ข่าวประจำวัน » อาชญากรรม » #“ทนายอนันต์ชัย” ชี้ !! โทษประหารชีวิตช่วยลดความทุกข์ทรมานให้ญาติเหยื่อ

#“ทนายอนันต์ชัย” ชี้ !! โทษประหารชีวิตช่วยลดความทุกข์ทรมานให้ญาติเหยื่อ

19 June 2018
766   0

กรมราชทัณฑ์ได้บังคับโทษตามคำพิพากษาของศาลด้วยการประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดชาย ธีรศักดิ์ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 26 ปี ผู้ต้องขังคดีฆ่าชิงทรัพย์ ด้วยการฉีดยาสารพิษ ซึ่งนับเป็นนักโทษคนแรกในรอบ 9 ปี หลังจากบังคับโทษประหารชีวิตด้วยการฉีดยาสารพิษนักโทษครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2552 อย่างไรก็ตามเกิดมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องนี้ โดยมีประชาชนจำนวนมากในโลกโซเชียลที่มองว่าการกระทำดังกล่าวของกรมราชทัณฑ์นั้นเหมาะสมแล้ว แต่กลับกันทางด้าน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออก

แถลงการณ์ ระบุว่า ประเทศไทยละเมิดต่อพันธกิจที่เคยประกาศไว้ ว่าจะเดินหน้าไปสู่การยกเลิกโทษประหาร เพราะเป็นการกระทำไม่สอดคล้องกับกระแสโลก ทั้งนี้ ไม่มีหลักฐานใด ๆ ว่าโทษประหารจะส่งผลให้บุคคลยั้งคิดก่อนกระทำความผิดอย่างชัดเจน การที่ทางการไทยคาดหวังว่ามาตรการเช่นนี้จะช่วยลดการก่ออาชญากรรม จึงเป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง

ล่าสุด นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยผ่านรายการเป็นเรื่องเป็นข่าว ว่า จุดยืนของ แอมเนสตี้ ไม่เคยอ่อนข้อ หรือเห็นด้วยกับผู้กระทำความผิด และคิดว่าควรจะมีการลงโทษถ้ามีการทำความผิดเกิดขึ้น แต่ทั้งนี้ไม่เห็นด้วยว่าการใช้โทษประหารชีวิตเป็นการแก้ปัญหา เพราะมีการศึกษามาแล้วว่าวิธีการนี้ไม่เป็นการแก้ปัญหายุติอาชญากรรมที่ร้ายแรง ถ้าหากมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นก็ควรมีรูปแบบการลงโทษอื่น แล้วเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม

“กระทรวงยุติธรรมก็เคยมีงานวิจัย บอกว่าถึงแม้มีโทษประหารชีวิต ก้ไม่สามารถลดอัตราอาชญากรรมที่รุนแรงลงได้ แล้วก็ไม่มีหลักฐานอะไรบอกว่า ถ้ามีโทษประหารชีวิตจะยับยั้งผู้ที่กระทำผิดไม่ให้กระทำได้ด้วย หรือมีการศึกษาเปรียบเทียบประเทศ เช่น สิงคโปร์ หรือ ฮ่องกง เป็นประเทศที่มีขนาดประชากรและมีความใกล้เคียงกัน แต่ สิงคโปร์ ยังมีการประหารชีวิต ส่วน ฮ่องกง ไม่มีแล้ว แต่จำนวนการเกิดอาชญากรรมกลับพอ ๆ กัน เราคิดว่าในเมื่อสังคมที่ไม่อยากให้มีการฆ่าเกิดขึ้น เราก็ไม่ควรนำการฆ่ามาใช้แก้ปัญหา” ผอ.แอมเนสตี้ กล่าว

นายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความ ระบุว่า คนที่ไม่ได้เป็นญาติพี่น้อง พ่อแม่ หรือเพื่อนฝูงของคนที่ถูกกระทำ จะไม่ทราบถึงความเจ็บปวด นอกจากนี้แนวทางการศึกษาที่มีมานั้น จะเป็นพวกสำหรับที่ไม่เคยถูกกระทำ คือ ไปถามความคิดเห็นจากคนที่ไม่เคยถูกกระทำมาก่อนในเรื่องที่โทษร้ายแรง แต่ถ้าหากหันไปถามพ่อแม่ พี่น้อง หรือญาติ ของเหยื่อที่ถูกกระทำ เช่น ข่มขื่นแล้วฆ่า ซึ่งทุกคน 100 เปอร์เซ็นต์ จะบอกว่าต้องประหารสถานเดียว

“ผมเคยมีคดีหนึ่ง เกี่ยวกับคดีฉ้อโกง เรื่องป้ายทะเบียนปลอม ปรากฏว่าพ่อแม่พี่น้องเขาทุกข์ทรมานใจมาก เพราะว่าคนๆ นี้ที่ถูกยิงนั้น ยิงโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ทุกข์ทรมานแบบแสนสาหัส คือเรารู้ว่าความทุกข์ของเขา แล้วปรากฎว่า ผมไปว่าความในฐานะที่เป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต เขาก็กินไม่ได้นอนไม่หลับ ให้ผมยื่นอุทธรณ์ แล้วปรากฏว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาประหารชีวิต เชื่อไหมว่าวันนี้เขาก้มลงไปกราบศาล เราเห็นแล้วรู้สึกสะท้อนใจ ว่าความทุกข์ทรมานของญาติพี่น้องมันมีมากในการที่ว่าไม่ถูกลงโทษประหารชีวิต การลงโทษประหารชีวิตมันทำให้ความเจ็บปวดลดน้อยลง คือ ชีวิตต้องชดใช้กันด้วยชีวิต” ทนายอนันต์ชัย กล่าว

สำนักข่าววิหคนิวส์