จากกรณีที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2565 กระทรวงยุติธรรมของรัสเซียออกแถลงการณ์ เพิกถอนใบอนุญาตขององค์กรต่างชาติ 15 แห่ง เนื่องจากมีการดำเนินนโยบายที่ถือเป็นการละเมิดกฎหมายของรัสเซีย
ทั้งนี้ หน่วยงานที่ได้รับผลกระทบตามมาตรการนี้ ซึ่งมีผลบังคับใช้ทันที ตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา รวมถึง องค์การนิรโทษกรรมสากล หรือ “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล” ฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ ( เอชอาร์ดับเบิลยู ) และสถาบันคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรวิชาการเก่าแก่ของสหรัฐ ส่วนที่เหลือเป็นองค์กรอิสระ หรือเอ็นจีโอ ของเยอรมนี
ขณะที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยแพร่แถลงการณ์ ประณามรัฐบาลรัสเซียเป็นผู้ก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครน และต้องเข้าสู่กระบวนการสอบสวนในเรื่องดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2565 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้มีการเคารพต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างจริงจัง หลังจากรัสเซียใช้ปฏิบัติการโจมตียูเครนทั้งทางบกและทางอากาศ เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา
โดยแอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า ความกลัวที่เลวร้ายที่สุดของเรากลายเป็นความจริงขึ้นมา หลังความตึงเครียดที่ทวีขึ้นหลายสัปดาห์ การรุกรานของรัสเซียมีแนวโน้มว่าจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เลวร้ายต่อชีวิตมนุษย์และสิทธิมนุษยชนได้เริ่มขึ้นแล้ว ขณะที่มีการยิงจรวดใส่ฐานทัพของยูเครน และมีรายงานเบื้องต้นเกี่ยวกับการใช้อาวุธสงครามอย่างไม่เลือกเป้าหมายของกองทัพรัสเซีย
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอย้ำอีกครั้งถึงข้อเรียกร้องให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องประกันการคุ้มครองชีวิตของพลเรือน บ้านเรือน และโครงสร้างพื้นฐานของพวกเขาต้องได้รับความคุ้มครอง การโจมตีอย่างไม่เลือกเป้าหมาย และการใช้อาวุธสงครามต้องห้าม จะต้องไม่เกิดขึ้น เรายังเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอนุญาตและอำนวยความสะดวกให้องค์กรด้านมนุษยธรรมสามารถเข้าช่วยเหลือพลเรือนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสงครามด้วย
“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจะเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อเปิดเผยการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศที่กระทำโดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง”
ก่อนหน้านี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ส่งสัญญาณเตือนหากมีความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธระหว่างรัสเซียและยูเครน ว่าจะมีความเสี่ยงที่ร้ายแรงด้านสิทธิมนุษยชน รวมทั้งภัยคุกคามต่อชีวิตพลเรือน การดำเนินชีวิต โครงสร้างพื้นฐาน หรือปัญหาการขาดแคลนอาหารเฉียบพลันที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมทั้งการพลัดถิ่นฐาน ทางแอมเนสตี้ได้บันทึกข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงในระหว่างปี 2557-2558 ในภาคตะวันออกของยูเครน ซึ่งมีการก่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ