คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ระบุ ‘นโยบายไทยนิยม’ ควรเน้นไปที่การสร้างรายได้ การเข้าถึงปัจจัยการผลิตและการประกอบอาชีพของประชาชน ไม่ควรเป็นการช่วยเหลือแบบสังคมสงเคราะห์หรือเป็นครั้งคราว แต่ต้องสร้างระบบสวัสดิการสังคมที่เข้มแข็งยั่งยืน
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
11 ก.พ. 2561 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้แสดงความเห็นต่อผลกระทบของการเลื่อนการเลือกตั้งต่อเศรษฐกิจ ว่าพระราชบัญญัติเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC ที่ผ่าน สนช. จะส่งผลกระตุ้นภาคการลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนจากต่างชาติ ขับเคลื่อนการขยายตัวเศรษฐกิจภาคตะวันออกโดยยังมีผลไม่มากนักในระยะนี้โดยจะมีผลทางบวกมากขึ้นหลังการเลือกตั้ง และขอเสนอให้ออกระเบียบและเงื่อนไขเพิ่มเติมด้านสิ่งแวดล้อม การถ่ายโอนเทคโนโลยี สภาพการจ้างงาน และการดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งการให้สัมปทานต่างชาติในโครงการขนาดใหญ่ต้องรอบคอบและโปร่งใส
ไทยต้องมีมาตรการที่ชัดเจนในเตรียมรับการถ่ายโอนเทคโนโลยีและกระบวนการฝึกอบรมทักษะแรงงานอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ในอนาคต สินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงจะได้เป็นสินค้าที่ไทยผลิตเองได้ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่สินค้าที่ผลิตในประเทศไทยเท่านั้น และ ต้องตระหนักด้วยว่า เราไม่ควรแลกการเติบโตทางเศรษฐกิจอันเป็นผลจากการลงทุนของต่างชาติ กับความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คุณชีวิตของผู้คน ตลอดจนการยอมเป็น “อาณานิคมทางเศรษฐกิจ” ของทุนข้ามชาติโดยที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์อะไร ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่ได้กระจายไปยังประชาชนส่วนใหญ่และกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มทุนขนาดใหญ่และกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น
การเปิดเสรีให้ “ทุนขนาดใหญ่ต่างชาติ” เข้ามารับสัมปทาน หรือ ร่วมถือครองความเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เช่น สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบัง เส้นทางรถไฟและระบบรางในภาคตะวันออก พัฒนาที่ดินของรัฐ โครงการบริหารจัดการนํ้า เป็นต้น ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ รัดกุม และสร้างความสมดุลให้ดี ไม่ให้ “ไทย” ต้องตกเป็นเบี้ยล่างและกลายเป็น “อาณานิคมทางเศรษฐกิจ” ของกลุ่มทุนขนาดใหญ่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การเปิดเสรีการลงทุนของต่างชาติจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนส่วนใหญ่ก็ต่อเมื่อระบบการบริหารประเทศ การให้สัมปทานมีความโปร่งใส มีธรรมาภิบาล มียุทธศาสตร์ที่ดี รักษาดุลอำนาจอย่างเหมาะสมในโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อให้ผลประโยชน์จากการลงทุนกระจายมายังคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่คนไทยกลุ่มเล็กๆหรือทุนขนาดใหญ่ข้ามชาติเท่านั้
น
ดร. อนุสรณ์ กล่าวต่อว่าโครงการลงทุนส่วนใหญ่ที่จ่อเข้ามาลงทุนใน EEC จะยังรอดูความชัดเจนว่า ไทยจะกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ หากรัฐบาล คสช. ประกาศวันเลือกตั้งให้ชัดเจนจะเป็นผลดีต่อการลงทุน และ ควรเปิดให้ประชาชนและพรรคการเมืองมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นและดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ตามปรกติ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและเกิดการตรวจสอบถ่วงดุลในการบริหารประเทศและการกำหนดนโยบาย นอกจากนี้ การเปิดกว้างดังกล่าวยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดวิกฤตการณ์การเมืองรอบใหม่ได้อีกด้วย
การเลื่อนการเลือกตั้งไปเรื่อยๆ ด้วยเหตุผลอันใดก็ตามย่อมส่งผลกระทบต่อภาคการลงทุนจากการสร้างความไม่แน่นอน และเพิ่มความขัดแย้งทางการเมืองโดยไม่จำเป็นอันบั่นทอนต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน ความน่าเชื่อถือต่อรัฐบาลจะถดถอยลง
ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยฯ กล่าวถึง นโยบายไทยนิยม ว่าควรเน้นไปที่การสร้างรายได้ การเข้าถึงปัจจัยการผลิตและการประกอบอาชีพของประชาชน เพิ่มผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขัน ความสามารถในการร่วมมือและบูรณาการกันผ่านระบบสหกรณ์และการรวมกลุ่มในชุมชน
ไม่ควรเป็นการช่วยเหลือแบบสังคมสงเคราะห์หรือเป็นครั้งคราว แต่ต้องสร้างระบบสวัสดิการสังคมที่เข้มแข็งยั่งยืน ตนขอเสนอ แนวคิด “ประชาธรรม” ในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มอำนาจให้ประชาชนทางด้านเศรษฐกิจ ลดอำนาจผูกขาด เพิ่มการแข่งขัน ลดความเหลื่อมลํ้าและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การคืนอำนาจให้ประชาชนผ่านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะทำให้เกิดการกระจายอำนาจมากขึ้น การกระจายอำนาจจะเป็นปัจจัยจำเป็นต่อการลดปัญหาความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจ การกระจายตัวของรายได้และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ระบบการเมืองที่ส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมและมีเสรีภาพจะช่วยลดการผูกขาดในระบบเศรษฐกิจ และทำให้คนส่วนใหญ่มีส่วนในการกำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง
Cr.thaipost
สำนักข่าววิหคนิวส์