ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #นายกฯยัน! ไทยนิยมรัฐบาลไม่ได้มุ่งหวังผลประโยชน์ แค่สร้างความเข้มแข็งประเทศ

#นายกฯยัน! ไทยนิยมรัฐบาลไม่ได้มุ่งหวังผลประโยชน์ แค่สร้างความเข้มแข็งประเทศ

2 February 2018
454   0

นายกฯ ยืนยัน “ไทยนิยม” รัฐบาลไม่ได้มุ่งหวังผลประโยชน์ แค่ต้องสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศ ไม่แก้ปัญหาความยากจนที่ผิดๆ ออกนโยบายสาธารณะแบบเหมารวม หว่านแห-เน้นสูตรสำเร็จที่ไม่มีจริง ทำเลยเถิดไปสร้างกระแสประชานิยมที่ผิดๆ

ไทยรัฐ – เมื่อเวลา 20.15 น. วันที่ 2 ก.พ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนว่า การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนนั้น เราจำเป็นต้องตระหนัก และยึดมั่นในความเป็นไทย ศึกษาประวัติศาสตร์ของบรรพบุรุษ และความเป็นชาติอย่างลึกซึ้ง ต้องเปิดกว้างรับความเปลี่ยนแปลง หรือพลวัตรของโลกอย่างรู้เท่าทันจึงจะได้ชื่อว่าเรามีภูมิคุ้มกันตามศาสตร์พระราชา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการไทยนิยม ที่กล่าวถึงบ่อยครั้งในช่วงนี้
เนื่องจากมีความสำคัญมากในการวางรากฐานอนาคต หากคนไทยเราลืมหรือไม่เข้าใจรากเหง้าของตนแล้ว ก็จะเหมือนการสร้างขื่อ – แป – หลังคาบ้าน บนเสา บนพื้นบ้านที่รากฐานสั่นคลอน ที่พร้อมจะล้มครืนลงได้โดยง่าย เราควรได้ภาคภูมิใจร่วมกัน
ทั้งนี้ อยากจะบอกว่า การขับเคลื่อนด้วยหลักคิดไทยนิยมนั้น เป็นสิ่ง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งในมิติสังคม ที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับความเข้มแข็งในมิติเศรษฐกิจของประเทศ การแก้ปัญหาความยากจนของประเทศที่ผ่านๆ มา มีปัญหาหลัก 2 ประการ ที่เราต้องยอมรับก็คือ 1. คือการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่อาจจะละเลยในเรื่องการพัฒนาทางสังคมไปด้วย และ 2. คือการแก้ปัญหาที่ขาดความเข้าใจที่ลึกซึ้งจนเราไม่รู้ว่าอะไรคือความจน ไม่รู้ว่าใครบ้างที่จนจริง คนเหล่านั้นอยู่ที่ไหน ปัญหาของเขาคืออะไรกันแน่ เราก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน
มาตรการต่างๆ ออกมา หรือนโยบายสาธารณะที่ออกมา อาจจะเป็นลักษณะ “เหมารวม – หว่านแห – เน้นสูตรสำเร็จที่ไม่มีจริง” ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาที่แตกต่างของแต่ละครัวเรือนได้ นำไปสู่การใช้งบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพ บางครั้งก็เลยเถิดไปสร้างกระแส “ประชานิยม” ที่ผิดๆ ก็ยิ่งแย่ไปใหญ่สำหรับโครงการ “ไทยนิยมยั่งยืน” ที่รัฐบาลกำลังทำอยู่นั้น ขอย้ำและทำความเข้าใจอีกครั้ง ว่ารัฐบาลไม่ได้มุ่งหวังเพื่อผลประโยชน์อื่นใดเลย แต่เป็นเรื่องของการบริหารราชการแผ่นดินที่ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของ ในหลวง รัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ก็คือ “เข้าใจ เข้าถึงและพัฒนา” รัฐบาลจัดทำโครงสร้างการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง

จะเห็นได้ว่า 3 ปีที่ผ่านมา มีตั้งแต่ระดับนโยบาย ระดับนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ขับเคลื่อน และระดับพื้นที่ เพื่อจะขับเคลื่อน และสร้างการรับรู้ถึงงานและนโยบายของคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ที่เรียกว่า กขป. และคณะกรรมการบริหารราชแผ่นดิน ตามกรอบการปฏิรูปของประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เช่น ยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูป สัญญาประชาคม หน้าที่พลเมือง ประชาธิปไตย การเลือกตั้ง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การแก้ไขปัญหาความยากจน ปัญหายาเสพติด เป็นต้น
แต่ตนเห็นว่าปัญหาที่ผ่านมานั้นเรายังขาดกลไกขับเคลื่อนสำคัญในระดับพื้นที่ โดยเราจะต้องมีทั้งท้องถิ่น ในพื้นที่นอกจากนั้นก็เป็น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ข้าราชการในพื้นที่ของทุกกระทรวง ที่ต้องเข้าใจงานในลักษณะบูรณาการ ทั้งการจัดทำแผนงาน โครงการ งบประมาณให้สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่ ต้องรู้งานของคนอื่นด้วย เราจะต้องสร้างการรับรู้ สร้างความเชื่อมโยงเกี่ยวข้อง ให้ประชาชนได้เข้าใจ จะได้เกิดความร่วมมือในลักษณะ “ประชารัฐ” ได้ชัดเจนขึ้น ในระดับพื้นที่เราจะต้องนำงบประมาณ ทั้งงบรายจ่ายประจำ งบงานนโยบาย งบเพิ่มกลางปี หรืองบอื่นๆ มาทำให้เกิดการประสานสอดคล้องกันให้ได้ในทุกพื้นที่ เพื่อช่วยให้การทำงานของรัฐบาลมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล มากยิ่งขึ้น ประชาชนได้รับประโยชน์โดยแท้จริง และรวดเร็วทันการณ์
โดยประชาชนก็จะต้องมีการทำประชาคมหมู่บ้าน ความต้องการอะไรต่างๆ เหล่านี้ ให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่อย่างนั้นก็ทำไม่ตรงกันอีก ก็ขอให้เข้าใจ ร่วมมือกัน ในระดับพื้นที่ด้วย ไม่ใช่มุ่งแต่โครงการที่รัฐบาลจะกำหนดลงไป ในเรื่องสำคัญก็ได้แก่ เรื่องน้ำ เรื่องเกษตร เรื่องท่องเที่ยว บริการ ค้าขาย อาชีพอิสระ ต้องไปดูแลให้ถึงครัวเรือน ถึงพื้นที่ เพื่อจะได้มีรายได้ที่พอใช้อย่างยั่งยืน เราต้องเริ่มด้วยความพอเพียงก่อนให้ได้

สำนักข่าววิหคนิวส์