นายกฯ เปิดการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 “กรุงเทพฯ-นครราชสีมา” ยันเดินหน้าให้จบถึงหนองคาย ระบุการลงทุนต้องใช้งบมาก จำเป็นต้องปฏิรูปกฎหมายเพื่อความสะดวก
แนวหน้า – 21 ธ.ค. 60 ที่มอหลักหินรัชกาลที่ 5 ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และนายหวัง เสี่ยวเทา รองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน เป็นประธานในพิธีเริ่มการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมในพิธี
ทั้งนี้ ก่อนพิธีเปิดโครงการ นายกฯ ได้สักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พร้อมรับชมวีดิทัศน์ของโครงการ และรับฟังรายงานความเป็นมาของโครงการ ก่อนทำสัญลักษณ์การเริ่มก่อสร้างโครงการ ร่วมกับผู้แทนสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมถ่ายภาพร่วมกัน
จากนั้นนายกฯ จะเยี่ยมชมนิทรรศการเกี่ยวกับการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางทั่วประเทศไทย ภาพแสดงโครงข่ายทางรถไฟของเอเชียและโครงข่ายรถไฟภายใต้ความร่วมมือไทย-จีน รวมทั้งวิสัยทัศน์การพลิกโฉมรถไฟสู่โครงข่ายโลจิสติกส์หลักในอนาคต การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งทางราง รวมถึงความสำคัญของมอหลักหิน ซึ่งเป็นสถานที่ที่ รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรการก่อสร้างรถไฟสายนครราชสีมา
ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเปิดโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงว่า วันนี้ดีใจยินดีเป็นเกียรติที่ได้มาพบทุกท่านในวันประวัติศาสตร์ของรถไฟไทย ขอขอบคุณคำกล่าวของนายหลี่เค่อเฉียง และความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทย-จีน และยืนยันว่า จะทำให้จบในเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย รัฐบาลนี้สนับสนุนการเชื่อมโยงทุกภูมิภาคเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงในทุกมิติ โดยเฉพาะเรื่องการค้าการลงทุน และความสัมพันธ์ในทุกมิติ เราพูดถึงการเชื่อมโยงระบบทางรถไฟไปยังลาว
พร้อมเป็นศูนย์กลางการขนส่ง โดยเราจะไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง โดยเฉพาะอีก 20 จังหวัดของประเทศที่ยังมีรายได้น้อย ซึ่งต้องทำให้ทุกคนมีความเป็นอยู่ดี การลงทุนแม้จะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่อย่าคิดถึงรายได้เฉพาะผู้ที่มาใช้บริการหรือที่เรียกว่า ผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่มีผลประโยชน์อย่างอื่นที่ตามมาจำนวนมาก โดยเฉพาะจะเกิดธุรกิจตลอดเส้นทางเป็นการเพิ่มและกระจายรายได้ ซึ่งรัฐบาลจะพยายามเร่งรัดทุกๆอย่าง และจำเป็นต้องปฏิรูปกฎหมาย และกติกาบางอย่าง เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก ขออย่ามองเป็นเรื่องอื่น ทุกอย่างที่ทำเพื่อผลประโยชน์ของชาติ
“ทุกอย่างต้องมีเริ่มต้น ไม่ได้เสร็จในวันเดียว ทุกหน่วยงานจึงต้องช่วยกัน ให้เกิดความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และการลงทุนไม่ได้ดูแค่คนขึ้นรถไฟ แต่ผลประโยชน์โดยอ้อม เกิดตลาดแหล่งการค้าระหว่างทางรถไฟ ซึ่งจะช่วยให้การเดินทางสะดวกขึ้นปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เสริมกับการเดินทางทางอากาศ สิ่งที่สำคัญที่เกิดขึ้นในโลกวันนี้คือ กายภาพการเชื่อมโยงที่จะเกิดขึ้น” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
อนึ่ง สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพ – นครราชสีมา จะมีระยะทาง 252.3 กิโลเมตร และวงเงินลงทุนประมาณ 179,000 ล้านบาท มีสถานีทั้งหมด 6 แห่ง คือ สถานีกลาง สถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสถานีนครราชสีมา และมีความเร็วอยู่ที่ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยเส้นทางช่วงแรกที่เริ่มก่อสร้าง คือ ช่วงกลางดง – ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 430 ล้านบาท
ขณะที่ทีมวิศวกรฝ่ายจีนมาดำเนินการทั้งหมด 15 คน และมีวิศวกรฝ่ายไทยเข้าร่วมเพื่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจำนวน 6 คน โดยเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา จะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2565 สำหรับช่วงแรกที่เปิดให้บริการคาดว่า จะมีผู้โดยสาร 5,300 คนต่อวัน และในปี 2594 จะมีผู้ใช้บริการขั้นต่ำ 26,800 คนต่อวัน โดยมีค่าโดยสารแรกเข้า 80 บาท และบวกด้วย อัตรา 1.8 บาทต่อกิโลเมตร ซึ่งราคาสูงสุดจากเส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา จะอยู่ที่ 535 บาท
อย่างไรก็ตาม การรถไฟตั้งเป้ารับมอบแบบการก่อสร้างในส่วนที่เหลือระยะที่ 2-4 ไม่เกินกลางปีหน้า และจะเปิดประมูลในปี 2561 รวมถึงเปิดให้บริการรถไฟฟ้าความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หนองคาย ในปี 2566
สำนักข่าววิหคนิวส์