ขณะนี้ทุ่งบางบาล อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นที่รู้จักกันอย่างดีในฐานะที่มีน้ำท่วมมาก และท่วมมานานกว่า 1 เดือนแล้ว
ทุ่งบางบาลนี้ผมรู้จักมานาน เพราะบ้านผมอยู่อ่างทอง ไม่ห่างกันนัก แม่ผมมีญาติและกัลยาณมิตรอยู่ที่บางบาลหลายคน เพราะตาผมเป็นคนบางบาล ตอนเด็กๆผมเคยตามแม่ไปที่บางบาบหลายครั้ง ทั้งช่วงฤดูแล้งและฤดูน้ำท่วม ถ้าฤดูน้ำท่วมก็ต้องเหมาเรือหางยาวไป ซึ่งก็ไม่ยากเพราะเรามีแม่น้ำเชื่อมถึงกัน คือแม่น้ำเจ้าพระยา ผมจึงรู้ถึงความกว้างใหญ่ของทุ่งบางบาลเป็นอย่างดี
สมัยนั้นเห็นได้ชัดเจนว่าบ้านทุกหลังล้วนยกใต้ถุนสูง เพราะว่าทุกปีจะมีมีฤดูน้ำท่วมสูง คือน้ำจากแม่น้ำไหลขึ้นฝั่งเข้าท่วมใต้ถุนบ้านแล้วเลยไหลอเข้าท่วมทุ่งนา ซึ่งดูเวิ้งว้างสุดลูกหูลูกตา ทุกบ้านจะต้องมีเรือ เพราะในฤดูน้ำท่วมจะต้องเดินทางทางเรือ บางบ้านก็มีเรือยนต์เล็กๆเพื่อไปไหนมาไหนได้สะดวก บางบ้านก็มีเรือหางยาวไว้วิ่งรับส่งผุ้โดยสารเป็นอาชีพเสริมจากการทำนา เพราะในสมัยนั้นการเดินทางของชาวบางบาลต้องใช้เรือเป็นเป็นหลัก แม้ในฤดูแล้งน้ำในแม่น้ำก็ยังมีมากพอสำหรับหรับการเดินทางทางน้ำ ในขณะที่การเดินทางทางบกยังไม่สะดวก เพราะยังไม่มีถนนหนทาง ออกไปหลังบ้านก็มีแต่ทุ่งนา
เรือหางยาวสมัยนั้นมีทั้งเรือขนาดยาว บรรทุกคนได้มาก และมีเรือขนาดสั้นเรียกว่าเรือ 2 ตอน โดยเรือทั้ง 2 ลักษณะจะใช้เครืองยนต์ขนาดใหญ่เรียกว่าเครื่องอีซุซุ ถ้าเป็นเรือ 2 ตอนจะวิ่งเร็วมาก เรือแต่ละลำจะตั้งชื่อเรือของตนอย่างน่าสนใจ เพื่อให้คนจำได้ โดยเขียนด้วยตัวอักษรอย่างสวยงามไว้ที่ข้างเรือทั้ง 2 ข้างในบริเวณถัดจากส่วนหัวเรือมาเล็กน้อย เมื่อคนจะกล่าวถึงเรือลำใดจะไม่นิยมกล่าวถึงเจ้าของเรือ แต่จะใช้เรียกชื่อเรือ เช่น เรือเพชรน้อย เรือมนต์รักขุนแผน
ชุมชนใหญ่ของชาวบางบาลที่ผมรูจักดีเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ 2 ฝั่งคลองบางบาล ซึ่งเป็นคลองขนาดใหญ่เชื่อมต่อแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำน้อย ผมยังจำป้ายชื่อวัดซึ่งเป็นวัดที่คนรูจัดกันดี ตั้งอยู่ริมฝั่งคลอง เสาป้ายสูงพอสมควรเพื่อให้พ้นน้ำในฤดูน้ำท่วม ใครผ่านไปมาเห็นชัดเจน คือ “วัดตะกู” วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ผู้คนจึงรู้จักกันดี
ที่บางบาลสมัยนั้นมีคนเก่งทางด้านดนตรีมาก วงคนตรีที่เป็นลักษณะเฉพาะของยุคสมัยนั้นคือแตรวง ซึ่งที่บางบาลมีหลายวง ผมแม้ยังเป็นเด็กก็ยังรู้จักนักดนตรีหลายคน ปัจจุบันก็นึกชื่อและนึกหน้าออกเกือบทุกคน แต่คงเสียชีวิตกันไปเกือบหมดแล้ว มีวงหนึ่งที่ผมยังจำชื่อได้ คือวง “ขวัญใจวัดตะกู” หัวหน้าวงชื่อ จำนงค์ ผมเรียกเขาว่าน้านงค์ เครื่องคนตรีประจำตัวของเขาคือปี่คลาริเนต ชาวบ้านเรียกกันง่ายๆว่าปี่ดำ เอาเป็นว่าถ้าพูดถึงแตรวงไม่ว่าที่ไหนก็สู้ที่บางบางบาลไม่ได้ และน่าจะมีที่เดียวถ้าลิเกไปเล่นที่นี่มีเจ้าภาพบางงานกล้าและภูมิใจที่จะใช้แตรวงรับลิเกแทนปี่พาทย์ ทั้งนี้ลิเกสมัยก่อนไม่ได้ร้องเฉพาะรานิเกลิง(ทำนองลิเก) และเพลงลูกทุ่งอย่างลิเกปัจจุบัน แต่มีทำนองเพลงไทยเดิมมากมายที่นำมาร้องในการแสดง ซึ่งหมายถึงแตรวงดังกล่าวจะต้องรับได้ ถ้าอยากรู้ว่าลิเกสมัยนั้นเขาเก่งกล้าในทำนองเพลงไทยเดิมอย่างไร ก็ดูตัวอย่างลิเกชาวอยุธยาคนหนึ่ง ซึ่งชาวบางบาลก็รู้จักกันดี คือ “บุญสม อยุธยา” (บุญสม มีสมวงษ์) หรือ “พร ภิรมย์” นั่นเอง
ด้วยความมีฝีมือด้านดนตรีของชาวบางบาล พบว่าที่โรงเรียนบางบาลซึ่งเป็นโรงเรียนระดับมัธยมประจำอำเภอ มีวงดนตรีไทยที่เก่งมาก ไปประกวดที่ไหนมักชนะเสมอ ทั้งที่นักดนตรีตัวเล็กกว่ามาก ผมเข้าใจว่าสมัยนั้นโรงเรียนบางบาลน่าจะมีแค่ชั้นมัธยมต้น
กล่าวได้ว่าสมัยนั้นบางบาลมีเสน่ห์มาก
เสน่ห์ของบางบาลน่าจะลดลงเมื่อการพัฒนาสมัยใหม่เข้าไปเปลี่ยนที่ทางของชีวิตผู้คน กล่าวคือเกิดการพัฒนาถนนขึ้นมากมาย ที่สามารถนำผู้คนตัดตรงไปยังพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งเข้าตัวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไป กทม.ได้อย่างสะดวกและไม่ไกลนัก ทำให้บางบาลซึ่งเป็นชุมชนอยู่ริมน้ำและอยู่ลึกเข้าไปมากจากเส้นทางคมนาคมแบบใหม่ จึงกลายเป็นชุมชนที่คนสนใจน้อยลงเรื่อย ๆ ปัจจุบันการปกครองส่วนท้องถิ่นของตัวเมืองบางบาลยังเป็นแค่เทศบาลตำบล
สำหรับผมแล้วเมื่อโตขึ้น ออกจากบ้านมาศึกษาต่อ ก็ไม่มีโอกาสไปบางบาลอีกเลย
ในช่วงทำงานผมก็ไปทำงานอยู่ภาคใต้ จึงไม่ได้ติดตามเรื่องของพี่น้องชาวบางบาล
มาปีนี้เองที่ได้ยินปัญหาของชาวบางบาลชัดๆ ก็คือ ปัญหาน้ำท่วมหนัก และท่วมอย่างยาวนาน แน่นอนว่าชาวบ้านต้องเดือดร้อนอย่างมาก ผมนึกสงสัยว่าทำไมชาวบางบาลจึงต้องประสบปัญหาเช่นนี้อยู่อีก ทั้งที่บางบาลอยู่ไม่ห่างเมืองหลวงเท่าไรนัก และเป็นยุคที่ประเทศพัฒนาไปมากแล้ว
เมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสรับฟังทางซูม การรายงานความก้าวหน้าของชุดโครงการเกี่ยวกับการบูรณาการการบริหารจัดการน้ำ ภายใต้ความรับผิดชอบของ ศ.สุริชัย หวันแก้ว และคณะ ชุดโครงการนี้มีโครงการย่อยทั้งหมด 7 โครงการ ใน 7 พื้นที่ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทั่วทุกภาค
โครงการของภาคกลางเสนอในหัวข้อ “การบริหารจัดการน้ำชุมชนอย่างยั่งยืน กรณีศึกษาการบริหารจัดการน้ำทุ่งรับน้ำบางบาลฯ” โดย คุณสันติ จียะพันธ์ แต่น่าเสียดายว่าผู้วิจัยยังนำเสนอรายงานความก้าวหน้าได้ไม่มากนัก เพราะเข้าพื้นที่ไม่ได้ ในระยะแรกเจอปัญหาการระบาดของโควิด-19 แล้วก็ต่อเนื่องด้วยปัญหาน้ำท่วม แต่ก็ช่วยทำให้ผมเข้าใจได้ว่าทำไมทุ่งบางบาลจึงต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมหนักเช่นนี้
เรื่องที่ผมรับรู้ทำให้ผมหดหู่ใจมาก คือ ปัจจุบันทุ่งบางบาลถูกกำหนดจากทางราชการให้เป็นพื้นที่รับน้ำ หรือเป็นแก้มลิงเก็บน้ำ เพื่อไม่ให้น้ำเข้าไปท่วมพื้นที่เขตอุตสาหกรรมและเขตเมือง
บางบาลอยู่ไม่ห่างจากเขตปริมณฑลของกรุงเทพฯ การพัฒนาเส้นทางการขนส่งทางบกและโครงสร้างพื้นฐาน อื่น ๆ ทำให้ทุ่งบางบาลอยู่ไม่ไกลจากเขตอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในเขต จ.ปทุมธานี พื้นที่เมืองก็ขยายตัวหรือเกิดขึ้นมาในพื้นที่ความเจริญหรือพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นใหม่
ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อพื้นที่อุตสาหกรรมและเมืองจากน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ทำให้ทางราชการต้องหามาตรการที่จะรักษาพื้นที่อุตสาหกรรมและเมืองไว้ เพราะรัฐบาลให้ค่าว่าเป็นส่วนที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ในขณะที่กลุ่มคนในภาคส่วนนี้ก็มีเสียดังที่รัฐบาลต้องฟัง มาตรการหนึ่งที่รัฐบาลนำมาใช้แก้ปัญหาก็คือ การหาพื้นที่รับน้ำไว้ไม่ให้ไหลขึ้นไปท่วมเขตดังกล่าว
ทุ่งบางบาลคือเป้าหมาย เพราะทุ่งบางบางบาลเป็นที่ลุ่มที่มีพื้นที่เกือบ 3 หมื่นไร่ ซึ่งสามารถเป็นแก้มลิงรองรับน้ำได้จำนวนมาก
ทางราชการได้มาคุยกับผู้นำชุมชนและชาวบ้าน โดยอ้างถึงความจำเป็นต่างๆ พร้อมข้อเสนอว่าขอให้ชาวนาเปลี่ยนการทำนาจากทำนาปี ซึ่งจะทำในฤดูฝน มาทำนาปรังซึ่งทำในฤดูแล้ง เพื่อที่ว่าในฤดูฝนหรือฤดูน้ำทางราชการจะใช้ทุ่งบางบาลเป็นพื้นที่รับน้ำ โดยทางราชการจะจัดน้ำมาให้ชาวนาทำนาปรังอย่างเพียงพอ และจะทำได้ปีละมากกว่า 1 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 ช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ครั้งที่ 2 ช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคม
ระหว่างเดือนกันยายน-พฤศจิกายน เป็นช่วงที่ต้องปล่อยให้ทุงบางบาลเป็นพื้นที่รับน้ำ
ทางราชการยังบอกอีกว่าหากชาวบ้านต้องการความช่วยเหลืออะไร ยินดีจะช่วยเหลืออย่างเต็งที่
ผลคือ ชาวนาบางบาลยอมตามที่ทางราชการว่า
ถ้าถามผมว่าทำไมชาวนาบางบาลจึงยอม คำตอบของผมคือ ประการแรก เพราะชาวนาบางบาลเชื่ออย่างที่ราชการว่า คือจะสามารถทำนาปรังได้ปีละ 2 ครั้ง และยังจะได้รับการช่วยเหลืออื่นๆอีก ประการที่สอง ชาวนาในแถบจังหวัดอยุธยา อ่างทอง และย่านใกล้เคียงตกอยู่ในระบบอุปถัมภ์มานาน (น่าจะต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยอยุธยา) จึงไม่เคยแข็งข้อกับทางราชการ ลองติดตามดูได้เลยชาวนาแถบนี้ซึ่งมีมากไม่เคยลุกขึ้นมาเรียกร้องหรือกดดันทางราชการเลย ดังนั้นเมื่อทางราชการอ้างอำนาจว่าพวกเขาต้องการแก้ปัญห่าตามนโยบายของรัฐบาล ชาวนาบางบาลจึงไม่กล้าที่จะปฏิเสธ
ผลที่ตามมาคืออะไร คือทางราชการทำตามสัญญาเฉพาะการใช้ทุ่งบางบาลเป็นพื้นที่รับน้ำเท่านั้น นอกนั้นไม่ได้ทำ เพราะไม่ได้สร้างระบบอะไรขึ้นมารองรับเลยที่จะทำให้ทุ่งบางบานมีน้ำใช้สำหรับทำนาในฤดูแล้ง ชาวนาจึงต้องทำนาปรังแบบตามยถากรรม
ปีนี้ทุ่งบางบาลถูกน้ำท่วมหนัก และเป็นที่คาดได้ว่าในฤดูแล้งพวกเขาจะขาดแคลนน้ำในการทำนา ดังที่นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบางบาลให้สัมภาษณ์แก่สำนักข่าวหนึ่งว่า “อ.บางบาล ในฐานะผู้เสียสละเป็นทุ่งรับน้ำ เป็นแก้มลิงของคนทั้งชาติ พอทุกคนรอด ลิงก็อ้วกแตกออกมา เก็บน้ำไว้ใช้เพื่อประโยชน์ในพื้นที่ตัวเองไม่ได้เลย คนบางบาลจึงอยู่ในภาวะไม่เกินก็ขาด เราเป็นแก้มลิงของประเทศไทย แต่ไม่ได้เป็นแก้มลิงเพื่อตัวเอง” (TNN ONLINE)
หมายถึงว่าในฤดูน้ำไม่ได้ทำนาปี เพราะน้ำท่วมสูงและท่วมนาน เมื่อถึงหน้าแล้งก็ทำนาปรังไม่ได้ผลเพราะขาดน้ำ
ลักษณะเช่นนี้เป็นวิธีดำเนินการของรัฐที่พบเห็นได้ทั่วไป กล่าวคือ
1) ปกป้องพื้นที่ทางเศรษฐกิจและเมือง โดยผลักภาระการแบกรับผล กระทบไปให้คนเล็กคนน้อย ซึ่งไม่สามารถมีปากเสียง หรือเสียงไม่ดัง ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจนว่า ในที่สุดกลุ่มคนมีอำนาจ มีเงิน หรือมีเสียงดังมากกว่า จะเป็นกลุ่มอภิสิทธิ์ชนที่ได้รับการปกป้องจากรัฐในขณะที่เหยียบย่ำหัวคนเล็กคนน้อยอยู่ตลอดเวลา
2) คำมั่นสัญญาของรัฐว่าจะแก้ปัญหาให้จะกลายเป็นเพียงสายลม คือไม่มีการปฏิบัติ หากไปติดตามร้องขอก็จะถูกโบ้ยไปทางโน้นทางนี้ หรือไม่ก็แกล้งรับปากหรือนัดประชุม แต่ผลที่เกิดขึ้นก็เหมือนเดิมคือไม่มีใครทำอะไร ลักษณะเช่นนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดกับกรณีที่บางบาล แต่เกิดขึ้นเป็นประจำ เห็นได้ทั่วไป เพราะนี่คือลักษณะของรัฐไทยที่มีปัญหามาโดยตลอด และยากจะแก้ไขได้
ดังนั้นหากชาวบางบาลหวังว่ารัฐบาลหรือทางราชการจะมาช่วยแก้ปัญหาตามที่รับปากไว้ ผมบอกว่าเป็นเรื่องยาก และพวกเขายังจะต้องเจอปัญหาดังกล่าวต่อไป แต่อาจจะเจอลวดลายของทางราชการ คือทำเหมือนจะมีการดำเนินการให้ โดยหน่วยราชการที่ไม่มีหน้าที่โดยตรง เช่น ทางจังหวัดจะแสดงออกในเชิงรับฟังและจัดประชุม เพื่อถ่วงเวลาให้ผ่านไปปีหนึ่งๆ เพราะในความเป็นจริงจังหวัดก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้เองในขณะที่ก็ไม่มีอำนาจไปสั่งหน่วยราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง เช่น กรมชลประทาน
ถ้าอย่างนั้นจะทำอย่างไร ผมว่ามีทางเดียวก็คือชาวบางบาลจะต้องลุกขึ้นมาต่อสู้
ไม่ได้หมายความว่าจะต้องไปท้าตีท้าต่อยนะครับ
แต่หมายความว่า ทำอย่างไรที่จะทำให้ปัญหาดังกล่าวถูกยกระดับเป็นปัญหาของสังคม ไม่ใช่เป็นปัญหาเฉพาะชาวบางบาล เพราะที่ผ่านมาชาวบางบาลเสียสละเพื่อคนอื่นมาตลอด ในขณะที่พวกเขากลายเป็นกลุ่มคนด้อยโอกาสที่จะได้รับการพัฒนาจากรัฐ ทั้งที่อยู่ไม่ห่าจากเมืองหลวงนัก ดังนั้นสังคมโดยส่วนรวมจะต้องร่วมต่อสู่เพื่อชาวบางบาลด้วย
ชาวบางบาลจะต้องรวมตัวเป็นกลุ่มที่เข้มแข็ง และพยายามสร้างเครือข่ายกับคนกลุ่มต่างๆ ให้กว้างขวางที่สุด เพื่อที่จะให้เรื่องความไม่เป็นธรรมที่ชาวบางบาลได้รับ เป็นที่ประจักษ์อย่างชัดเจนแก่สังคม จนถึงขั้นที่สามารถต่อรองกับรัฐให้เข้ามาแก้ปัญหา
ผมขอเสนอกว้างๆอย่างนี้ไว้ก่อนก็แล้วกันนะครับ