ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #บินไทยวุ่น ! เจ้าหนี้ใหญ่ขวางแผนฟื้นฟู

#บินไทยวุ่น ! เจ้าหนี้ใหญ่ขวางแผนฟื้นฟู

27 February 2021
833   0

   แหล่งข่าวจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แผนฟื้นฟูของบริษัทการบินไทยยังคงป่วนยันนาทีสุดท้าย ก่อนสรุปยื่นต่อศาลล้มละลายกลาง ซึ่งมีกำหนดวันสุดท้ายในวันที่ 2 มี.ค.นี้ หลังจากที่คณะผู้ทำแผนได้ยื่นต่อศาลขอเลื่อนการส่งแผนฟื้นฟูมาแล้ว 2 ครั้ง (ตั้งแต่ 2 ม.ค. 2564) ด้วยเหตุผลว่ามีเจ้าหนี้จำนวนมาก และเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน จึงต้องใช้เวลาหารือค่อนข้างนาน เพื่อให้แผนฟื้นฟูเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

ทั้งนี้ จากที่ศาลล้มละลายได้มีคำสั่งในฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2563 และได้มีการเปิดให้เจ้าหนี้ยื่นขอรับชำระหนี้รวมประมาณ 1.8 แสนล้านบาท

โดยหลังจากคณะผู้ทำแผนเดินสายเจรจากับทางเจ้าหนี้รายใหญ่ ทั้งในส่วนของเจ้าหนี้สถาบันการเงิน เจ้าหนี้สหกรณ์ (หู้นกู้) รวมถึงกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ยังมีหลายประเด็นที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้

“แผนฟื้นฟูที่คณะผู้ทำแผนที่นำไปเจรจากับเจ้าหนี้รายใหญ่นอกรอบ โดยมีสาระหลักคือ ขอลดมูลค่าหนี้คงค้าง (แฮร์คัต) ลง 70% ซึ่งเสียงของเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยและรับไม่ได้ ทำให้ล่าสุดมีธนาคารเจ้าหนี้แห่งหนึ่งทำแผนเสนอเข้ามาเพื่อให้คณะผู้ทำแผนพิจารณา”

เจ้าหนี้แบงก์เขย่าแผน

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในส่วนเจ้าหนี้สถาบันการเงินอย่างธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงไทย ได้เสนอให้แฮร์คัตหนี้ไม่เกิน 50% ส่วนที่เหลือก็เป็นการแปลงหนี้เป็นทุน ขณะที่วงเงินสินเชื่อใหม่เพื่อเสริมสภาพคล่องให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการนั้น ยังอยู่ระหว่างการเจรจาต่อรอง

ขณะที่กระทรวงการคลังจะต้องใส่เงินเพิ่มทุนกลับเข้าไปใหม่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับเจ้าหนี้ทั้งหลาย ซึ่งในส่วนนี้ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่า กระทรวงการคลังจะใส่เงินเพิ่มทุนในสัดส่วนเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับสัดส่วนในฝั่งของเจ้าหนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม ถ้าคลังใส่เงินเพิ่มทุนเกิน 51% ก็จะทำให้บริษัทกลับเข้ามามีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจอีก ก็ต้องหาวิธีให้ใครเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นแทน “กรณีนี้ยังไงกระทรวงคลัง และเจ้าหนี้ก็ต้องใส่เงินเข้ามาทั้งในส่วนของการเพิ่มทุนและการปล่อยกู้เพิ่ม เพราะไม่เช่นนั้น การบินไทยก็เดินต่อไม่ได้ ขณะนี้ทางกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ซึ่งเข้ามาเป็นที่ปรึกษาการเงิน อยู่ระหว่างการเจรจากับเจ้าหนี้ต่าง ๆ หากใช้แผนแฮร์คัตหนี้ 50% ก็คาดว่าจะมีเงินที่เข้ามาในส่วนของการเพิ่มทุน แปลงหนี้เป็นทุน รวมทั้งจากการปล่อยเงินกู้ใหม่ รวมประมาณ 5 หมื่นล้านบาท”

ยืดแผนฟื้นฟูเป็น 10 ปี

แหล่งข่าวกล่าวว่า ตามแผนฟื้นฟูเดิมที่คณะผู้ทำแผนต้องการแฮร์คัตหนี้ 70% ตั้งเป้าว่าจะออกจากแผนฟื้นฟูภายใน 5 ปี แต่จากที่มีการปรับแก้แผนใหม่ คาดว่าความเป็นไปได้ในการออกจากแผนฟื้นฟูต้องใช้เวลานานขึ้นเป็น 10 ปี เพราะนอกจากแผนการปรับโครงสร้างหนี้แล้วจะต้องปรับโครงสร้างธุรกิจ ซึ่งในส่วนผลกระทบของภาคธุรกิจท่องเที่ยวการเดินทางจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ยังมีอย่างต่อเนื่อง และยังไม่ชัดเจนว่าสถานการณ์การเดินทางทั่วโลกหลังจากนี้จะเปลี่ยนไปอย่างไร

สำหรับในส่วนของเจ้าหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ที่เป็นผู้ซื้อหุ้นกู้รายใหญ่ มูลค่าประมาณ 7 หมื่นล้านบาทนั้น ถือเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ ล่าสุดได้มีการปรับแผนจะไม่แฮร์คัต แต่ทั้งนี้จะให้มีการชำระคืนทั้งหมดภายใน 15 ปี ในส่วนของเจ้าหนี้ต่างประเทศที่เป็นผู้ให้เช่าเครื่องบินได้มีการเจรจาตกลงกันได้แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยอมรับข้อเสนอในการลดค่าเครื่องบิน บางส่วนที่ไม่ยินยอมก็จะทำการคืนเครื่องบินเช่าก่อนกำหนด

คลังเรียกเจ้าหนี้แบงก์ถก

แหล่งข่าวกระทรวงการคลังกล่าวว่า แผนฟื้นฟูการบินไทยขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน โดยล่าสุด 25 ก.พ.ที่ผ่านมา การบินไทยมีการประชุมร่วมกับแบงก์เจ้าหนี้ และช่วงเย็น นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง มีการเรียกแบงก์เจ้าหนี้ อาทิ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ธนาคารกรุงเทพ เป็นต้น เข้าหารือถึงแนวทางการฟื้นฟูการบินไทย ที่ทางผู้จัดทำแผนจะยื่นต่อศาลล้มละลาย ภายในวันที่ 2 มี.ค.นี้

โดยที่ผ่านมา ผู้จัดทำแผนมีการเสนอให้เจ้าหนี้สถาบันการเงินแฮร์คัตหนี้ถึง 70% ขณะที่เจ้าหนี้หุ้นกู้กลุ่มสหกรณ์ที่มีสัดส่วนราว 40% ถือเป็นกลุ่มเจ้าหนี้สำคัญ เพราะสหกรณ์ลงมติให้ฝ่ายใด ฝ่ายนั้นก็จะชนะ และสหกรณ์ยืนยันไม่ยอมแฮร์คัต ขณะที่แบงก์เจ้าหนี้ที่เป็นเอกชนเสนอแนวทางให้แฮร์คัตไม่เกิน 50% รวมถึงต้องการให้กระทรวงการคลังเพิ่มทุน ในระดับที่อาจจะทำให้การบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้ง หรือให้ภาครัฐถือหุ้นเกิน 50% ซึ่งประเด็นนี้จะนำไปสู่การกำหนดว่า เงินก้อนแรกที่จะเข้ามาเพิ่มทุน ตลอดจนใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนจะเป็นเท่าใด”

รอคลังเคาะตัวเลขเพิ่มทุน

“แบงก์เจ้าหนี้มองกันว่า ถ้ารัฐเป็นคนนำร่อง หรือเป็นเจ้ามือ เจ้าหนี้อื่น ๆ ถึงจะใส่เงิน แต่ถ้ารัฐไม่ใส่เงิน เจ้าหนี้ต่าง ๆ ก็ไม่รู้จะใส่เงินอย่างไร เพราะวันนี้ถ้าไม่มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ค้ำอยู่ บริษัทนี้ต้องถือว่าล้มละลายไปแล้ว การจะใส่เงินเข้าไปมีความเสี่ยงสูง ซึ่งการใส่เงินคงต้องพิจารณาเท่าที่จำเป็น เพราะหากใส่ถึง 5 หมื่นล้านบาท ตามที่มีการพูดถึง ทางการบินไทยก็คงไม่ต้องดิ้นรนปรับปรุง หรือเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานอะไร เพราะมีบางแบงก์เจ้าหนี้ประเมินว่าแค่กว่า 3 หมื่นล้านบาทก็เพียงพอแล้ว”แหล่งข่าวกล่าว

โมเดลธุรกิจไม่ชัด

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องรูปแบบธุรกิจที่ยังไม่ลงตัว เพราะยังมีทั้งแนวคิดที่ยังอยากจะฟื้นฟูการบินไทยแบบเดิม และการให้แยกธุรกิจออกไป หรือแม้กระทั่งมีข้อเสนอให้จัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ เป็นบริษัทการบินแห่งชาติ ซึ่งอาจจะใช้เงินน้อยกว่า

แหล่งข่าวกล่าวว่า ที่ผ่านมาแผนฟื้นฟูที่จัดทำยังไม่ได้มีอะไรที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับเจ้าหนี้ได้ เนื่องจากการบินไทยยังตอบไม่ชัดเจนว่า ธุรกิจที่จะทำให้เกิดรายได้ในระยะข้างหน้าจะมาจากในประเทศ หรือต่างประเทศ ซึ่งหากบอกว่าการบินไทยจะบินต่างประเทศเป็นหลักเหมือนเดิม ก็ยังไม่มีใครตอบได้ชัดเจนว่าการเดินทางระหว่างประเทศจะฟื้นกลับมาได้แค่ไหน

“ทุกวันนี้การบินไทยก็ไม่บินในประเทศ รายได้ไปเข้าไทยสมายล์หมด ขณะที่ทุกวันนี้ไทยสมายล์ก็เอาเครื่องบินไป เอาเงินกู้ไป แล้วก็ขาดทุน จ่ายหนี้ก็ไม่ได้ ถามว่าต้องฟื้นฟูไทยสมายล์ด้วยไหม หรือจะปิด มีเครื่องบินอยู่ 10 กว่าลำ หนี้เป็นของการบินไทย แต่รายได้เป็นของไทยสมายล์ แบบนี้เจ้าหนี้จะยอมหรือ เพราะการบินไทยไม่ยอมเปลี่ยนโมเดลธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์” แหล่งข่าวกล่าว

เจ้าหนี้ใหญ่ยังไม่เห็นด้วย

แหล่งข่าวกล่าวว่า ตามขั้นตอนหลังจากผู้ทำแผนส่งแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลาย ภายในวันที่ 2 มี.ค.นี้ โดยศาลจะมีการพิจารณากำหนดวันประชุมเจ้าหนี้ เพื่อโหวตเห็นชอบแผนภายใน 60 วัน ซึ่งในช่วงเวลาก่อนวันนัดประชุมเจ้าหนี้ 3 วัน ผู้ทำแผนและเจ้าหนี้ยังสามารถเจรจาและดำเนินการปรับเปลี่ยนแผนฟื้นฟูได้

“อย่างไรก็ตาม จากที่ได้พูดคุยกับบรรดาเจ้าหนี้รายใหญ่น่าจะยังมีเจ้าหนี้เกิน 50% ของมูลหนี้ มีทีท่าจะไม่รับแผนที่นำเสนอ ซึ่งเจ้าหนี้อาจจะมีการเจรจาเสนอปรับแก้แผนฟื้นฟูใหม่เข้ามาในเดือน มี.ค.นี้ ก่อนการนัดประชุมเจ้าหนี้ลงมติ”

นอกจากนี้ เจ้าหนี้ยังมีความเห็นว่า บริษัทการบินไทยควรปรับโครงสร้างใหม่ และแยกเป็นบิสซิเนสยูนิตให้ชัดเจน อาทิ ครัวการบิน, ฝ่ายช่าง, คาร์โก้ ฯลฯ เพื่อให้แต่ละบริษัทมีทุนที่ต่ำลง ง่ายต่อการหาพันธมิตรและระดมทุน ทำให้พันธมิตรเกิดความชัดเจนว่า เขาเข้ามาลงทุนในธุรกิจอะไร ไม่ใช่ลงทุนในบริษัทการบินไทยอีกต่อไป เนื่องจากหากใช้วิธีการบริหารแบบเดิม ๆ จะทำให้ระดมทุนยาก และต้องเติมเงินเข้าไปอีกจำนวนมาก

“ประเด็นหลักที่เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ต้องการเห็นในแผนมี 3 เรื่องใหญ่ ๆ คือ 1.ตัดสายการบินไทยสมายล์ออกจากโครงสร้างของบริษัทการบินไทย 2.ผู้บริหารแผนต้องไม่ใช่กลุ่มผู้ทำแผน และ 3.การปรับโครงสร้างหนี้ต้องไม่กระทบกับเจ้าหนี้มากเกินไป ไม่ใช่ใช้ระบบแฮร์คัตหนี้ถึง 70% อย่างไรก็ตาม ในส่วนนี้ทางการะทรวงคลังและรัฐบาลจะเป็นผู้สรุป ซึ่งคาดว่าในส่วนของผู้บริหารแผนจะมีรายชื่อของผู้ทำแผนเดิมเข้าร่วมด้วย 3-4คน และที่เหลือจะมีการดึงมืออาชีพอื่น ๆ เข้ามา” แหล่งข่าวกล่าว

คลังชี้มีเวลา 60 วันรื้อแผน

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นแผนฟื้นฟูของการบินไทย เข้าใจว่าตอนนี้การบินไทยเดินสายคุยกับเจ้าหนี้ต่าง ๆ และสัปดาห์หน้าจะยื่นเสนอแผน จากนั้นมีกรอบเวลา 60 วัน ตามกฎหมาย ที่ยังพิจารณาปรับปรุงแผนได้

“ที่ผ่านมาการบินไทยก็มีการหารือร่วมกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.), สคร. และเจ้าหนี้มาโดยตลอด ขณะที่หนี้ของกระทรวงการคลังมีสัดส่วนน้อย จริง ๆ แล้วต้องคุยกับสถาบันการเงินที่มีสัดส่วนเยอะกว่า และสุดท้ายแล้วก็ต้องออกมาเป็นแผนที่ยอมรับกันได้” นายกฤษฎากล่าว

นายกฤษฎากล่าวว่า เข้าใจว่าที่ปรึกษาและผู้ทำแผนคงพิจารณากันมาดีแล้ว โดยผู้ทำแผนที่รัฐบาลตั้งไปก็มีความรู้ ความสามารถ และเท่าที่ทราบสมมติฐานที่ออกมาใกล้เคียงกันหมด ทั้งเรื่องงบการเงิน กระแสเงินสดยอมรับกันได้ ไม่น่าจะมีประเด็นปัญหา แต่ประเด็นปัญหาคือ อยู่ที่จะบริหารกันต่อไปจะเป็นรูปแบบไหน อย่างไร ซึ่งไม่น่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจแน่นอน เพราะคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นที่ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจก่อนเข้าแผนฟื้นฟูแล้ว

แผนฟื้นฟูใช้เงิน 5 หมื่นล้าน

“แผนที่จัดทำกันมา เท่าที่ทราบสมมติฐานต่าง ๆ ลงตัวหมดแล้ว ก็คงต้องพิจารณาต่อไปว่า ใครจะมาช่วยกันบ้าง เข้าใจว่าสถาบันการเงินก็ต้องเข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน ซึ่งรูปแบบการใส่เงินก็มีหลากหลาย เช่น การแปลงหนี้เป็นทุน เป็นต้น”

นายกฤษฎากล่าวว่า เข้าใจว่าการบินไทยต้องการเงินทุนที่จะมาดำเนินการต่อไป เบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ที่ราว 30,000-50,000 ล้านบาท เป็นเงินที่อยู่ในการดำเนินการแผนฟื้นฟูระยะแรก เพื่อให้สามารถดำเนินการตามแผนได้ ส่วนจะมาในรูปแบบใดยังไม่แน่ใจ

“ต้องดูว่าจะต้องใส่อะไรเข้าไปอย่างไรมากกว่า เช่น ใส่เป็นทุน หรือใส่เป็นหนี้ ซึ่งก็จะอยู่ในแผนการฟื้นฟู แต่อาจจะไม่ตายตัว เพราะเขียนว่าจะต้องมีแหล่งเงินใหม่เข้ามาเท่าไหร่ ก็ต้องไปหาแหล่งเงินใหม่ ขึ้นอยู่กับผู้ทำแผน”

เมื่อถามว่าอยากเห็นการบินไทยเป็นอย่างไร นายกฤษฎากล่าวว่า อยากเห็นกลับมาปกติ กำไรดี เป็นสายการบินแห่งชาติ ส่วนเรื่องการควบรวมสายการบินลูกจะมีหรือไม่นั้น ตนไม่มีความเห็น ต้องดูข้อเสนอผู้ทำแผน

ปี’63 ขาดทุน 1.41 แสนล้าน

รายงานข่าวจาก บมจ.การเบินไทยเปิดเผยว่า ในปี 2563 บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 48,311 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 96,430 ล้านบาท ส่งผลให้ผลขาดทุนจากการดำเนินงาน 48,119 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิ 141,180 ล้านบาท