เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #ทุ่งชมพูโมเดล ! คณะกมธ.แก้ปัญหาความยากจนลงพื้นที่ขอนแก่น สร้างทุ่งชมพู

#ทุ่งชมพูโมเดล ! คณะกมธ.แก้ปัญหาความยากจนลงพื้นที่ขอนแก่น สร้างทุ่งชมพู

10 December 2021
432   0

“ทุ่งชมพูโมเดล : จากแห้งผากสู่ชุ่มชื้น”

  1. ห่างออกไป 490 กิโลเมตรจากกรุงเทพมหานคร สู่จังหวัดขอนแก่น คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา มุ่งหน้าต่อไปอีก 90 กิโลเมตร จากตัวเมืองขอนแก่นถึงเป้าหมายพื้นที่ตำบล ‘ทุ่งชมพู’

‘ทุ่งชมพู’ โดยทั่วไปเป็นพื้นที่ราบลุ่มสลับกับที่ดอน และอยู่ใกล้เขื่อนเก็บน้ำ ฤดูฝนบางปีเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ที่ท่ีติดกับริมเขื่อน ส่วนในฤดูแล้งน้ำแห้งขอด เป็นเช่นนี้ชั่วนาตาปี ประชาชนขาดแคลนนำ้ในการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะการทำเกษตร

ตำบลบ้านทุ่งชมพู มีพื้นที่ 41.1 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 10,397 ไร่ เป็นเขตปกครององค์การบริหารส่วนตำบล มี 8 หมู่บ้าน ลักษณะดินในพื้นท่ีเป็นดินร่วนปนทราย และเหนียวปนทรายและดินเหนียวปนหิน เหมาะแก่การปลูกข้าว ทำไร่ ทำสวน มีประชากร 4,760 คน เป็นชาย 2,408 คน หญิง 2,352 คน
จำนวน 1,216 ครัวเรือน

‘น้ำ’ ปัจจัยแก้ความยากจน !?

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เล่าให้ฟังว่า “ก่อนหน้านี้พื้นที่ตำบลทุ่งชมพูทำการเกษตรได้ปีละประมาณ 4 เดือน เพราะต้องรอจากน้ำฝนอย่างเดียว พืชที่ปลูกเป็นหลักก็คือข้าว เมื่อพ้นฤดูฝนจะเป็นพื้นที่แห้งแล้ง ไม่มีน้ำทำเกษตร ชาวบ้านจะเข้าไปรับจ้างในเมือง รายได้แต่ละครอบครัวจัดอยู่ในพื้นที่ยากจน จนเมื่อนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 คือเรื่องการจัดการน้ำในการทำการเกษตรมาใช้ ปาฏิหาริย์จึงเกิดขึ้น”

“หลักคิดก็คือ ปัจจัยการแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกรที่สำคัญคือการจัดการให้มี ’น้ำ’ ทำการเกษตรได้ตลอดปี ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชแบบผสมผสาน เช่น พริก มะเขือเทศ แตงกวา ดอกดาวเรือง และอื่นๆ ที่สามารถเก็บผลผลิตหมุนเวียนไปขายได้ตลอด ตามความต้องการของตลาด ทำให้มีรายได้เป็นรายวัน รายสัปดาห์”

นายสังศิตกล่าวต่ออีกว่า “คำถามคือ เราจะหาน้ำมาจากไหน? น้ำมีอยู่ใต้ดินโดยใช้ระบบบ่อบาดาลน้ำตื้น สูบน้ำด้วยโซล่าร์เซลล์ เมื่อได้แสงอาทิตย์เครื่องก็สูบน้ำโดยอัตโนมัติ พักน้ำไว้ที่สระ สูบขึ้นถังตั้งสูงประมาณ 2 เมตร โดยโซล่าร์เซลล์เช่นเดียวกัน และจะปล่อยน้ำจากถังผ่านท่อระบบน้ำหยดสู่แปลงพืชที่ปลูก”

มี “น้ำ” ชีวิตชาวบ้าน ‘ทุ่งชมพู’ สุกใส มั่นคง

“คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนฯ พบว่า องค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็ก ซึ่งถือว่าเป็นความรู้ใหม่ ฉีกแนวคิดแบบเดิม เป็นนวัตกรรมจากประสบการณ์โดยศูนย์ความรู้และปฎิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำฯ มีนายภัทรพล ณ หนองคาย ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างสำนักงานชลประทานเขต 6 ดำเนินการแบบจิตอาสา เพิ่งเข้าไปให้ความรู้แนะนำการเจาะบาดาลน้ำตื้นเพื่อเกษตรกรรมตั้งแต่ปี 2559 เริ่มต้น 60 บ่อ เมื่อชาวบ้านเห็นตัวอย่างที่ได้ผล ปัจจุบันขยายถึง 500 บ่อ ด้วยทุนของชาวบ้าน ซึ่งลงทุนประมาณบ่อละ 2-3 หมื่นบาท”

‘ผมคิดว่าชุมชนแห่งนี้เป็นตัวอย่างที่ดีว่าเมื่อนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาใช้ คือการพึ่งตัวเอง คนไทยจะมีชีวิตที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่ เกษตรกรต้องทำคือ การเปลี่ยนแปลงความคิดของตนเอง จากความเคยชินที่ออกไปเป็นแรงงานรับจ้างนอกภาคการเกษตรเป็นประจำทุกปี โดยหันมาพึ่งตัวเองให้ได้’

“เทียบกับหนึ่งปีเศษที่ผ่านมา แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง บ้านที่เคยอยู่แบบชาวบ้าน วันนี้เปลี่ยนเป็นบ้านสมัยใหม่ เหมือนบ้านของคนในเมือง สิ่งนี้เป็นดัชนีที่สะท้อนถึงรายได้ที่มั่นคง คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในช่วงโควิดที่คนไทยส่วนใหญ่ยากลำบากแสนสาหัส แต่ครอบครัวในชุมชนนี้กลับมีความสุขมากขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เนื่องจากการพึ่งพาตัวเองได้นั่นเอง “ นายสังศิตกล่าว

นางสาวอาภัสสร ดาถำ บุตรสาวลุงเข็ม (นายฉลอง ดาถำ) เล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า พ่อเข็มปลูกพืชแบบผสมผสาน มี มะเขือเทศ พริก แตงกวา ฟัก ในพื้นที่ 3-4 ไร่ คุณพ่อจะศึกษาความต้องการของตลาด ปลูกพืชผักหมุนเวียนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดจะได้ราคาดี เฉพาะพริกอย่างเดียวเก็บได้วันละ 80 กิโลกรัม ต่อรอบมีรายได้ 3,000 บาท ประมาณ 20,000 บาทต่อเดือน

นายสุรินทร์ หล้าแก้ว อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งชมพู ผู้มีส่วนนำแนวคิดการใช้แหล่งน้ำขนาดเล็ก ‘บ่อบาดาลน้ำตื้น ชุดสูบน้ำพลังงานโซล่าร์เซลล์’ เข้ามาแก้ปัญหาขาดน้ำในพื้นที่ตำบลทุ่งชมพู เมื่อก่อนปลูกพืชเชิงเดี่ยวคือ ข้าวกับอ้อย
‘ลุงเข็ม’ ได้ปรับตัวโดยปลูกพืชผสมผสาน ใช้ระบบบาดาลน้ำตื้นโดยมีชุดโซล่าร์เซลล์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการก่อสร้างสำนักงานชลประทานเขต 6 ทำให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชได้ทั้งปี

‘มีการพัฒนา เรียนรู้ มีประสบการณ์ ทั้งการปลูก การใช้น้ำ รวมถึงการตลาด ทุกครัวเรือนมีรายได้มากขึ้น สภาพความเป็นอยู่ดีขึ้น มีรายได้ ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน อย่าง ’ลุงเข็ม’ รายได้ต่อปีไม่ต่ำกว่าล้านบาท’ นายสุรินทร์ กล่าว

เส้นทางอนาคต การแพร่กระจาย ดุจดังไฟลามทุ่งของแนวคิด ‘ทุ่งชมพู’

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เปิดเผยว่า ปัจจุบันเรามีพื้นที่นอกเขตชลประทาน 116.45 ล้านไร่ หรือประมาณ 78 % เกษตรกรส่วนใหญ่อยู่ในฐานะยากจน การจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กจะเป็นหมุดหมายที่ชี้วัดถึงการที่เกษตรกรสามารถก้าวพ้นจากความยากจนได้ ซึ่งเกษตรกรตำบลทุ่งชมพู ได้แสดงให้เห็นเป็นประจักษ์แล้วว่าหากมีน้ำและมีการทำการเกษตรแบบผสมผสาน การประสบผลสำเร็จในการทำการเกษตรอย่างยั่งยืนก็ไม่ใช่ความฝันอีกต่อไป

ผมมั่นใจว่าด้วยโมเดลของ “ทุ่งชมพู” ที่ใช้ทฤษฎีแหล่งน้ำขนาดเล็กและการทำเกษตรแบบผสมผสานที่สอดคล้องกับความต้องการจะเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง ยั่งยืน พึ่งตนเองได้ ใช้เป็นแนวทางให้กับทั่วประเทศได้ หลักคิดสำคัญคือการจัดการให้มี ‘แหล่งน้ำ’

‘ผมคิดว่า ทุ่งชมพูเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดที่อยากจะเชิญชวนพี่น้องเกษตรกรภาคอีสานรวมทั้งในภาคอื่นๆ ของประเทศด้วยได้มาเห็นของจริง ถ้าเห็นแล้วท่านจะได้มีโอกาสคุยกับลุงเข็มจริงๆ หรือคุยกับคนในชุมชน จะได้รู้ว่าท่านก็สามารถพึ่งตัวเองได้ สามารถจะมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ภายในปีสองปี ถ้าท่านเริ่มต้นทำวันนี้ชีวิตท่านก็ดีขึ้นภายในวันนี้ ถ้าเริ่มต้นปีหน้าชีวิตท่านก็จะดีขึ้นในปีหน้าอย่างแน่นอนเลยครับ’ นายสังศิต กล่าวในที่สุด