกนำไปคิดไปเป็นค่าใช้จ่าย เพราะเงื่อนเวลาการนับวันเริ่มต้นจนถึงวันก่อนวันเลือกตั้งมันต่างกัน