นักเลง นำ การทหาร
บริบททางการเมืองที่กำลังสร้างความสับสน ที่ฝ่ายขวาแตกเป็นพรรคเล็กพรรคน้อย หลังจากตกอยู่ในห้วงกลอุบาย ตามตำรากลยุทธ์ที่ 33 ของซุนวู แบ่งแยกศัตรู และกลยุทธ์ที่ 3 เอาศัตรูรบกับศัตรู โดยมีความพยายามนำมาใช้กว่า 1 ปี จนทำให้ 3 ป.เริ่มร้าว แต่ก็หวังย้อนรอยแฝงด้วยกลอุบาย แตกทัพเรือโจโฉ เมื่อ 2500 ปีก่อน ที่หวังจะย้อนเอาชนะในภายหลัง อันเป็นตำราโบราณที่รู้กันดาษดื่น
ในขณะที่ฝ่ายซ้ายยังคงเป็นปึกแผ่นเป็นหนึ่งเป็นอันเดียวกัน แถมกติกาก็ได้เปรียบมากกว่าในสูตร 100 บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จึงมั่นใจมากกว่าจะชนะแบบ “แลนด์สไลด์”หรือถล่มทลาย เพราะฝ่ายขวานั้นอ่อนแอ แตกกันเอง แบ่งพรรคเป็นย่อยๆ เกือบสิบพรรค
ในตัวแปรต้นแล้วโอกาสที่ฝ่ายขวาจะได้รับชัยชนะนั้น จึงเป็นเรื่องยากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา แต่ก็มิใช่จะไม่สามารถที่จะเอาชนะได้ การรวมกำลังตามหลัก “นักเลงนำการทหาร” ในปัจจุบันได้เดินมาถูกทางแล้วแม้จะล่าช้ากว่ากำหนดถึง 3 เดือน จากนี้ไปต้องเข้าสู่ยุทธการ และยุทธวิธี ที่จะนำความสำเร็จสู่เป้าหมาย
โดยเริ่มให้กระทรวงมหาดไทย เป็นเจ้าภาพในการจัดกิจกรรม “มหกรรมกีฬาท้องถิ่นแห่งชาติ” ละลายพฤติกรรม ท้องถิ่นทั้งระบบ ทั้งกำนันผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น กว่า 7500 แห่ง ทั่วประเทศ จัดกิจกรรมตั้งแต่ระดับ หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค ไล่มาตามลำดับท้องถิ่น แล้วทุกแห่งให้มาร่วมกันระดับประเทศ ในกรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรมติดต่อกัน 7 วัน
กิจกรรมที่ให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมประกอบด้วย ประกวดนางงาม แม่บ้าน เด็ก คนแก่ สาวสอง ดนตรี แข่งขันกีฬา ประกวดการกู้ภัย ช่วยเหลือคนในที่สูง ประกวดกวี ให้ผู้นำท้องถิ่นประกวดแสดงวิสัยทัศน์ในการรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จัดแข่งขันกิจกรรมของ อพปร. ทสปช. มีถ้วยรางวัลชนะเลิศของนายกรัฐมนตรี พร้อมเงินสด รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ฯลฯ อันเป็นแรงจูงใจสำคัญ
ส่วนเบี้ยเลี้ยงการร่วมกิจกรรม ค่าเดินทาง ตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย โดยจัดงบประมาณจากกระทรวง หรืองบกลางที่ออกจากนายกรัฐมนตรี กิจกรรมต้องให้เสร็จสิ้นในช่วงก่อนวันเลือกตั้ง 7 วัน จะทำให้ได้ความสามัคคีของท้องถิ่นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แล้วให้ผู้รับผิดชอบท้องถิ่นเข้าประสานความร่วมมือในกิจกรรม ทำให้เปรียบดั่งแม่เหล็กที่ท้องถิ่นจะต้องวิ่งเข้าหาโดยปริยาย
ขณะเดียวกันควรปรับปรุง “ตำรวจอาสา” ที่ปัจจุบันมีอยู่ทั่วประเทศ ละลายพฤติกรรม ด้วยการจัดอบรมฟื้นฟู เน้นการฝึกใช้กำลัง ความรู้ ความสามารถในการปราบปรามยาเสพติด ในชุมชน ตำบล หมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด เป็น เจ้าพนักงาน คอยช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ที่ระบาดอย่างหนัก ตั้งคณะกรรมการ ที่มีอดีตนายทหารระดับสูงเป็นคณะกรรมการ ออกระเบียบเพิ่มเติม เรื่องเครื่องแต่งกาย การพกอาวุธ สวัสดิการ เงินตอบแทน แบบขั้นบันได เช่น ผู้ช่วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. อส. ทหารพราน เป็นต้น
อันจะเป็นการได้กำลังของประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ในการแก้ไขปัญหาในท้องถิ่น ปัญหาจะผ่อนหนักเป็นเบา หลังจัดกระบวนการบังคับบัญชา เป็น “หน่วยตำรวจอาสา” หลังการฝึกอบรมอย่างเข้มข้น 15-30 วัน ปรับปรุงเครื่องแต่งกาย ระเบียบ เช่น ให้เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย จากเดิมเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงาน แล้วให้โอกาสสำหรับผู้ปฎิบัติหน้าที่มีผลงานดี ก็ควรพิจารณารับมาเป็นข้าราชการ โดยอาจงดเว้นระเบียบบางประการ จากนั้นจึงจัดปล่อยแถวอย่างเป็นทางการ จัดแสดงความสามารถ ประกวด จัดกิจกรรม ของหน่วย แบ่งเป็น จังหวัด ภาค และประเทศ
โดยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นเจ้าภาพในการจัดกิจกรรม โดยใช้งบประมาณจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ งบกลางมาจัดกิจกรรมดังกล่าว แล้วให้ทั้งประเทศ มารวมจัดกิจกรรม ก่อนการเลือกตั้ง 1 เดือน อันเป็นการนำประชาชนมาร่วมมือกับภาครัฐ ในลักษณะเดียวกัน มหาดไทยควรออกคำสั่ง จัดการอบรม ทบทวน ประกวด กำลัง อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อพปร.) และ ไทยอาสาป้องกันชาติ (ทสปช.)
ต้องยอมรับว่าอันกาลนี้ ถ้าแม่นยำในยุทธศาสตร์ เดินตามเป้าหมาย จะได้กำลังพล แนวร่วม ที่มาจากประชาชน นับสิบล้านคนที่เป็นฐานรากของปิรามิดของโครงสร้างการปกครอง อันเป็นกลไกสำคัญในการสร้างชาติ ที่จะมาด้วยใจ ความพร้อม เปี่ยมล้นไปด้วยความรักชาติ สมประโยชน์ สนุกสนาน เป็นหนึ่งเป็นอันเดียวกัน ทำให้ความรัก ความสามัคคี จะเข้มข้นมากขึ้น ทำให้ชาติ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตลอดไป
“ จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด จะรักชาติจนชีวิตเป็นผุยผง จะยอมตายหมายให้เกียรติดำรง จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา “
ดร.เทอดศักดิ์ เจียมกิจวัฒนา
16 มกราคม 2566