ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #”บัญญัติ”ชี้เล่ห์เพทุบายคสช.เชิดกฎหมายส.ส.-ส.ว.ตบตาเลื่อนเลือกตั้งปี62

#”บัญญัติ”ชี้เล่ห์เพทุบายคสช.เชิดกฎหมายส.ส.-ส.ว.ตบตาเลื่อนเลือกตั้งปี62

6 February 2018
618   0

สัมภาษณ์พิเศษ

โรดแมปการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 ต้องมีอันเป็นไป ภายหลังถูกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถูลู่ถูกังยืดโรดแมปการเลือกตั้งให้ลากยาวออกไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “บัญญัติ บรรทัดฐาน” กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เขานั่งนับนิ้วคำ “ผิดสัญญาเลือกตั้ง” ของ“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี-หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ 4 ครั้ง ตามมาซึ่ง “ข้อกังขา” เขามองทะลุไปถึงวันเลือกตั้งว่า ยิ่งยาวนาน ยิ่งขัดแย้งมากขึ้น

Q : จะเป็นการเลื่อนโรดแมปการเลือกตั้งเป็นครั้งสุดท้ายหรือไม่

สาเหตุที่ทำให้คำถามเกิดภายหลังขยายระยะเวลาการบังคับใช้ร่างพ.ร.ป.ส.ส. ออกไปอีก 90 วัน มี 3 สาเหตุ ข้อแรก คราวนี้ไม่ใช่การเลื่อนครั้งแรก ครั้งแรก พล.อ.ประยุทธ์แถลงผ่านทีวีพูล หลังรัฐประหารครบ 1 สัปดาห์ ว่า จะใช้เวลา 1 ปี เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง

ซึ่งครั้งที่ 2 ได้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวญี่ปุ่นภายหลังหารือทวิภาคีกับนายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นช่วงสิ้นปี 2558 หรือต้นปี 2559 ครั้งที่ 3 บอกระหว่างหารือกับนายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) ในขณะนั้นว่า จะจัดการเลือกตั้งภายในปี 2560

ครั้งสุดท้าย ครั้งที่ 4 เมื่อคราวไปพบกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่วอชิงตัน ดี.ซี. บอกว่า จะประกาศวันเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน 2561 คาดว่าจะเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนในปีเดียวกัน ท่านให้ความหวังมาตั้งแต่วันนั้น และอยู่ ๆ ทำท่าจะเลื่อนไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 ทำให้คนทำท่าจะทนไม่ได้ เพราะไม่ใช่เป็นการเลื่อนครั้งแรก

ข้อที่สอง สนช.ทำท่าจะเอาบุญคุณกับพรรคการเมือง สุดท้ายท่านพรเพชร (วิชิตชลชัย) ประธาน สนช.พูดเองว่า ความจำเป็นที่ต้องแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 เพื่อขยายเวลาให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองได้ทัน ตรงนี้ประหลาด แต่ไหนแต่ไรมา เวลา สนช.พิจารณากฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เขาจะไม่มีความระมัดระวัง ว่า เอ๊ะ…ต้องดูพรรคการเมืองว่ามีปัญหาอะไรหรือเปล่า แล้วอยู่ ๆ มาแสดงเจตนาดีขึ้นมา

คนก็ชักสงสัย ว่า เอ๊ะ เตรียมการกันมาหรือเปล่า เพราะพล.อ.ประยุทธ์ออกมาบอกว่า เป็นเรื่องทางนิติบัญญัติ ไปก้าวก่ายแทรกแซงไม่ได้ คำตอบนี้ใช้อ้างได้ในกรณีบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย สภานิติบัญญัติมาจากการเลือกตั้ง แต่สภานิติบัญญัติชุดนี้ก็รู้ ๆ กันอยู่ว่า มีที่มาที่เดียวกัน ทำไมวันดีคืนดีถึงมาอ้างว่า ไปแทรกแซงไม่ได้

ทำให้คนคิดมาก จะเลื่อนกันอีกแล้ว ยิ่งไปนึกถึงคำของท่านบวรศักดิ์ (อุวรรณโณ) อดีตกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ที่เคยพูดไว้เมื่อครั้งคว่ำร่างแรกรัฐธรรมนูญว่า เขาอยากอยู่ยาว

ข้อที่ 3 สำคัญมาก คือ รัฐบาลที่มีวิถีทางมาจากการรัฐประหารจริง ๆ อยู่ยาวนานนักไม่ได้ คนมีปฏิกิริยา รัฐบาลนี้ 3 ปีเศษ ๆ ทำท่าจะ 4 ปีเข้าแล้ว รัฐบาลจากการเลือกตั้งยังอยู่ไม่ได้นานขนาดนี้ ที่คนตั้งความหวังกับรัฐบาลนี้มากและรัฐบาลก็ให้ความหวังไว้มาก 2 เรื่อง 1.การปฏิรูปประเทศ 2.การปรองดอง วันนี้ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง

พอทำท่าโยกโย้อย่างนี้ คนก็ทำท่าจะรับไม่ได้ สังคมไทยถ้ามีอะไรพูดกันตรง ๆ บางทีไม่ยากนะ แต่ถ้าเมื่อใดทำให้สังคมรู้สึกว่า เอ๊ะ ชักเป็นเจ้าเล่ห์ ชักเพทุบาย ชักมีกลเม็ดเด็ดพรายในการตบตาให้มันเนียนมากขึ้น แล้วสังคมรู้ทัน ตรงนั้นจะทำให้สังคมรับกันไม่ได้มากขึ้น เพราะฉะนั้นปฏิกิริยาตรงนี้จึงแรงมากและไม่มีทีท่าว่าจะจบ

Q : มีปัจจัยอะไรทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปไกลกว่า ก.พ. 62

ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ในการตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับสำคัญ ว่า 1.จะต้องสอดคล้องกับบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2.ต้องมีความมุ่งหมายที่จะขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ ปัญหาจึงมีว่า ร่าง พ.ร.ป. ส.ส.และ ส.ว.ซึ่งเป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ มันสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมากน้อยขนาดไหน

Q : ในร่าง พ.ร.ป.ส.ส. เนื้อความใดที่อาจจะขัดรัฐธรรมนูญ

คือ การถอยหลังกลับไปให้การเลือกตั้งสามารถจัดมหรสพหรือการละเล่นได้ แต่ก่อนโน้นผู้สมัครหน้าใหม่หรือคนไม่มีทุนมีรอนเสียเปรียบมาก มันควรจะเป็นเวทีที่พูดจากันทางการเมืองอย่างจริงจัง คนมาฟังปราศรัยในกรณีที่ไม่มีมหรสพ ไม่มีการละเล่น แสดงว่าเขาเป็นคนสนใจการเมือง พูดกันตั้งแต่ความดีงามของประชาธิปไตย เรื่องผู้สมัคร เรื่องนโยบาย คนที่มาฟังก็ได้เนื้อหาสาระกลับไปเพื่อประกอบความคิด ไม่ใช่ใช้ความบันเทิงมาตัดสินใจในการเลือก

แต่ทำไมถอยกลับไปอีกล่ะ เห็นพูดตลอดว่าการปฏิรูปการเมืองต้องทำให้พรรคการเมืองมีความเป็นอิสระ ปราศจากการครอบงำของนายทุน ทำให้การใช้เงินของพรรคการเมืองเพื่อการเลือกตั้งน้อยที่สุด ประชาธิปไตยต้องมีราคาถูก เมื่อได้ใช้เงินมาก หนีไปไม่พ้นขอรับการสนับสนุนจากกลุ่มทุน แต่จะถึงขนาดยอมให้ครอบงำหรือไม่ อีกประเด็นหนึ่ง

มหรสพยังทำให้กลบเกลื่อนเนื้อหาสำคัญทางการเมือง ทำให้พรรคการเมืองทั้งพรรคใหญ่ พรรคเล็กไม่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ให้พรรคเล็กพรรคใหม่ และอาจขัดเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้พรรคการเมืองมีอุดมการณ์ที่แตกต่างหลากหลาย

Q : ประเด็นในร่าง พ.ร.ป.ส.ว.มีความเป็นไปได้มากน้อยที่จะถูกคว่ำ

ผมไม่เข้าใจว่า ทำไม กรธ.กับ สนช.ไม่ตกลงกันให้ตรงกันก่อน ซึ่งก็เป็น 1 ในแม่น้ำ 5 สาย สามารถซักซ้อม ได้อยู่แล้ว เว้นเสียแต่ว่าเตรียมกันเอาไว้แล้ว

Q : ทำอย่างไรให้คนไม่กังขา

ประกาศให้ชัด 3 ข้อ 1.จะมีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 และพร้อมที่จะใช้อำนาจของหัวหน้า คสช.มาตรา 44 ไม่ให้โรดแมปเลื่อนออกไป 2.เร่งรัดระเบียบ กฎหมายเพื่อเอื้อต่อการเลือกตั้ง และ 3.ให้ กกต.เป็นเจ้าภาพใหญ่สร้างความเข้าใจให้กับประชาชน

เพราะการอยู่ยาวของรัฐบาลประกอบกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหลายเรื่อง ทำให้สังคมเกิดความไม่เข้าใจและยิ่งมีพฤติกรรมโยกโย้ไปมา เสมือนหนึ่งจะพยายามสืบทอดอำนาจ สังคมจึงไม่พอใจและเกิดการต่อต้านขึ้น ยิ่งรัฐบาลคิดว่าเป็นความพยายามต้องการล้มรัฐบาลก็เกิดการใช้อำนาจรัฐเข้ากดดัน ความวุ่นวายก็ยิ่งเกิดมากขึ้น

Q : อ่านภาษากายนายกฯ ไม่การันตีโรดแมปทะลุไปถึงวันเลือกตั้งอย่างไร

ท่านคงทำไปดูไป ไปไม่ได้ค่อยหาทางลง คิดว่าอันตราย จะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความรวบรัดตัดความ เหมือนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ อย่าลืมว่าการเลือกตั้งต้องอยู่บนความเข้าใจของประชาชน 4 ประการ 1.ระบอบประชาธิปไตยดีกว่าระบอบเผด็จการอย่างไร 2.ประชาธิปไตยเข้มแข็งได้ต้องมีพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง 3.พรรคการเมืองสำคัญตรงไหนและนโยบายควรเป็นอย่างไร และ 4.ความสำคัญของตัวผู้ลงสมัคร

Q : รัฐบาลกำลังทำความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยทั่วประเทศ

คนที่ลงไปต้องเป็นกลาง เช่น กกต. สถาบันพระปกเกล้า แต่ผมกังวลว่า อาจจะสร้างความขัดแย้งไปสู่ประชาชนและเครือข่ายการเมืองในพื้นที่

Q : มองการ Move ของรัฐบาลภายใต้กลไกไทยนิยมยั่งยืนอย่างไร

รัฐบาลคงอยากจะอยู่ต่อเพื่อ 1.ไม่ให้เสียของ แต่ความจริงไม่มีอะไรให้เสียของ และ 2.เพราะสถานการณ์การเมืองยังไม่นิ่ง แต่ผมคิดว่า การอยู่ต่อไปอย่างนี้ยิ่งจะทำให้สถานการณ์ไม่นิ่งไปเรื่อย ๆ

Q : เอื้อต่อการให้มีพรรคใหม่หรือไม่

การเกิดพรรคใหม่เป็นเรื่องธรรมดา แต่การเกิดพรรคเกิดใหม่ครั้งนี้ ต้องการให้มีเสียงอย่างน้อย 10 เสียง 15 เสียง เพื่อร่วมเข้ามาเป็นรัฐบาล โดยการดูกระแสความนิยมของทหารเพื่อสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก อย่างไรก็ตาม อย่าดูถูกดูแคลนประชาชนมากนัก เพราะขณะนี้ประชาชนรู้ทันทั้งหมด

Q : ถ้าไม่เลื่อนเลือกตั้ง พร้อมหรือไม่

ไม่พร้อมก็ต้องพร้อม แม้มีข้อจำกัด แต่การแช่แข็ง 2 แช่แข็งที่ผมรับไม่ได้ คือ 1.ห้ามไม่ให้รับสมัครสมาชิกใหม่ และ 2.ห้ามไม่ให้บริจาคเงินช่วยเหลือพรรค ผมไม่เข้าใจว่า 2 เรื่องนี้ไปขัดต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองตรงไหน

Cr.prachachat

สำนักข่าววิหคนิวส์