ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #’ธีระชัย’ เขียน จม.เปิดผนึกถึง ‘บิ๊กตู่’ ขอให้ทบทวนการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการพลังงานของรัฐ

#’ธีระชัย’ เขียน จม.เปิดผนึกถึง ‘บิ๊กตู่’ ขอให้ทบทวนการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการพลังงานของรัฐ

9 January 2018
475   0

MGR Online – อดีต รมว.คลัง เขียนจดหมายถึงนายกฯ หลัง ครม.วางนโยบายพลังงานเตรียมลดบทบาทของ กฟผ. พร้อมยื่นข้อสังเกต 4 ข้อ ประกอบไปด้วยการขอให้ทบทวนการให้เอกชนเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ, ทบทวนการหยุดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใหม่, ทบทวนข้อเสนอให้ กฟผ. แยกระบบสายส่งไฟฟ้า และขอให้เผยแพร่เงื่อนไขการประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณให้ประชาชนอย่างเต็มที่

วันนี้ (9 ม.ค.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเขียนจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่อง “การให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการของรัฐ” โดยมีข้อสังเกตจำนวน 4 ข้อ เกี่ยวกับการขอให้ทบทวนการให้เอกชนเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ, ทบทวนการหยุดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใหม่, ทบทวนข้อเสนอให้ กฟผ. แยกระบบสายส่งไฟฟ้า และขอให้เผยแพร่เงื่อนไขการประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณให้ประชาชนอย่างเต็มที่ โดยมีรายละเอียดดังนี้

จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เรื่องการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการของรัฐ

กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ในนโยบายเรื่องพลังงาน โดยวางแผนจะลดบทบาทของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อให้เอกชนดำเนินงานบางอย่างแทน และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๑ ว่าได้ส่งต่อข้อมูลไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแสดงความคิดเห็นนั้น เนื่องจากข้อพิจารณาดังกล่าวมีประเด็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมาย ข้าพเจ้าจึงขอกราบเรียนข้อสังเกตแก่ท่านเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ ดังนี้

ข้อ ๑. ควรมีการทบทวนการให้เอกชนเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ

เนื่องจากนโยบายรัฐบาลในอดีตที่เปิดให้เอกชนเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงแทน กฟผ. ได้นั้น ได้นำไปสู่สถานการณ์ที่ประเทศมีสำรองการผลิตไฟฟ้าส่วนเกินมากกว่าระดับปกติร้อยละ ๑๕ อย่างมากมาย โดยรัฐและประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นผู้แบกรับภาระจากการมีสำรองส่วนเกินที่มากเกินความจำเป็นดังกล่าว ท่านจึงสมควรพิจารณาทบทวนว่าในการให้เอกชนเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานก๊าซแทน กฟผ. นั้น ได้มีการให้แรงจูงใจแก่เอกชนจนกระทั่งมีความเสี่ยงในเชิงธุรกิจเหลือน้อยเกินกว่าที่ควรหรือไม่ อันเป็นการกระตุ้นให้เอกชนทุ่มเทยื่นข้อเสนอสร้างโรงไฟฟ้าแหล่งใหม่จนกระทั่งมีกำลังผลิตสำรองที่สูงเกินกว่าระดับปกติมากเช่นนี้

ในโครงการธุรกิจปกตินั้น เอกชนย่อมจะมีความเสี่ยงในด้านการตลาด เช่น อาจจะไม่สามารถขายสินค้าได้ปริมาณตามที่หวัง หรือในราคาที่หวัง ซึ่งถ้าหากนโยบายรัฐบาลต่างๆ ในอดีตได้สร้างแรงจูงใจ จนกระทั่งบิดเบือน และทำให้ความเสี่ยงเชิงธุรกิจของเอกชนลดลง ไม่ว่าโดยนโยบาย Take or Pay ซึ่งเหมาะสมเฉพาะสำหรับรัฐวิสาหกิจ แต่ได้ถูกนำไปใช้กับเอกชน หรือการคุ้มครองให้ไม่มีคู่แข่งรายใหม่โดยระบบโควต้า เป็นต้น ถ้าหากมีมาตรการเช่นนี้ ย่อมทำให้ประเทศเสียประโยชน์เนื่องจากประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นผู้รับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการบิดเบือนดังกล่าว

นอกจากนี้ ในสภาวะปัจจุบันที่ยังมิได้มีการโอนระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติทั้งหมดไปให้แก่กระทรวงการคลังเพื่อเปิดให้บุคคลที่สามเข้าใช้ท่อ (Third Party Access) การแข่งขันในธุรกิจก๊าซธรรมชาติจึงมิได้เป็นไปโดยเสรีอย่างแท้จริง และในการให้เอกชนเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงนั้น เอกชนทุกรายก็ใช้แหล่งก๊าซเดียวกันอันส่งผ่านระบบท่อเดียวกันกับ กฟผ. ภาคเอกชนจึงมิได้มีข้อได้เปรียบ กฟผ. ที่จะทำให้ต้นทุนของก๊าซต่ำกว่า กฟผ. ในสาระสำคัญ จึงควรพิจารณาทบทวนว่า ทฤษฎีที่ว่าการให้เอกชนเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง แทน กฟผ. นั้น มีผลทำให้ประชาชนโดยรวมได้ประโยชน์มากขึ้น เป็นความจริงหรือไม่ เท่าใด โดยเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะให้ชัดเจน และในขณะที่การแข่งขันในธุรกิจก๊าซธรรมชาติยังมิได้เป็นไปโดยเสรีอย่างแท้จริงนั้น ท่านควรระงับมิให้เอกชนรายใหม่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงไว้ก่อน

นอกจากนี้ ข้อพิจารณาว่ากรณีที่ กฟผ. เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงนั้น จะทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายของประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าสูงกว่าเอกชน โดยอ้างว่า กฟผ. ดำเนินงานในลักษณะของการบวกค่าดำเนินการเข้าไปในต้นทุนจริง (Cost Plus Basis) ในขณะที่เอกชนอาจจะเอากำไรน้อยกว่านั้น การเปรียบเทียบดังกล่าวจะต้องคำนึงด้วยว่า กรณีที่ กฟผ. อาจจะมีรายได้หรือค่าดำเนินการต่อหน่วยที่สูงกว่าเอกชนอยู่บ้างนั้น รายได้และค่าดำเนินการที่สูงกว่าจะตกเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในที่สุด เนื่องจากรัฐเป็นเจ้าของ กฟผ. ทั้งหมดแต่ผู้เดียว และข้อคิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ว่าการพิจารณานโยบายอนาคตควรอยู่ภายใต้กรอบค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มลดลงนั้น ก็ควรจะคำนึงถึงประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน

ข้อ ๒. ควรทบทวนการหยุดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใหม่

ตามข่าวในสื่อมวลชนนั้น มีข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ให้หยุดนโนบายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใหม่ๆ ไว้ก่อนเพื่อทบทวนนโยบายและต้นทุนในเรื่องค่าไฟฟ้าทั้งระบบนั้น ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าน่าจะทำให้ประเทศเสียประโยชน์ในการพัฒนาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทั้งที่กำลังผลิตสำรองส่วนเกินที่มีอยู่มากเกินไปในขณะนี้เกิดจากการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง ดังนั้น ท่านจึงควรพิจารณาหยุดการรับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงมากกว่า ส่วนแนวคิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานว่าไม่ควรมีการกำหนดโควต้าอีกต่อไป โดยถ้าหากองค์กรใดสามารถผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าได้ในราคาถูกกว่า กฟผ. ก็ไม่ควรกีดกันนั้น สมควรนำมาใช้เฉพาะแก่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ แต่ในขณะนี้ไม่สมควรนำมาใช้กับการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง

ข้อ ๓. ควรทบทวนข้อเสนอให้ กฟผ. แยกระบบสายส่งไฟฟ้า

ตามข่าวในสื่อมวลชนนั้น มีข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ให้กฟผ. แยกระบบสายส่งไฟฟ้าออกต่างหากจากกิจกรรมการผลิตไฟฟ้า โดยข้าพเจ้าคาดว่าผู้เสนอน่าจะประสงค์ให้ กฟผ. เน้นแต่เฉพาะบทบาทการเป็นเจ้าของระบบสายส่งไฟฟ้า โดยปล่อยให้เอกชนทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตแทน แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าสมควรทบทวนแนวคิดนี้ เนื่องจากรัฐจำเป็นจะต้องกำหนดสัดส่วนขั้นต่ำสำหรับกำลังผลิตในกรรมสิทธิ์ของรัฐ เพื่อมิให้อำนาจต่อรองด้านการผลิตไฟฟ้าไปอยู่ในมือภาคเอกชนมากจนเกินไป ส่วนการบริหารงานระบบสายส่งไฟฟ้าของ กฟผ. ควบคู่ไปกับกำลังผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนขั้นต่ำนั้น ก็มิได้เป็นอุปสรรคต่อการมีประสิทธิภาพใดๆ

ข้อ ๔. ควรเผยแพร่เงื่อนไขการประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณให้ประชาชนอย่างเต็มที่

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับการประมูลสัมปทานปิโตรเลียมหมดอายุแหล่งบงกชและเอราวัณ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการวางแผนเรื่องไฟฟ้าของประเทศ โดยรัฐมนตรีระบุว่าตามกรอบเวลาจะมีความชัดเจนปลายเดือนมกราคม ๒๕๖๑ และจะออกเงื่อนไขการประมูล (TOR) ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ข้าพเจ้ามีความเห็นว่ากรอบเวลาดังกล่าวน่าจะไม่รอบคอบและไม่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากภายหลังจากที่กระทรวงพลังงานได้เผยแพร่ร่างเงื่อนไขการประมูล (TOR) และคณะกรรมการปิโตรเลียมได้ออกประกาศที่เกี่ยวข้องไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีภาคประชาชนรวมถึงข้าพเจ้าที่วิพากวิจารณ์และเสนอให้มีการทบทวนแก้ไขหลายประเด็น แต่กระทรวงพลังงานยังมิได้เผยแพร่ประมวลข้อวิจารณ์จากบุคคลต่างๆ และข้อเสนอแนวคิดของกระทรวงพลังงานต่อข้อวิจารณ์เหล่านั้น ท่านจึงควรสั่งให้กระทรวงพลังงานดำเนินการโดยให้เวลาภาคประชาชนโต้แย้งอีกพอสมควร

ข้าพเจ้าจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๕๙ ที่บัญญัติให้รัฐต้องเปิดเผยข้อมูล มาตรา ๗๗ ที่บัญญัติให้รัฐต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องในการตรากฎหมาย และมาตรา ๑๖๔ (๑) ที่บัญญัติให้รัฐต้องบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศโดยเคร่งครัด

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
สำเนาเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

สำนักข่าววิหคนิวส์