ข่าวประจำวัน » เศรษฐกิจ » ‘ธีระชัย’อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เขียนบทความแฉสภาพศก.สวนทางGDP

‘ธีระชัย’อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เขียนบทความแฉสภาพศก.สวนทางGDP

28 November 2017
775   0

28 พ.ย. 2560 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เขียนบทความ “เศรษฐกิจรัฐบาล คสช.: 3 ปีแห่ง 1 ‘มุ่ง’ กับ 2 ‘ไม่’ ซึ่งเป็นอันตรายต่อประเทศ!” ลงในเฟซบุ๊คส่วนตัว “Thirachai Phuvanatnaranubala” สรุปความจากที่ตนไปร่วมบรรยายในเวทีเสวนา “เศรษฐกิจไทยตกต่ำถึงจุดนี้ได้อย่างไร” ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อ 26 พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา โดยความตอนหนึ่งได้อธิบายถึงคำถามกรณีการที่รัฐบาลโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พยายามชูว่าตัวเลข GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศโตขึ้น แต่เหตุใดประชาชนคนระดับล่างถึงไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีอย่างที่รัฐบาลพยายามบอก

ซึ่งคำตอบคือ

1.GDP ประกอบด้วยกิจกรรมระหว่างบุคคลเป็นห่วงเส้นด้ายเล็กๆ นับล้านๆ ห่วงโซ่ในแต่ละวัน ถักทอเป็นผ้าผืนใหญ่คือเศรษฐกิจของประเทศ แต่เมื่อรวมกันเป็นจีดีพีของประเทศแล้ว จะพบว่าสัดส่วนรายได้กระจายลงไปห่วงด้ายคนระดับล่างน้อยกว่า ระดับบน ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าโครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีปัญหาแบบนี้มาหลายรัฐบาลแล้ว แต่สมัยก่อนคนจนพออยู่ได้ เพราะ GDP ขยายร้อยละ 5-6 ต่อปี แต่พอเศรษฐกิจโลกกดดันให้ GDP ไทยหล่นลงมาเหลือร้อยละ 3 ทำให้คนจนอยู่ลำบาก

2.รัฐบาลก่อนหน้ามีโครงการแทรกแซงรายได้สินค้าเกษตรที่ทำให้ห่วงเส้นด้ายระดับรากหญ้ายังเชื่อมโยงต่อกันไปได้ แต่รัฐบาล คสช. ไม่มีโครงการแบบนี้ กลับปล่อยให้เงินบาทแข็งทำให้เกษตรกรได้เงินเป็นบาทน้อยลง ห่วงเส้นด้ายรากหญ้าจึงขาดตอน

และ 3.รัฐบาล คสช. ขาดกลยุทธ์ที่ทำให้ห่วงเส้นด้ายรากหญ้ากลับมาเชื่อมต่อถึงกัน แต่กลับบริหารตามตำราเศรษฐกิจตะวันตกที่เน้นขับเคลื่อน GDP ด้านบนจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่และนักลงทุนต่างชาติ จึงไม่มีโครงการที่ขับเคลื่อน GDP ด้านล่าง

นายธีระชัย ยกตัวอย่างปัญหาเป็นรายโครงการ อาทิ

1.บัตรคนจน หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ไม่ได้เปิดให้พ่อค้าเท้าเปล่าข้างถนนเข้ามาร่วมได้รับประโยชน์

2.ช็อปช่วยชาติ ช่วยให้ผู้มีรายได้สูงที่ประหยัดภาษี แต่รัฐบาลต้องใช้รายได้ทางอื่นชดเชย เช่นภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงเป็นการนำเงินของคนจนมาชดเชยภาษีที่รัฐบาลลดให้แก่คนรวย

3.โครงการประชารัฐ ที่อาศัยนายทุนระดับชาติเป็นผู้ขับเคลื่อน ซึ่งผู้ขับเคลื่อนย่อมจะต้องการแบ่งผลประโยชน์

4.โครงการ EEC หรือระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่จะเปิดให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปีจะดันให้ราคาที่ดินสูงขึ้น ทำให้เจ้าของที่ดินรายใหญ่ เจ้าของนิคมอุตสาหกรรม ได้ประโยชน์ และยังมีการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จมาตรา 44 ที่ลัดขั้นตอนการพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งที่อธิบายว่าอุตสาหกรรมที่จะลงทุนในอีอีซีล้วนเป็นอุตสาหกรรมปลอดมลภาวะ คำอธิบายจึงขัดกับการใช้มาตรา 44 เต็มๆ

5.การออกประกาศกรมสรรพากรที่ยกเว้นภาษีในการโอนที่ดินเข้าในชื่อของบริษัทที่เปิดช่องให้ผู้ถือครองที่ดินระดับหมื่นไร่แสนไร่ สามารถกระจายออกจากชื่อของตนเองไปไว้ในบริษัทต่างๆ ที่ตั้งขึ้น ซึ่งแปลกประหลาดที่อนุญาตให้มีผลย้อนหลังก่อนออกประกาศกว่า 7 เดือน และ 6.แนวคิดแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชที่จะทำให้เกษตรกรรายย่อยมีแต่เสียเปรียบบริษัทเจ้าของพันธุ์ที่เป็นของนายทุนระดับชาติและบริษัทข้ามชาติ แต่โชคดีที่การต่อต้านทำให้ระงับไป

บทความฉบับเต็ม :https://www.facebook.com/thirachai.phuvanatnaranubala/posts/1805051462861984

ขอบคุณที่มาจาก : http://www.naewna.com

ภาพจาก แนวหน้า

สำนักข่าววิหคนิวส์