26 พ.ย.60 ที่ห้องประชุมชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในการเสวนาเวทีสาธารณะ นโยบายหลักของชาติด้านเกษตรกรรม “มองการณ์ไกลประเทศไทย ทิศทางเกษตรกรรมที่ยั่งยืน” จัดโดยโครงการสร้างคนดี มองการณ์ไกลไทยรุ่งเรือง มูลนิธิหมอเสม พริ้งพวงแก้ว ร่วมกับเครือข่ายวัฒนธรรมข้าวใหม่
แนวหน้า – นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยากร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ประสานงานเครือข่ายวัฒนธรรมข้าวใหม่ ปาฐกถาตอนหนึ่งว่า เราได้พูดถึงเกษตรกรรมยั่งยืน รวมถึงเกษตรพอเพียงจากในหลวง ร.9 ที่เป็นปรัชญาลึกซึ้ง แต่เราจะมองพัฒนาการความจริง ผ่านวิถีพัฒนาเศรษฐกิจ บ้านเราเป็นเกษตร 1.0 สมัยเริ่มต้น ร.5 เปิดประตูค้าขายกับประเทศตะวันตก ขณะนั้นเศรษฐกิจดี มีการขายข้าว ดีบุก ยางพารา จนถึง พ.ศ.2500 จอมพลสฤษดิ์ เราพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นอุตสาหกรรม เข้าสู่เกษตร 2.0 ตอนนั้นเน้นข้าว ปอ มันสำปะหลัง มัน ข้าวโพด เป็นเกษตรเชิงเดี่ยว พร้อมกับเกิดอุตสาหกรรมการนำเข้า สิ่งทอ ชิ้นส่วนต่างๆ ในช่วงที่เราพัตนาอุตสาหกรรม หวังจะเป็นเสือตัวที่ 5 เป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ก็เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้ภาพความฝันดังกล่าวยังไม่บรรลุ
การจะพัฒนาไปสู่เกษตรกรรม ต้องมีความต่อเนื่องด้านเทคโนโลยี ความรู้ การพัฒนาคน หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ การแก้ปัญหากลายเป็นเรื่องประชานิยม รัฐบาลทักษิณใช้เงินแจกจ่ายคนในชนบท มากกว่าการพัฒนาเทคโนโลยี ความรู้ พัฒนาคน น่าแปลกใจหลังเปลี่ยนรัฐบาลมาถึงรัฐบาล คสช.กลับดำเนินอย่างต่อเนื่อง ยังไม่ได้เป็นเกษตร 4.0 แต่อย่างใด แนวนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง เป็นวิสัยทัศน์ยาวไกล ในหลวง ร.9 เป็นสิ่งที่มาถูกจังหวะเวลา ให้เราหันมาสนใจมรดกพื้นฐานของเรา เพาะปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ หากเปรียบเทียบประชานิยมกับเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ต่างกันมาก อันหนึ่งไม่คำนึงถึงฐาน เรื่องคุณภาพ เรื่องประสิทธิภาพ แต่อีกอันคำนึงถึงของทั้ง 3 อย่าง พอเกิดรัฐบาล คสช. เกิดทีมเศรษฐกิจ มรว.ปรีดิยาธร เทวกุล มาถึง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่มีความฝันอยากให้เป็นเกษตร 4.0 อยากให้เกิดสมาร์ท ฟาร์มมิ่ง มีความตั้งใจอยากให้ผลผลิตเกษตรได้ผลสูง ต้นทุนต่ำลง นำปัญญาประดิษฐ สมองกล เทคโนโลยีโดยไม่ใช้แรงงานคนมาช่วย ขณะเดียวกันชาวนายังเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีได้น้อย และเทคโนโลยีราคาแพงมาก ตนจึงกลัวว่าฝรั่งจะหลอกขายเทคโนโลยีอีก
“ผมไม่ได้ต่อต้านเกษตร 4.0 เป็นเรื่องดี แต่ต้องดู 4.0 เป็นแบบไหน เป็น 4.0 แบบวิชาหรืออวิชชา ถ้าแบบวิชา คือเราเข้าใจมัน เข้าใจโลก เข้าใจตัวเรา กับ 4.0 แบบอวิชชา ที่ไม่ได้เข้าใจเทคโนโลยี พื้นฐานมาจากไหน แต่มาโฆษณาเพื่อหวังผลสำเร็จทางการเมือง ที่น่ากลัวคือ การหวังซื้อของจากต่างประเทศ หวังเงินทอน ส่วนแบ่ง ซื้อแพงมหาศาล และถ้าคิดถึงเพียงตัดตอน ข้าม 3.0 โดยยังไม่ได้ถกกันเลย แต่กระโดดไป 4.0 อีกทั้ง คุณภาพการศึกษาบ้านเรายังอ่อนมากทั้งภาษา คณิตศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เช่นเดียวกับเรื่องเศรษฐกิจพิเศษก็เป็นแบบอวิชชา ที่หวังถึงทุนต่างประเทศมาลง ไม่คำนึงถึงสิ่งต่างๆ คสช.ควรดูว่า ได้ดำเนินการได้อย่างรอบครอบ รัดกุมเพียงพอหรือไม่ อย่าไปหวังผลสำเร็จง่ายๆ แบบวิธีคิดนักธุรกิจเทคโนแครตบางส่วน ที่หวังผลสำเร็จไว้ก่อน เรื่อง 4.0 ต้องคิดอย่างมาก ยังมีเรื่องอื่นอีกมาก ทั้งเรื่องคน การศึกษา ที่จะทำให้ฐานมั่นคง” นายธีรยุทธ กล่าว
นายธีรยุทธ กล่าวว่า การเกษตรยังมีส่วนอื่นที่สำคัญ เช่น ความมั่นคงทางด้านอาหาร ประเทศเราค่อนข้างกิน ใช้ได้ดี ส่งออกได้ แต่ต้องประคับประคองดูทิศทางใหญ่ๆ ให้ดี คงสามารถแก้ปัญหานี้ได้ ส่วนอีกอันคือ การบรรลุถึงการทำให้สินค้าอาหาร เกษตร เป็นระดับพรีเมี่ยมให้ได้ เพราะโลกให้ราคาของที่เด่น มีคุณภาพ มีความปลอดภัย ดังนั้นของต้องมีสุขอนามัยที่ดี เรื่องนี้รัฐบาล ชาวไร่ ชาวนา ต้องช่วยกันจัดการ เรื่องคุณค่าเฉพาะมีทั้งเรื่องที่อาศัยใบบุญเก่า เรามีทรัพย์ในดินสินในน้ำ ข้าว ผัก ผลไม้มีชื่อเสียงมาก ต้องเร่งทำ เร่งสร้าง เรื่องคุณภาพให้ชัดเจน การบรรลุสู่พรีเมี่ยมไม่ได้เป็นเรื่องง่าย ต้องใช้ความพยายามหลายส่วน เช่นเรื่องข้าว ต้องมีสถาบันวัดเรื่องข้าว ที่จะสามารถประกาศว่า ข้าวของประเทศบางสายพันธ์มีดีอย่างไร เช่น มีการวัดค่าความหอม ความเหนียวนุ่ม หยุ่น ออกมาจะเป็นอย่างไร ในประเทศญี่ปุ่น มีการวัดตรงนี้ออกมา ทั้งหมดไม่ใช่เรื่องฟลุ๊ค ต้องเป็นองค์ความรู้ การพัฒนาสิ่งเหล่านี้ เราต้องช่วยกันทำ ทั้งในส่วนของรัฐบาล สถานการศึกษา ภาคเอกชน และชาวนา
สำนักข่าววิหคนิวส์