15 มี.ค.62- พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวประเด็นเบื้องหลังข้อเสนอ “เลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์” ว่า
มีหลายเวอร์ชั่นแต่คล้ายกันคือ “ชนะส.ส.เขตใช้คะแนนน้อยกว่าบัญชีรายชื่อ” แล้วสรุปว่า “ใน 250 เขตที่มีพรรคเพื่อไทย ต้องเลือกพท.ให้ชนะมากที่สุด” ต้องได้ไม่น้อยกว่าเขตละ 50,000-70,000 เสียง
เพื่อไทยส่งส.ส. 250 เขต ในจำนวนนี้ เป็นเขตเก่าที่พท.ครองอยู่เดิม 204 เขต คะแนนสูงสุดปี 54 คือ 89,000 และชนะต่ำสุด 25,000 เฉลี่ยเขตละ 51,000 แต่เขตชนะที่ต่ำกว่า 50,000 มีถึง 106 เขต และที่ได้เกิน 60,000 มีเพียง 48 เขตเท่านั้น
เชื่อว่า ปี 62 เพื่อไทยจะได้ไม่เกินปี 54 และอาจน้อยกว่า จุดสูงสุดของพท.คือ ปี54 ที่ขบวนเสื้อแดงยังยิ่งใหญ่เข้มแข็งเป็นเอกภาพ มีกระแส “ยิ่งลักษณ์ฟีเวอร์” แต่วันนี้ไม่มีขบวนเสื้อแดงที่เป็นเอกภาพเข้มแข็งอีกต่อไป ไม่มีกระแสฟีเวอร์ใด ๆ ส.ส.ไหลออกไปจำนวนหนึ่ง มุ้งท้องถิ่นทั้งเหนือตอนล่าง กลาง ตะวันออกแยกตัวไปตั้งพรรคจังหวัด และมีเสียง “คนรุ่นใหม่” อีก 8.3 ล้านคน พท.อาจรักษาเขตเดิมในภาคเหนือ-อีสานไว้ได้ แต่ชนะเพิ่มไปถึง 250 เขตโดยทุกเขตได้ 50,000-70,000 เสียงนั้นเป็นไปไม่ได้
ข้อเสนอ “เลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์” ไม่พูดถึงความจริงสองข้อคือ
หนึ่ง เมื่อพท.ชนะเขตมากจนไม่มีสส.บัญชีรายชื่อ เพราะส.ส.เขตที่ได้มีเกินกว่าส.ส.ที่คำนวนตามสัดส่วนคะแนนทั่วประเทศ คะแนนส่วนเกินที่ชนะในเขตนั้นก็ “ตกน้ำหายไป” เช่น พท.ชนะพรรคที่สองไป 20,000 คะแนน ส่วนเกินคือ 19,999 คะแนนจะตกน้ำ ไม่ถูกใช้คำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อใด ๆ
สอง ใน 250 เขตที่เทคะแนนทั้งหมดให้พท. คะแนนที่เหลือไปไหน? ย่อมไม่ไปพรรคปชต.ทางเลือกอย่างแน่นอนเพราะมวลชนที่รักปชต.เทคะแนนให้พท.ไปหมดแล้วนี่! คะแนนที่เหลือย่อมเป็นของปชป. พรรคท้องถิ่น พปชร. กปปส. ที่จะยังได้สส.บัญชีรายชื่อ
พรรคปชต.อื่น ๆ จึงเหลืออีกแค่ 100 เขตที่ไม่มีพท. แล้วยังได้ส.ส.บัญชีรายชื่อลดน้อยลงไปมากเพราะต้องได้ถึง 100,000 เสียงต่อสส.หนึ่งคนอีกด้วย ตามที่นพ.สรุพงษ์คำนวณไว้ว่า ยิ่งพท.ชนะเขตมากเท่าใด คะแนนต่อส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคนจะยิ่งสูงขึ้น
ข้อเสนอ” เลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ เลือกให้ฝ่ายประชาธิปไตยชนะ” ฟังดูดี แต่เป็นคำลวง เพราะคำว่า “ฝ่ายปชต.” นี้หมายถึงเพื่อไทยพรรคเดียวเท่านั้น จึงควรพูดกันตรง ๆ ว่า “เลือกให้เพื่อไทยชนะทั้ง 250 เขตถล่มทลาย ส่วนเกินให้ทิ้งน้ำไป เบียดขับพรรคอื่นทั้งหมดให้เหลือน้อยที่สุด” ต่างหาก
ความจริงคือ ในระหว่างเลือกตั้ง ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “แนวร่วมฝ่ายปชต.” ทุกพรรคเป็นคู่แข่งกันหมด แย่งคะแนนกันทุกเม็ด ข้อเสนอ “เลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์” จึงเป็นกลยุทธ์เอาความกลัวมาขู่ “เลือกพท.เท่านั้น อย่าเลือกพรรคอื่น ไม่เลือกพท. ลุงตู่มาแน่”!
แนวทางที่ถูกต้องคือ “เลือกพรรคที่เรามั่นใจว่า จะเข้าไปยืนหยัดสู้เพื่อปชต.อย่างมั่นคงแน่วแน่ให้ได้เสียงมากที่สุด”
คนที่มั่นใจในเพื่อไทย ในผลงานและประสบการณ์บริหาร ก็ไปโหวตพท.
แต่บทเรียนอดีตสอนเราว่า การเทคะแนนท่วมท้นให้พรรคใหญ่พรรคเดียว (แบบปี 54) ไม่ใช่หลักประกันว่า พรรคนั้นจะแน่วแน่ในปชต. จะไม่มี “ไอ้โม่ง” มาสั่งให้ทำอะไรโง่ ๆ บ้า ๆ ที่สร้างความฉิบหายให้กับปชช.และปชต.เหมือนที่เกิดมาแล้วหลายครั้ง! จึงต้องมีบรรดาพรรคปชต.ทางเลือกเข้าไปเป็นกลุ่มก้อนร่วมสู้และประกันว่า การออกนอกลู่นอกทาง (ถ้ามีอีก) จะไม่สร้างความเสียหายมหาศาลเหมือนที่ผ่านมา.
Cr.thaipost
สำนักข่าววิหคนิวส์