รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังเปิดกว้างเรื่องอยู่ต่อในฐานะประเทศผู้ร่วมลงนามกับความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ทั้งที่เมื่อวานนี้ (17 ก.ย.) โฆษกทำเนียบขาวเพิ่งกล่าวว่า “จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง” จุดยืนในนโยบาย
BBC – นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน กล่าวว่าสหรัฐฯ จะอยู่ร่วมในความตกลงดังกล่าวต่อไป “หากสามารถกำหนดเงื่อนไขที่เราเชื่อว่ายุติธรรมได้”
นายทิลเลอร์สัน ออกมาให้ความเห็นนี้ แม้ว่าทำเนียบขาวจะปฏิเสธรายงานที่ว่าสหรัฐฯ จะยอมอ่อนข้อในจุดยืนเกี่ยวกับความตกลงดังกล่าว ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์ ประกาศเมื่อเดือนมิถุนายนไปแล้วว่า จะถอนตัว เนื่องจาก “เป็นหน้าที่ ที่ต้องปกป้องอเมริกา” และเรียกความตกลงปารีสว่ามีเป้าหมายเพื่อขัดขวาง เอาเปรียบ และทำให้สหรัฐฯ ยากจนลง เพื่อให้ประโยชน์กับจีนและอินเดีย
ประธานาธิบดีทรัมป์ ยังเคยพูดด้วยว่าจะ “เริ่มการเจรจาใหม่เพื่อกลับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงปารีส หรือผลักดันให้เกิดความตกลงใหม่ภายใต้เงื่อนไขที่เป็นธรรมกับสหรัฐฯ”
ทว่า นายทิลเลอร์สัน ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ซีบีเอส ในทำนองที่ว่าสหรัฐฯ อาจจะไม่ถอนตัว “ผมคิดว่า ภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม ประธานาธิบดี ระบุว่าเปิดกว้างที่จะหาเงื่อนไขที่เราสามารถมีส่วนร่วมกับทุกฝ่ายได้ ซึ่งความท้าทายยังอยู่ที่ว่า จะมีสิ่งใดบ้างที่เราตกลงกันได้”
ความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้ สนับสนุนรายงานข่าวเมื่อวันเสาร์ (16 ก.ย.) ที่ว่าประธานาธิบดีทรัมป์ กำลังเปลี่ยนท่าทีที่มีต่อความตกลงปารีส
ในรายงานข่าวที่ออกมาหลังการประชุมของรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม นายมิเกล อารียาส คานเญเต กรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานของสหภาพยุโรป ระบุว่าสหรัฐฯ จะไม่รื้อข้อตกลงปารีสมาเจรจาใหม่ “แต่จะพยายามทบทวนข้อตกลงที่มีอยู่ เพื่อดูว่าจะสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างไร” ซึ่งนับว่าเป็น “คำพูดที่ค่อนข้างแตกต่างจากที่เราเคยได้ยินประธานาธิบดีทรัมป์ กล่าวก่อนหน้านี้”
แต่ในวันเดียวกัน นางซาราห์ ฮัคคาบี แซนเดอร์ส โฆษกทำเนียบขาวได้ออกแถลงการณ์ว่า “ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงจุดยืนของสหรัฐฯ ในเรื่องความตกลงปารีส” และย้ำว่า “ประธานาธิบดีเคยกล่าวชัดเจนแล้วว่า สหรัฐฯ จะถอนตัว ยกเว้นแต่ในกรณีที่จะสามารถกลับเข้าร่วมได้ภายใต้ข้อกำหนดที่เอื้อประโยชน์ให้ประเทศกว่านี้”
ด้านพลเอกเอช อาร์ แม็คมาสเตอร์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดีทรัมป์ ยังพูดในทำนองเดียวกับนายทิลเลอร์สัน ด้วยว่า “เขายังเปิดประตูอยู่ เพื่อให้กลับไปมีส่วนร่วมภายหลังได้ หากมีเงื่อนไขที่ดีกว่าสำหรับสหรัฐฯ”
อย่างไรก็ตาม ถึงจะได้ข้อตกลงที่ดีขึ้น แต่อาจจะยากที่ฐานเสียงของประธานาธิบดีทรัมป์จะเห็นด้วย โดยมีจำนวนมากที่ต่อต้านการลงนามในความตกลงเมื่อปี 2015
ความตกลงปารีส มีผลผูกมัดให้สหรัฐฯ และอีก 187 ประเทศ รักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 2 องศาเซลเซียส เหนือระดับที่วัดได้ในยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม และพยายามยิ่งขึ้นที่จะจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส
สำนักข่าววิหคนิวส์