“บิ๊กตู่” กู้แหลก พบ 4 ปี 7 เดือน หนี้รัฐบาลเพิ่ม 1.64 ล้านล้านบาท ขณะที่ สบน. เผยหนี้สาธารณะคงค้างธ.ค.61 แตะ 6.8 ล้านล้านบาท คิดเป็น 41.80% ของจีดีพี ขณะที่รัฐบาลรับมอบ “สมุดปกขาว” ลุยแก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานราก
เมื่อวันที่ 31 ม.ค. นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า สถานะหนี้สาธารณะคงค้างของไทย ณ วันที่ 31 ธ.ค.2561 มีจำนวน 6,833,645 ล้านบาท หรือคิดเป็น 41.80% ของจีดีพี แบ่งเป็น หนี้รัฐบาล 5,551,356 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ 937,778 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 336,643 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ 7,867 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 และเข้าบริหารประเทศมา 4 ปี 7 เดือน แม้ว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะลดลงจาก 45.91% ของจีดีพี เหลือ 41.80% ของจีดีพี แต่จำนวนหนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
โดยหากเปรียบเทียบจำนวนหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 พ.ค.2557 และจำนวนหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 ธ.ค.2561 พบว่า จำนวนหนี้สาธารณะคงค้าง เพิ่มจาก 5,532,514 ล้านบาท เป็น 6,833,645 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1,301,131 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากแยกเป็นหนี้สาธารณะคงค้างออกเป็นประเภทจะพบว่า จำนวนหนี้รัฐบาลเพิ่มจาก 3,907,849 ล้านบาท เป็น 5,551,356 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1,643,507 ล้านบาท
ในขณะที่จำนวนหนี้รัฐวิสาหกิจลดลงจาก 1,089,053 ล้านบาท เหลือ 937,778 ล้านบาท หรือลดลง 151,275 ล้านบาท จำนวนหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) ลดลงจาก 531,958 ล้านบาท เหลือ 336,643 ล้านบาท หรือลดลง 195,315 ล้านบาท และจำนวนหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐเพิ่มขึ้นจาก 3,652 ล้านบาท เป็น 7,867 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4,215 ล้านบาท
วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานรับมอบสมุดปกขาว นโยบายเศรษฐกิจฐานรากสู่แนวทางการปฏิบัติด้านการยกระดับเกษตรกรรม พัฒนาวิสาหกิจชุมชน และบริหารจัดการน้ำชุมชน พร้อมปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “นโยบายรัฐบาลในการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ” โดยระบุตอนหนึ่งว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานรากเป็นสำคัญ ซึ่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ต้องบูรณาการการทำงานทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคประชาชนให้มากขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองเป้าหมายที่วางไว้สู่แนวทางปฏิบัติ จะต้องมีการนำข้อมูล Big data มาประยุกต์ใช้ในด้านต่าง ๆ เช่น การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม การบริหารจัดการน้ำชุมชน การบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชน เป็นต้น เพื่อเป็นระบบข้อมูลในการสนับสนุนการตัดสินใจ
“สิ่งที่สำคัญที่สุด ต้องรู้ทุกอย่างล่วงหน้า เพื่อเตรียมการรองรับสถานการณ์ ส่วนราชการต้องแจ้งข้อมูลให้กับประชาชนทราบผ่านช่องทางการสื่อสารที่มี โดยขอให้เชื่อมโยงข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก หรือ BIG data for Local Economy และให้เร่งเชื่อมโยงข้อมูลของระบบ TP Map สร้างเป็นระบบสนับสนุนการตัดสินใจสำหรับหน่วยงานแต่ละจังหวัดและผู้นำส่วนท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหา รวมถึงใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม พัฒนาเครื่องมือในรูปแบบ Application ที่สามารถแนะนำเกษตรกรว่าควรปลูกอะไรให้ขายได้ ปลูกเมื่อไร มีน้ำพอไหม หากมีน้ำน้อยควรปลูกอะไร และขายได้ที่ไหน เป็นต้น”พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันกลุ่มประชาชนที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าเส้นความยากจนมีประมาณ 5.33 ล้านคนทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร แรงงานในภาคเกษตรกรรม ผู้ใช้แรงงาน และผู้ว่างงาน ยังประสบปัญหาในการประกอบสัมมาชีพ
ดังนั้น การนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปใช้ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจฐานราก สร้างงานและรายได้ให้กับคนในชุมชนท้องถิ่น เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ ตอบโจทย์ความพยายามในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจฐานรากในทุกด้าน เพื่อก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์และเป็นการกระจายรายได้ โอกาส และความมั่งคั่ง
นายกฯ ยังระบุว่า ขอประชาชนเลือกรัฐบาลที่สร้างความปรองดอง และหลังการเลือกตั้งจะต้องไม่มีความขัดแย้งหรือเดินขบวนประท้วงอีก พร้อมย้ำว่า แม้ว่าเป็นคนพูดไม่เพราะ แต่เป็นคนทำจริง และกำลังทำงาน ขออย่ากล่าวหาว่าได้เปรียบทางการเมือง ยืนยันขณะนี้ยังไม่ได้ทำสิ่งไหน ที่เป็นการเมือง