ข่าวประจำวัน » #ท้องสนามหลวง ! หรือ ทุ่งพระเมรุ

#ท้องสนามหลวง ! หรือ ทุ่งพระเมรุ

11 September 2020
927   0

สนามหลวง (ทุ่งพระเมรุ) มีที่มาอย่างไร ?

พื้นที่ของ “สนามหลวง” เดิมในอดีตนั้น ไม่ได้มีขนาดใหญ่เหมือนอย่างที่เห็นในปัจจุบัน เพราะมีขนาดเพียงครึ่งหนึ่งของสนามหลวงปัจจุบันเท่านั้นเอง

๏ สนามหลวง ในสมัย “รัชกาลที่ ๑”

“สนามหลวง” มีมาตั้งแต่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ โดยตั้งอยู่ระหว่างพระบรมมหาราชวัง (วังหลวง) กับ พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เป็นบริเวณที่โล่งจัดใช้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดิน และพระราชทานเพลิงพระศพพระบรมวงศ์ คนทั่วไปจึงเรียกว่า “ทุ่งพระเมรุ” ถ้าไม่มี “งานออกพระเมรุ” ก็ปล่อยเป็นที่รกร้างว่างเปล่าราวหนองบึง

๏ สนามหลวง ในสมัย “รัชกาลที่ ๓”

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ไทยกับญวนมีเรื่องวิวาทกันเกี่ยวกับดินแดนเขมร จึงโปรดฯ ให้มีการทำนาที่ “ทุ่งพระเมรุ” เพื่อที่จะให้ญวนเห็นว่าไทยเป็นบ้านเมืองที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร มีเสบียงอาหารพร้อม ที่จะทําสงครามกับญวนได้เต็มที่ เพราะแม้แต่ข้างพระบรมมหาราชวังก็มีการทํานากัน

๏ สนามหลวง ในสมัย “รัชกาลที่ ๔”

ในรัชกาลที่ ๔ ก็ยังใช้ “ทุ่งพระเมรุ” เป็นที่ทํานาหลวงเหมือน อย่างในรัชกาลที่ ๓ ตามเดิม แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว ทรงรังเกียจที่ราษฎรเรียกสนามหลวงว่า “ทุ่งพระเมรุ” พระองค์จึงโปรดให้มีประกาศเรียกว่า “ท้องสนามหลวง” เมื่อพุทธศักราช ๒๓๙๘ ตามประกาศ ดังนี้

“…ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น คนอ้างการซึ่งนานๆ มีครั้งหนึ่งแลเป็นการอวมงคล มาเรียกเป็นชื่อตําบลว่า ‘ทุ่งพระเมรุ’ นั้นหาชอบไม่ ตั้งแต่นี้สืบไป ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้นให้เรียกว่า ‘ท้องสนามหลวง’…”

๏ สนามหลวง ในสมัย “รัชกาลที่ ๕”

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อกรมพระราชวังบวร บวรวิไชยชาญ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ในรัชกาลที่ ๕ เสด็จทิวงคตลง รัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชดำริให้ยกเลิกตำแหน่ง “พระราชวังบวรสถานมงคล” และสถาปนาตำแหน่ง “สยามมกุฎราชกุมาร” ตามอย่างธรรมเนียมราชวงศ์ในชาติตะวันตก ทำให้ตำแหน่งวังหน้าว่างลงไม่มีผู้ดูแลรักษาอาคารราชมณเฑียร

รัชกาลที่ ๕ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปรับขยายสนามหลวงจากเดิมไปยังพื้นที่พระราชวังบวรสถานมงคล หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “วังหน้า” ท้องสนามหลวงจึงได้มีเนื้อที่เพิ่มขึ้นมาอีกถึงเท่าตัว จนมีขนาดเท่าที่เห็นในปัจจุบัน และโปรดฯ ให้ปลูกต้นมะขามไว้รอบท้องสนามหลวงเพื่อให้เกิดความร่มรื่นเหมือนอย่างถนนในต่างประเทศ ซึ่งพระองค์ได้เสด็จประพาสทอดพระเนตรมา

มีการปรับขยายพื้นที่สนามหลวงโดยรื้อแนวกำแพงด้านทิศตะวันออกของพระราชวังบวรสถานมงคลออกทำให้พื้นที่ด้านหน้าของพระราชวังบวรสถานมงคลลดลง พลับพลาสูง ถูกรื้อไปพร้อม ๆ กับแนวกำแพงชั้นนอกด้านทิศตะวันออกของวังหน้า เช่นเดียวกันกับสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ในบริเวณเดียวกัน ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เพื่อปรับขยายพื้นที่และตัดถนนโดยรอบสนามหลวง ตำแหน่งของอาคารนี้ในปัจจุบันจึงน่าจะอยู่บริเวณกลางท้องสนามหลวง บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทางทิศตะวันออกในปัจจุบัน

๏ สนามหลวง ในสมัย “รัชกาลที่ ๖”

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงใช้ประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ รวมทั้งใช้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ เช่น เป็น สนามแข่งม้า สนามกอล์ฟ

๏ สนามหลวง ในสมัย “รัชกาลที่ ๗”

หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ๒๔๗๕ การพระราชพิธีต่าง ๆ เกี่ยวกับการศาสนาตกไปเป็นภารกิจของรัฐบาล ซึ่งได้กระทรวงต่าง ๆ ส่วนการพระราชพิธีประจำเดือนซึ่งเคยถือปฏิบัติสืบต่อมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เช่น พระราชพิธีสนามต่างๆ พระราชพิธีตรียัมพวาย พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ก็ถึงกับหยุดชะงักลงบางพระราชพิธีสูญสิ้นไป ไม่นำมาปฏิบัติต่อไปอีก และบางพระราชพิธีได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ใช้ท้องสนามหลวงเป็นพื้นที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญ ๆ

๏ สนามหลวง ในสมัย “รัชกาลที่ ๙”

สมัยรัชกาลที่ ๙ มีการใช้พื้นที่สนามหลวงเป็น “ตลาดนัด” ตลาดนัดสนามหลวงเกิดขึ้นในปี ๒๔๙๑ สินค้าที่ขายระยะแรกเป็นพืชสวน พืชไร่ ของเกษตรกร เมื่อค้าขายนานเข้าก็สินค้าที่หลากหลายขึ้น โดยขายเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ จนเมื่อปี ๒๕๒๑ รัฐบาล พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ต้องการใช้สนามหลวงเป็นสถานที่งานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงมอบที่ดินย่านพหลโยธินบริเวณสวนจตุจักรด้านใต้แก่กรุงเทพมหานครเพื่อใช้ในกิจการสาธารณะประโยชน์ กรุงเทพมหานครจึงปรับพื้นที่เพื่อให้ผู้ค้าจากสนามหลวงมาอยู่ที่ “ตลาดนัดสวนจตุจักร” ในปี ๒๕๒๕

และเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๒๐ กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียน “สนามหลวง” สนามขนาดใหญ่ ซึ่งมีพื้นที่ ๗๔ ไร่ ๖๓ วา เป็นโบราณสถาน ลงในราชกิจจานุเบกษา

อ้างอิง

สุจิตต์ วงษ์เทศ. กรุงเทพฯ มาจากไหน?,สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘

ผศ.ทรงสิริ วิชิรานนท์. “พัฒนาการตลาดนัด”, วารสารวิชาการและวิจัย มทร.พระนคร ปีที่ ๗ เล่มที่ ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๖