พลัน “ปวิน” อวดอ้างได้รับเชิญสอน มอ.สงขลา ภาพนักวิชาการหนุนม็อบธรรมศาสตร์ไม่ทน เรียกร้อง 10 ข้อ “ปฏิรูปสถาบัน” เด่นชัดขึ้นอีกครั้ง ด้าน “หมอเหรียญทอง” ฮึ่มใส่ “ตุลาเอียง” เรียกร้อง สมช.ตรวจสอบจัดหนัก
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (11 ก.พ. 64) เฟซบุ๊ก Pavin Chachavalpongpun ของ นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น และผู้ลี้ภัยในญี่ปุน โพสต์ข้อความ ระบุว่า
“ดิชั้นได้รับเชิญให้สอนวิชาการต่างประเทศ (สหรัฐฯ-จีน-อาเซียน) ให้กับคณะเศรษฐศาสตร์ มอ.สงขลา วันนี้ค่ะ”
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2020 เพจเฟซบุ๊ก iLaw เคยโพสต์หัวข้อ “ป้ายรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส”
เนื้อหาระบุว่า “แผ่นป้ายไวนิลสีเหลือง มีข้อความเขียนว่า “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” ซึ่งเป็นชื่อหนึ่งของกลุ่มในเฟซบุ๊ก ถูกนำมาติดในพื้นที่การชุมนุม 2563 อยู่ช่วงหนึ่ง
สำนักข่าวประชาไท รายงานไว้ว่า เฟซบุ๊กกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 16 เมษายน 2563 โดย ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการและผู้ลี้ภัยการเมือง มีเนื้อหาส่วนมากเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์และการเมือง กลุ่มดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมถึง 1 ล้านคน และถูกปิดกั้นการเข้าถึงจากประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2563 จากนั้นมีการสร้างกลุ่มใหม่โดยปวิน ชื่อ “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง” ในเดือนธันวาคม 2563 มีผู้เข้าร่วมกลุ่มประมาณ 2 ล้านคน และปัจจุบันยังไม่ถูกปิดกั้น
ประชาไท ยังได้รายงานเพิ่มเติมว่า แผ่นป้าย “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” ในที่ชุมนุมนั้น มีผู้นำป้ายไปชูในที่ชุมนุม ตั้งแต่การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 และยังปรากฏให้เห็นในการชุมนุมที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, นครราชสีมา, ชลบุรี, เชียงราย, เชียงใหม่, ชัยภูมิ, นครปฐม, นครศรีธรรมราช, น่าน, แพร่, มหาสารคาม, รังสิต, ปทุมธานี, ราชบุรี, ลำปาง, สระแก้ว, อยุธยา, อุดรธานี และอุบลราชธานี เป็นต้น อีกทั้งยังมีการจัดทำเป็นสติกเกอร์แจกและทำเสื้อขายในที่ชุมนุมด้วย
อย่างไรก็ตาม ป้าย “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” ไม่ได้ปรากฏตัวอย่างราบรื่นในทุกครั้ง มีหลายพื้นที่ที่ตำรวจหรือเจ้าหน้ารัฐไม่สบายใจจะให้ผู้ชุมนุมถือหรือติดแผ่นป้ายในพื้นที่ชุมนุม เช่น ในการชุมนุมวันที่ 30 สิงหาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้เข้าไปปลดป้ายออกจากจุดติดตั้งบริเวณหน้าเวที เป็นต้น”
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณาจารย์จำนวน 105 คน จากหลายมหาวิทยาลัย ได้ออกแถลงการณ์กรณีข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของผู้ชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน
โดยแถลงการณ์มีเนื้อหาดังนี้ สืบเนื่องจากการจัดเวทีชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน และการปราศรัยในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ณ ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
การปราศรัยครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่มีการพูดถึงบทบาทและปัญหาของสถาบันกษัตริย์และสังคมไทยอย่างเปิดเผย โดยเสนอให้แก้ไขกฎหมายและรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยและให้รักษาสถานภาพของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
การปราศรัยดังกล่าว เป็นการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นอย่างสุจริตและเป็นไปตามขอบเขตของกฎหมาย ดังบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 34 ระบุว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจํากัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน”
สอดคล้องกับหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งรัฐไทยให้พันธกรณีอย่างกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ก็รับรองเสรีภาพในการแสดงออกภายใต้ข้อ 19
คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ (ดังรายชื่อข้างท้ายแถลงการณ์นี้) มีความเห็นว่า การแสดงออกครั้งนี้เป็นการแสดงออกตามครรลองของกฎหมาย บนหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย และข้อเสนอทั้งสิบประการของผู้ชุมนุมมิได้เป็นการละเมิดกฎหมายอาญาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ ไม่ปรากฏข้อความใดที่ถือได้ว่า เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์แต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม ข้อเสนอเหล่านี้ คือ ข้อเสนออย่างตรงไปตรงมาในการธำรงไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
มหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันทางวิชาการ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการแสวงหาทางออกเพื่อความก้าวหน้าของสังคมไทย ควรที่จะประกาศตนเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสในการแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นอันเป็นประโยชน์สาธารณะ ซึ่งควรต้องยกขึ้นมาวิเคราะห์ถกเถียงในพื้นที่สาธารณะ เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ มิใช่หลีกเลี่ยงหรือปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้น ยิ่งไปกว่านั้น มหาวิทยาลัยควรแสดงให้เห็นและสนับสนุนให้สังคมไทยเผชิญหน้ากับปัญหาอันท้าทายนี้ด้วยความอดทนอดกลั้น อันเป็นลักษณะที่สำคัญอย่างยิ่งของสังคมประชาธิปไตย แม้ว่าอาจจะมีความเห็นมากมายที่เราไม่ได้ถูกใจ แต่ตราบใดที่ความเห็นนั้นไม่ได้ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงขึ้นในสังคม การยอมรับความเห็นต่างและการเปิดพื้นที่เพื่อพูดคุยต้องเป็นทางออกที่สังคมอารยะเลือกใช้ การประณามความคิดเห็นแตกต่างว่าเป็นการก้าวล่วงหรือจาบจ้วงนั้นไม่ได้ทำให้สังคมของเราเติบโตทางปัญญา การถกเถียงพูดคุยทั้งหมดจะถูกลดทอนคุณค่าว่าเป็นเพียงความคิดเห็นที่ก้าวร้าว
คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ (ดังรายชื่อข้างท้ายแถลงการณ์นี้) เชื่อว่า ข้อเสนอของผู้ชุมนุมเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ข้อเสนอเหล่านี้เรียกร้องความกล้าหาญในการพูดถึงประเด็นที่มีความอ่อนไหวในสังคมไทย แทนที่จะเบียดขับข้อเสนอเหล่านี้ออกไป สังคมไทยควรเรียนรู้ที่จะยกระดับเพดานความอดทนอดกลั้นและพูดคุยกันด้วยเหตุผล เพื่อความยั่งยืนของประชาธิปไตยต่อไปในสังคม
ที่น่าสนใจ พบว่ารายชื่อ 1 ใน 105 มีนักวิชาการจาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์อยู่ด้วย หลายคน
สำหรับ “ปวิน” คนไทยรู้จักดี ว่า เป็น 1 ในนักวิชาการที่รณรงค์เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์และเรียกร้องให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยเขาเห็นว่า การใช้มาตรา 112 เป็นการที่ทำให้สถาบันกษัตริย์อ่อนแอลง และเป็นการนำมาใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของฝ่ายอนุรักษนิยม
นอกจากนี้ ยังเป็นวิทยากรในหัวข้อ สถาบันกษัตริย์กับการเมืองไทย เมื่อปี พ.ศ. 2556 ที่ลอสแองเจลิส สหรัฐฯ ต่อมาศาลทหารออกหมายจับเขาฐานขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 5/2557 แต่เขาไม่ไปรายงานตัว กระทั่งขอลี้ภัยดังกล่าว
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน วันนี้ พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ และผู้ก่อตั้งองค์กรเก็บขยะแผ่นดิน ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า “เรียน เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เนื่องจากมีการเผยแพร่ข่าวสารโดยผู้กระทำความผิดอาญาร้ายแรงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เองผ่านสื่อสาธารณะ ว่า มีผู้พิพากษาในกระบวนการศาลยุติธรรม ให้การช่วยเหลือผู้กระทำความผิดอาญาร้ายแรงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในกระบวนการยุติธรรม
กระผมเห็นว่า ข่าวสารดังกล่าวนั้น มีความเป็นไปได้สูงและถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นความมั่นคงของชาติ กระผมจึงขอความกรุณาจากสภาความมั่นคงแห่งชาติได้โปรดดำเนินการตรวจสอบว่ามีผู้พิพากษาที่มีพฤติกรรมเป็นแนวร่วมขบวนการอริราชศัตรู หรือไม่แล้วได้โปรดดำเนินการแจ้งให้คณะกรรมการตุลาการทราบเพื่อพิจารณาปลดหรือไล่ออกตามกฎระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้เป็นตุลาการต่อไป
การปฏิบัติการข่าวเพื่อการตรวจสอบตามที่กระผมเสนอนี้เป็นภารกิจด้านความปลอดภัยการรักษาความมั่นคงของชาติ ยิ่งเป็นบุคคลสำคัญที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ภายใต้พระปรมาภิไธย ดังเช่น ตุลาการ หรือผู้พิพากษาด้วยแล้วก็ยิ่งมีความจำเป็นต้องถูกตรวจสอบชั้นความปลอดภัยและชั้นความลับอย่างเข้มงวดและเป็นภารกิจหน้าที่ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ
ทั้งนี้ องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน ซึ่งเป็นภาคประชาชนพร้อมปฏิบัติการข่าวเพื่อสืบค้นและรายงานให้สภาความมั่นคงแห่งชาติเพื่อการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อไป
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
หมายเหตุ สาเหตุที่ผมต้องโพสต์สาธารณะผ่านสื่อสังคมออนไลน์เพื่อให้สาธารณะได้รับรู้ร่วมกันก่อนที่จะนำสารเป็นเอกสารลงทะเบียนต่อไป การนำสารเป็นเอกสารโดยไม่ให้สาธารณะรับรู้แล้วมักจะเกิดปัญหาการเก็บเรื่องเงียบไม่มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมครับ
นพ.เหรียญทอง โพสต์ด้วยว่า หากผมได้ล่วงรู้ว่า มีตุลาการตัวไหนบ้างที่เป็นแนวร่วมอริราชศัตรู ไม่ว่ามันจะมีตำแหน่งสูงเพียงใด มันจะเป็นหัวหน้าคณะผู้พิพากษา หรือมันจะเป็นอธิบดีศาล หรือแม้มันจะมีตำแหน่งสูงสุดจนเป็นถึงประธานศาลฎีกา ผมก็จะเอามันให้ถึงที่สุด ไม่ให้มันได้อาศัยพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์มาช่วยเหลืออริราชศัตรูอย่างเด็ดขาด
นี่คือคำมั่นสัญญาของผม ระวังตัวไว้ให้ดี
หมายเหตุ…ใครก็ตามที่คิดว่าผมหมิ่นศาลก็ให้ไปฟ้อง ผมขอท้า”
ทั้งนี้ อาจเนื่องมาจากวานนี้ (10 ก.พ.) ม.จ.จุลเจิม ยุคล หรือ “ท่านใหม่” โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก จุลเจิม ยุคล ระบุว่า
“อ้าว เรื่องอย่างนี้ ถ้าเป็นจริง มิเรียกว่า ตราชั่งเอียงไหมครับ ?
ในที่สุดความจริงที่ผมและพี่น้องประชาชนอยากจะทราบ ได้ผุดออกมาแล้ว ถึงแม้จะจริงหรือเท็จก็ขอให้อ่านด้วยวิจารณญาณที่ดีด้วยครับ
เป็นการปราศรัย ที่นำโดย น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง โฆษกม็อบราษฎร (พูดเอง) มีบางช่วงบางตอนที่ทางด้านของ Voice TV ได้นำมาออกอากาศ โดยเป็นการหมิ่นศาล และจาบจ้วงสถาบันฯอย่างรุนแรง โดยมีเนื้อหาใจความประมาณว่า
“ศาลส่งสัญญาณมาให้เรา (คณะราษฎร) ว่า เขาจะยื้อได้ถึงแค่วันที่ 14 นี้เท่านั้น ศาลที่เขาอยู่ฝั่งเราที่เขาพยายามช่วยเรา เขายื้อให้ได้ถึงแค่วันที่ 17 เพราะเขาถูกกดดันลงมาเยอะมาก ถูกกดดันมาจากข้างบน ข้างบนที่ว่าคือใคร อำนาจเหนือใคร อำนาจเหนือศาลไปอีกหรอ”
แน่นอน, สิ่งที่น่าจะชี้ให้เห็นจากทั้งสองเรื่อง คือ เครือข่าย “ปฏิรูปสถาบัน” และอาจมีแนวคิดถึงขั้น “ล้มเจ้า”? ในไทยนั้น ไม่ได้มีแต่เฉพาะในกลุ่มคนที่นำเสนอแนวคิด และความเห็นออกมาอย่างชัดเจนเท่านั้น หากแต่ยังมีแทรกซึมอยู่ในทุกวงการ หลายภาคส่วน โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นคนระดับนำ หรือ มีบทบาทสูง จึงไม่แปลกใจที่เริ่มแสดงตัวตนออกมา และนับวันยิ่งท้าทายฝ่ายที่เห็นต่าง หรือต่อต้าน ชนิดไม่กลัวอีกต่อไปแล้ว หรือว่าไม่จริง!?