วันที่ 23 ธ.ค. ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีมีรายงานข่าวว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีมติตีตกข้อกล่าวหากลุ่มนักการเมือง ที่เกี่ยวข้องกับคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจีล็อตสอง เช่น บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ทักษิณ ชินวัตร และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รวมถึง เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย
โดยมีมติฟ้อง พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กับพวก เช่น กลุ่มเอกชนฐานสนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ขณะที่อดีตข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ ปราณี ศิริพันธุ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศถูกชี้มูลความผิดแค่ทางวินัยร้ายแรงแต่ไม่โดนคดีอาญา
พล.ต.อ.วัชรพล เผยว่า เรื่องนี้กรรมการ ป.ป.ช.ใช้ระยะเวลาใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัย จากพยานหลักฐาน การไต่สวน คงต้องรอการรับรองมติ
ส่วนได้มีการชี้แจงเหตุผลที่ไม่ได้มีการฟ้องซ้ำในคดีนี้หรือไม่ ประธาน ป.ป.ช. ย้ำว่า คงต้องรอมติที่ประชุมอย่างเป็นทางการ และการแถลงข่าว เพราะตอนนี้ยังไม่เข้าสู่กระบวนการเปิดเผยอย่างสาธารณะ
สำหรับกรณีมีรายงานว่าที่ประชุมกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ 5 ต่อ 2 ไม่แจ้งข้อกล่าวหา ไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการนโยบายมันสำปะหลัง ในคดีซื้อขายมันสำปะหลังแบบรัฐต่อรัฐ โดยอ้างว่าไม่มีหลักฐานว่า ไตรรงค์ เป็นผู้รับรู้รับทราบในกระบวนการทุจริตนั้น พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า กรรมการแต่ละท่านมีจุดยืนและดุลยพินิจของตนเอง ซึ่งเราก็ต้องเคารพ บางท่านอาจเห็นว่าพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอ
ต่อที่สังคมตั้งข้อสงสัยว่า ไตรรงค์ ในฐานะประธานกรรมการนโยบายมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจ จะไม่รับรู้รับทราบการทำสัญญาซื้อขายได้อย่างไร พล.ต.อ.วัชรพล ระบุว่า ในการตัดสินคดีสำคัญนั้น ต้องใช้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ซึ่งมีทั้งหมด 9 คน แต่ในขณะนี้มี 7 คน และในการชี้มูลความผิดต้องใช้เสียงเกินครึ่งหนึ่งคือ 4 คน ในขณะนี้ หากเสียงคณะกรรมการไม่ถึง ตามกฎหมายก็ต้องยกประโยชน์ให้ผู้ถูกกล่าวหา ถือว่าข้อกล่าวหานั้นไม่มีน้ำหนักเพียงพอ
“การตรวจสอบโดยสังคม หรือหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ก็สามารถมาตรวจสอบการทำงานของ ป.ป.ช. ได้ ซึ่งเราก็เคารพในความเห็นของแต่ละบุคคล และเคารพในข้อซักถาม ข้อสังเกต ของประชาชน หรือหน่วยงาน องค์กรต่างๆ แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่วินิจฉัย ก็ต้องสามารถชี้แจงในสิ่งที่ท่านใช้ดุลยพินิจไป”
สำหรับการเปิดเผยสำนวนการพิจารณาให้สังคมรับทราบ พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า แม้จะมีการชี้มูลไปแล้ว ก็ต้องอาศัยกระบวนการตามกฎหมายคือการรับรองการประชุม หรือรับรองมติ ดังนั้น ข่าวสารที่ออกไปสู่สื่อมวลชนทันทีหลังมีการประชุม ก็ไม่เข้าใจว่าออกไปได้อย่างไร เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวยังไม่เป็นทางการตามขั้นตอนกฎหมาย ดังนั้น ข้อมูลที่ไปสู่สื่อมวลชน อาจไม่ตรงตามข้อเท็จจริงที่จะออกมาเป็นมติในภายหลัง
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในคดีนี้มีการชี้มูลความผิดทางอาญากับผู้ถูกกล่าวหาบางราย จึงต้องรีบรวบรวมพยานหลักฐานและเอกสารทั้งหมดในสำนวน ส่งให้พนักงานสอบสวนภายในกรอบระยะเวลาตามกฎหมาย ตราบใดที่คดีนี้ยังไม่สู่ศาล การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสำนวนคดีก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ เนื่องจากอาจจะกระทบกับสิทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหาได้
“ด้วยกระบวนการทางกฎหมาย เมื่อถึงเวลาก็ต้องเปิดเผย แต่จะเปิดเผยได้ขั้นตอนไหนอย่างไร เพื่อที่จะรักษาสิทธิ คุ้มครองสิทธิของผู้ที่เกี่ยวข้อง”
เมื่อถามว่าในข่าวที่ปรากฏมาเป็นมติ 5 ต่อ 2 ที่ไม่สั่งฟ้อง เป็นความจริงหรือไม่ พล.ต.อ.วัชรพล ยืนยันว่า ต้องรอมติที่เป็นทางการ และผ่านขั้นตอนการรับรองแล้ว
“ผมก็ยังแปลกใจว่าทำไมเราประชุมกันวันนั้นเสร็จเกือบ 2 ทุ่ม แต่ไม่ทันไรข่าวออกไปทั่วแล้ว เก่งมาก แต่จริงหรือไม่จริง ผมก็ยังตอบไม่ได้”