ข่าวประจำวัน » เศรษฐกิจ » #บาทป่วน..!! แบงก์ตัดสินเชื่อ “ส่งออกสลบ”

#บาทป่วน..!! แบงก์ตัดสินเชื่อ “ส่งออกสลบ”

31 May 2017
780   0


บาทป่วน! แบงก์ตัดสินเชื่อ “ส่งออกสลบ”

-31 พ.ค.60- หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3266 ระหว่างวันที่ 1-3 มิ.ย.2560 สื่อในเครือสปริง กรุ๊ปรายงานว่า พิษค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วถึง 5% นับตั้งแต่ต้นปี ทำให้ผู้ส่งออกรายเล็ก 50-100 ล้านบาทอาการหนัก ธนาคารไม่เปิดวงเงินสินเชื่อซื้อฟอร์เวิร์ดลดเสี่ยงค่าเงิน แนะให้มัดรวมกันเป็นกลุ่ม ปริมาณซื้อขายเงินพุ่งพรวด
ปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมายืนอยู่ในระดับ 34.10 บาท /ดอลลาร์สหรัฐ ทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 2 ปี และมีแนวโน้มจะแข็งค่าได้อีกสร้างแรงกดดันให้กับเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 17,000-20,000 ล้านดอลลาร์ เพราะการแข็งค่าของเงินบาททำให้ราคาสินค้าไทยสูงขึ้น และมีผลต่อกำไรจากค่าเงินเมื่อแปลงเป็นเงินบาทลดลง ทำให้ความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง
นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เวลานี้ปัจจัยเสี่ยงมากที่สุดต่อภาคการส่งออกคือเงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยจากต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันเงินบาทแข็งค่าขึ้น 5% ถือเป็นอุปสรรคต่อการรับคำสั่งซื้อ สินค้าใหม่เพื่อส่งมอบในไตรมาสที่ 3-4 ของปีนี้ และอาจกระทบต่อคาดการณ์ส่งออกที่ สรท.คาดไว้จะขยายตัวได้ที่ 3.5% ในปีนี้
“ขณะนี้บาทแข็งและผันผวนมาก ทำให้การโควตราคาขายทำได้ยาก อาจต้องโควตราคาขายตํ่ากว่า 34 บาทต่อดอลลาร์ ปัญหาคือ ลูกค้าจะยังสั่งซื้อหรือไม่ ผู้ส่งออกถูกมองว่า เทขายดอลลาร์ออกมาซํ้าเติม เราคิดว่าคงไม่มีส่วนมากนัก เพราะเราส่งออกต่อเดือนไม่มาก เช่น เมษายนเราส่งออกได้ที่ 1.62 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ที่มีผลมากคือ การไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศเพื่อเข้ามาเก็งกำไรในระยะสั้น” น.ส.กัณญภัค กล่าว
ทางสภาผู้ส่งออกร่วมกับสภาอุตสาหกรรมฯ และสภาหอการค้าฯ จะขอเข้าพบผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ เพื่อเสนอให้ออกมาตรการมาดูแล
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งออก และนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ยืนยันว่า ปัจจุบันค่าเงินบาทไทยถือว่าแข็งค่ามากสุดในภูมิภาคหรือคู่แข่ง
“สมาชิกคงต้องป้องกันตัวเอง โดยเมื่อโควตราคาขายแล้ว ต้องทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน หรือซื้อฟอร์เวิร์ดไว้กับธนาคารทันที อย่าไปหวังเก็งกำไรจากค่าเงินที่ผันผวน เพราะเสี่ยงการขาดทุน” นายวิศิษฐ์กล่าว ด้านนายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ผู้บริหารหอการค้าไทยชุดใหม่ได้เข้าพบผู้ว่าการ ธปท. เมื่อเดือนที่ผ่านมาขอให้ ธปท.ช่วยดูแลค่าเงินให้สอดคล้องกับภูมิภาค ไม่เช่นนั้นกระทบต่อเป้าส่งออกที่คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ตั้งไว้ที่ระดับ 2-3.5% แน่นอน”
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผู้ส่งออกรายใหญ่และรายกลางไม่น่าห่วงมาก เพราะสามารถเข้าถึงเครื่องมือบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนกับธนาคารที่มีบัญชีอยู่ได้ แต่ที่ห่วงคือผู้ส่งออกรายเล็กที่ไม่มีหลักประกันหรือมีวงเงินสินเชื่อเพียงพอในการทำฟอร์เวิร์ดกับธนาคาร ทำให้เข้าถึงเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงได้ยาก 

 

“ขอให้ธนาคารพิจารณาให้การผ่อนปรนเงื่อนไขหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อเพื่อซื้อป้องกันความเสี่ยงด้วย เพราะกลุ่มนี้มีอยู่เป็นจำนวนมาก และเสี่ยงต่อธุรกิจที่ขาดทุนหรือกำไร”
นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า จากแนวโน้มตลาดการเงินโลกยังเอื้อให้เงินทุนไหลเข้าในระยะข้างหน้า ผู้ส่งออกไทยจำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วนในการทำสัญญาซื้อขายเงินตราล่วงหน้า (Forward Contracts) ถ้าทำเฮดจ์ทั้ง 100% หรือเต็มจำนวนนั้น แม้จะเกิดเหตุการณ์ผันผวนก็จะไม่มีความเสี่ยง แต่ปัจจุบันยังพบผู้ประกอบการซื้อฟอร์เวิร์ดเพียง 40-50%เท่านั้น 
นายจิติพลชี้แจงว่า ในส่วนกรุงไทยถ้าลูกค้ามีธุรกรรม มียอดคำสั่งซื้อหรือเปิดแอล/ซี ที่เป็นเอสเอ็มอีรายได้ต่อปีตํ่ากว่า 100 ล้านบาท หรือยอดขายตํ่ากว่า 50 ล้านบาท จะมีผู้จัดการบริหารความสัมพันธ์ (อาร์เอ็ม) ดูแลเป็นกลุ่ม แต่หากรายได้สูงขึ้นจะมีอาร์เอ็มดูแลเป็นการเฉพาะเพื่อแนะนำให้ลูกค้าซื้อป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินแบบกลุ่ม
นายจิตติพล แนะนำว่า นอกจากหาตลาดเพื่อขายสินค้าแล้ว ในการทำธุรกรรมทางการเงิน ลูกค้าควรจะเลือกสกุลเงินที่ตรงกับประเทศคู่ค้าเพื่อช่วยป้องกันความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วย
แหล่งข่าวธนาคารไทยพาณิย์กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารพยายามเพิ่มทางเลือกการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วยบริการสัญญาฟอร์เวิร์ดแบบจ่ายล่วงหน้า (Prepaid Forward Contract) ซึ่งลูกค้าไม่ต้องใช้วงเงินสินเชื่อ แต่เปิดทางให้วางเงินค้ำประกัน 15-30% ของวงเงินที่ต้องการซื้อฟอร์เวิร์ด ก็สามารถล็อกอัตราแลกเปลี่ยนที่ต้องการได้ทันที แต่ยังต้องจ่ายค่าธรรมเนียม
ทั้งนี้ ผู้ส่งออกที่ซื้อฟอร์เวิร์ดหรือซื้อสปอร์ตที่ต้องส่งมอบใน 2 วัน เพื่อป้องกันขาดทุนจากค่าเงิน จะมีต้นทุนตกประมาณ 0.40-0.50% จากเดิม 0.10-0.25%  
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าพร้อมใช้มาตรการดูแลค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็วในช่วงนี้ หลังจากเงินดอลลาร์อ่อนค่าหลังตามข่าวที่ประธานาธิบดีสหรัฐเตรียมออกนโยบายการปฏิรูปภาษีและนโยบายการคลังออกมา ประกอบกับเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกเติบโตสูงเร่งให้มีเงินทุนไหลเข้าไทย อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวทิศทางเดียวกับสกุลเงินอื่นไม่น่ากังวล
นอกจากนี้ขอให้ผู้ประกอบการทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น จากปัจจุบันมีสัดส่วนภาคธุรกิจที่ทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเพียง 40% ส่วนกรณีที่นักวิเคราะห์มองว่ามาตรการลดการออกพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยระยะสั้นตํ่ากว่า 1 ปีไม่ช่วยให้เงินบาทอ่อนค่านั้น เจตนาของธปท.ต้องการให้ต่างชาติลงทุนในพันธบัตรระยะยาว แทนการมาพักเงินเพื่อเก็งกำไรระยะสั้นแล้วทำให้ค่าเงินบาทผันผวน
นายวิรไทกล่าวว่า ธปท.กำลังทบทวนเกณฑ์การกำกับจรรยาบรรณผู้บริหารและกรรมการของสถาบันการเงิน คาดว่าจะออกคู่มือได้ภายใน 1-2 เดือนนี้ เนื่องจากความคาดหวังว่าผู้บริหารต้องมีความรู้ความสามารถสูง จากบริการการเงินด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเงินยุคใหม่ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น
หากพิจารณาการซื้อขายเงินตราต่างประเทศของไทยจะพบว่ามีปริมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เดือนมกราคม 21,410 ล้านดอลล่าร์ หรือตกวันละ 10,520 ล้านดอลล่าร์ เดือนกุมภาพันธ์ 186,006 ล้านดอลลาร์ วันละ 9,786 ล้านดอลลาร์ เดือนมีนาคมทะยานขึ้นมาถึง 252,538 ล้านดอลลาร์ หรือวันละ 10,979 ล้านดอลาร์ ขณะที่เดือนธันวาคม 2559 แค่ 184,514 ล้านดอลลาร์เท่านั้น
ที่มา: http://www.springnews.co.th

#Wanwilai วันวิไล รักการดี สำนักข่าว Vihoknews