เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #ถึงบางอ้อ..บทเรียนใน3 ก๊ก !! “สาเหตุที่มีข้าราชการกังฉินเต็มเมือง” 

#ถึงบางอ้อ..บทเรียนใน3 ก๊ก !! “สาเหตุที่มีข้าราชการกังฉินเต็มเมือง” 

10 September 2017
2891   0

มีเพื่อนส่งข้อความมาให้ในไลน์ เขาบอกว่าเป็นบทเรียนจากสามก๊ก จริงเท็จแค่ไหนไม่รู้ได้ เพราะอ่านสามก๊กตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 20 ปัจจุบันจะ 69 อยู่แล้ว จึงจำไม่ได้ว่ามีข้อความอย่างที่เขาส่งมาให้นี้อยู่ในสามก๊กหรือเปล่า อย่างไรก็ตาม หากมีอยู่จริงตอนนั้น อายุยังน้อย อ่านข้อความที่ว่านี้ คงไม่สนใจอะไรมากนัก เคยดูรายการโทรทัศน์ที่มีผู้ซึ่งเป็นแฟนพันธุ์แท้ของสามก๊ก อ่านสามก๊กแบบเข้าถึงแก่นทางความคิดและกลยุทธ์ในการต่อสู้ของเหล่าบรรดาตัวละครในสามก๊ก ดูแล้วท่านเหล่านั้นช่างอ่านสามก๊กอย่างลึกซึ้งจริงๆ สามารถวิเคราะห์ความคิดและกลยุทธ์ในการกรำศึกห้ำหั่นกันได้อย่างละเอียด มิน่าล่ะ มีบางคนบอกว่าใครที่อ่านสามก๊กเกินกว่า 3 จบคบไม่ได้ (ก็ไม่เห็นด้วยกับคำพูดนี้หรอกนะ เพราะคนที่อ่านสามก๊กหลายรอบ แม้จะได้เรียนรู้อะไรมากมาย แต่ถ้าเป็นคนดีก็คงไม่เลียนแบบตัวละครที่คิดชั่ว เหมือนคนอ่านศรีธนญชัย ถ้าหากเขาเป็นคนดี เขาก็คงไม่เจ้าเล่ห์เพทุบายอย่างเลวร้ายแบบศรีธนญชัยหรอกนะ)

ข้อความที่เพื่อนส่งมาให้ ไม่ว่าจะเขียนขึ้นมาเองหรือเรื่องนี้มีอยู่ในสามก๊กจริงๆ ต้องยอมรับเลยว่า เนื้อหาแสดงให้เห็นความคิดที่แหลมคมและแยบยลมาก เพราะเขากำลังพูดถึงความชั่วร้ายของคนเป็นผู้นำ โดยนำเอาเรื่องราวของความเวลาร้ายนั้นมาเล่าให้เป็นพฤติกรรมของโจโฉ ตัวละครในสามก๊กที่เป็นผู้ร้าย ทำให้เราเห็นว่าปัญหาของบ้านเมืองเกิดจากการมีผู้นำประเทศบางคนคิดอย่างโจโฉนั่นเอง

หัวข้อของข้อความที่เขาเขียนมาก็คือ “สาเหตุที่มีข้าราชการกังฉินเต็มเมือง” โดยข้อความตามท้องเรื่องเป็นบทเรียนที่โจโฉสอนโจผีที่เป็นลูกชายเกี่ยวกับการใช้คนในการปกครองบ้านเมือง

โจโฉ : เจ้าจะปกครองบ้านเมืองแบบไหน?

โจผี : เราควรจะส่งเสริมขุนนางที่ซื่อสัตย์ ส่งเสริมคนดีให้มีอำนาจ

โจโฉ : ผิดแล้ว…เราไม่ควรส่งเสริมขุนนางที่ซื่อสัตย์

โจผี : อ้าว…ทำไมล่ะ?

โจโฉ : ขุนนางซื่อสัตย์จะทำลายเรา ความซื่อสัตย์จะทำให้ประชาชนรักเขา วันหนึ่งเขาจะเป็นอันตรายกับเรา

โจโฉ : เราต้องส่งเสริมขุนนาง “กังฉิน” ไม่ใช่ “ตงฉิน” ให้อำนาจ “กังฉิน” ดูแลบ้านเมือง

โจผี : เลี้ยงเขาให้ดี… ให้เงินทองใช้?

โจโฉ : ผิดแล้ว…จงอย่าเลี้ยงมันให้ “อิ่ม” เสืออิ่มจะไม่กัด…ให้เงินเดือนมันน้อยๆ กังฉินกินไม่พอ มันก็จะเอาอำนาจที่เราให้มัน ไปหาประโยชน์กับประชาชน เมื่อกังฉินใช้อำนาจเราหากิน มันก็จะปกป้องเรา…เราก็จะปลอดภัย (มันคงกลัวจะหมดอำนาจที่นำไปใช้ในการหากินกับประชาชน…ตรงนี้เราเติมเองนะคะ) เท่านั้นยังไม่พอ กังฉินจะมีความผิด เป็นชนักปักหลัง กังฉินคนไหนทรยศ เราก็ใช้ข้อหาที่มันฉ้อราษฎร์บังหลวงเล่นงานมัน


โจผี : แต่ทำอย่างนั้นไปนานๆ ประชาชนจะเดือดร้อนมากขึ้นๆ จะไม่ลุกมาโค่นล้มเราหรือ

โจโฉ : อย่ากลัวไปเลย…การเลี้ยงกังฉินมีวิธีการ (1) จงอย่าเลี้ยงให้อิ่ม (กลัวมันไม่ออกไปฉ้อราษฎร์บังหลวงหารายได้เพิ่ม) และ (2) จงอย่าเลี้ยงให้มันสามัคคี (อ้อ แบ่งแยกแล้วปกครอง)

โจผี : อย่าเลี้ยงให้สามัคคี ทำอย่างไร?

โจโฉ : จงให้อำนาจแก่คนที่ไม่ควรจะได้

โจผี : ทำอย่างนั้นจะได้อะไร?

โจโฉ : ได้กังฉินไว้ปราบกังฉิน…เมื่อกังฉินที่ปกครองเมืองใดทำประชาชนเดือดร้อนมากๆ มีท่าทีจะก่อความวุ่นวายลุกลามมาถึงเรา เราก็ให้อำนาจสั่งการแก่กงฉินอีกเมืองมาโค่นล้มมัน… เมื่อโค่นสำเร็จ…ประชาชนก็จะแซ่ซร้องสรรเสริญเรา…รักเราด้วยแรงนิยมที่ให้คนมาขับไล่กังฉินเก่านี่เอง กับกังฉินใหม่นั้น จะช่วยเราปกครองอย่างสงบเข้าที่เข้าทางต่อไปอีกหลายปี และเมื่อถึงเวลา…เราก็ทำแบบเดิมไปเรื่อยๆ วิธีนี้เราก็จะอยู่ได้ตลอดไป

ใครนะช่างเก็บมาเล่า เพื่อนที่ส่งมาไม่ได้บอก แต่ข้าน้อยขอคาราวะว่าท่านช่วงเป็นคนที่คิดได้ลึกซึ้ง นำเสนอได้อย่างคมเฉียบและแยบยลยิ่งนัก

ท่านผู้อ่านคิดว่าผู้นำบางคนของบ้านเราคิดแบบโจโฉไหมคะ.

หมายเหตุ : บทเรียนจากสามก๊ก เขียนโดย ดร.เสรี วงษ์มณฑา ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ คอลัมน์คิดเหนือกระแส ฉบับวันที่ 10 กันยายน 2560
สำนักข่าววิหคนิวส์