นับถอยหลังเลือกตั้ง อบต.
ท้องถิ่นเล็กสุดแฝงผลประโยชน์ไม่เล็ก
ราษฎรต้องเข้มสะกัดนักโกงกิน
อบต.คือท้องถิ่นระดับฐานล่างสุด แต่มีจำนวนมากที่สุด คือ 5,300 แห่ง จากท้องถิ่นทั้งหมดทั่วประทศ 7,850 แห่ง
หากเทศบาลจะใกล้ชิดกับประชาชนในเขตชุมชนที่มีความเป็นสังคมเมืองมากที่สุดแล้ว อบต.ก็จะใกลีชิดกับประชาชนในเขตชนบทมากที่สุดเช่นกัน จึงเป็นที่หมายปองและพยายามจัดตั้งคนที่เป็นเครือข่ายของตนไว้ของนักการเมืองระดับชาติของแต่ละจังหวัด ประกอบกับในแต่ละพื้นที่ มักจะเรื่องศักดิ์ศรีของ’คนใหญ่ในเขตเล็ก’เยอะ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องผลประโยชน์จากงบพัฒนาท้องถิ่น ทำให้การแข่งขันในระดับท้องถิ่นในช่วงหลังๆมานี้ ดุเดือดเข้มข้นไม่แพ้ระดับชาติ เงินซื้อเสียงสะพัด อัตราต่อหัวก็สูงกว่าการเลือกตั้งระดับชาติ ยังไม่นับงบเหมารถสำหรับให้คนที่ไปทำงานต่างถิ่น ได้กลับมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ไม่ต่างจากเลือกกำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน แต่เรื่องงบและผลประโยชน์ อบต.มีมากกว่า
และเพราะงบท้องถิ่นในแต่ละปีมีมาก ทั้งยังมาจากหลายทาง ทั้งงบพัฒนา
งบอุดหนุน เงินรายได้จากส่วนแบ่งภาษี ที่ทำให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นตามมามากมาย เห็นได้ชัดจากตัวเลข ปีงบ 63 ที่ปปช.เปิดเผยสถิติคดีที่มีการร้องเรียนเรื่องทุจริตโครงการไม่โปร่งใส มีมากถึง 6,477 เรื่อง ร้องโดยตรงกับ ปปช. ถึง 3,949 เรื่อง กล่าวหามหาดไทยมากที่สุด 1601 เรื่อง รองลงมาคือกล่าวหาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1,579 เรื่อง ยังไม่นับเรื่องร้องเรียนสะสมจากปีอื่นๆ
ทั้งนี้เนื่องจากอยู่ใกล้ชิดกับเรื่องงบประมาณในโครงการต่างๆ ที่เป็นช่องทางทำมาหากินได้ และส่วนใหญ่การทุจริตในโครงการ มักจะผ่านการสุมหัวร่วมมือกันหลายคน แม้แต่การร่วมมือกับฝ่ายตรวจสอบอย่างสภาอบต. หรือแม้แต่ร่วมมือกับฝ่ายตรงข้าม แต่แบ่งผลประโยชน์ลงตัว
ผู้บริหารท้องถิ่น ยังมักเจอข้อกล่าวหาแสดงบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน เป๊นเท็จ หรือไม่ยื่นแสดงบัญชีต่อ ปปช. ปีหนึ่งๆจำนวนไม่น้อย เช่น เฉพาะปี 63 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง พิพากษาลงโทษถึง 90 คดี เป็นระดับนายกฯและรองนายกอบต.มากสุด 61 ราย
การเลือกตั้งท้องถิ่น โดยฉพาะอบต.ที่คาดว่า จะมีขึ้นก่อนสิ้นปี 64 ด้านหนึ่งถือเป็นการคืนสิทธิเลือกตั้งท้องถิ่นให้กับประชาชน ทั้งที่ความจริง ผู้บริหารท้องถิ่นชุดก่อน หมดวาระไปแล้วตั้งแต่ปี 61 แต่อีกด้านหนึ่ง เท่ากับช่องทางทุจริต กอบโกยผลประโยชน์โดยนักการเมืองท้องถิ่นที่คดในข้องอในกระดูก ขาดจริยธรรมและธรรมาภิบาล ก็จะเริ่มเปิดแง้มแล้วเช่นกัน
ประชาชนในพื้นที่อย่ามัวแต่ดีใจที่จะได้ใช้สิทธิ์ในช่วงเวลาสั้นๆในคูหาเลือกตั้ง แต่ต้องช่วยกันสร้างกลไกและเครือข่าย เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและจัดการกับนักการเมืองประเภทนี้ตั้งแต่บัดนี้ ควบคู่กับการรณรงค์เสริมสร้างความเข้าใจในหมู่ชาวบ้านให้ทราบถึงบทบาท ภาระหน้าที่ และความรับผิดชอบของบริหารท้องถิ่นที่ดี อันจะมีผลถึงประชาชนโดยตรง
กว่าจะได้เลือกตั้ง ทั้งส.ส.และระดับท้องถิ่น ดูยุ่งยากเนิ่นนานเหลือเกิน เมื่อได้สิทธิ์แล้วต้องทำอย่างคุ้มค่าครับ
ประจักษ์ มะวงศ์สา