12 ก.ย.2565 – ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมตรี ให้สัมภาษณ์ถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์คำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญของพล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ที่ระบุมีการตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิจารณาประเด็นการดำรงค์ตำแหน่ง 8 ปี เป็นสิ่งที่ทำได้หรือไม่เพราะทำเพื่อคนๆเดียวว่า ไม่ขัดหลักการ เพราะเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เป็นตำแหน่งทางราชการ และตำแหน่งนายกฯเป็นปัญหาของประเทศ มีการตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวตั้งแต่วันที่17 ม.ค. 2565
เมื่อถามว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์คำชี้แจงประเด็นที่ระบุว่าการเป็นนายกฯขาดตอนนั้นหมายความว่าอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่าไม่ทราบ ขอให้รอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตนไม่อยากวิพากษ์วิจารณ์ แต่ในส่วนของนายกฯตามบทเฉพาะกาล เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 264 สิ่งที่สื่อถามถือเป็นคำให้การของพล.อ.ประยุทธ์ ถูกบ้าง ผิดบ้าง จริงบ้างไม่รู้ เขาก็ให้การไปแล้วตอบไปตามประเด็นที่ผู้ร้องตั้งประเด็นไว้สุดท้ายจะฟังขึ้นหรือไม่อยู่ที่ศาล อย่างคำชี้แจงบางประเด็นของพล.อ.ประยุทธ์ ตนก็ไม่เห็นด้วยเพราะไม่จำเป็นต้องไปตอบ แต่ทีมกฎหมายเห็นว่าควรตอบทุกข้อ อย่างเช่นการอ้างคำวินิจฉัยต่างๆก่อนหน้านี้ซึ่งก็ไม่ตรงกับประเด็นที่ถูกร้องแล้วจะไปชี้แจงทำไมแต่ไม่เป็นไรอย่างมากก็เสมอตัวไม่ขาดทุนอะไร ดังนั้นขอให้รอฟังคำพิพากษาไม่มีประโยชน์ที่ตนจะไปวิพากษ์วิจารณ์ ขอให้รอฟังคำวิจฉัยของศาลซึ่งจะตัดสินในเร็วๆนี้
เมื่อถามว่าศาลนัดประชุมวันที่ 14 ก.ย. ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะมีคำวินิจฉัยออกมาหรือไม่ในส่วนของรัฐบาลต้องเตรียมแนวทางรับมือไว้อย่างไรบ้าง นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่รู้ว่าวันที่ 14 จะมีคำวินิจฉัยหรือไม่ ขอยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้เตรียมแนวทางรองรับไว้ ถ้าศาลตัดสินว่ายังไม่ครบ 8 ปี วันรุ่งขึ้นพล.อ.ประยุทธ์ ก็กลับมาทำงาน ถ้าศาลบอกว่านับตั้งแต่ปี 2557 พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ต้องกลับมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯในฐานะรักษาราชการแทนนายกฯ ก็รักษาการไป ไม่รู้กี่วันขึ้นอยู่กับประธานรัฐสภาจะเรียกประชุมเพื่อเลือกนายกฯ และจนกว่านายกฯและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าถวายสัตย์ฯ ถึงจะพ้นไป การกระทำอะไรที่ผ่านมาจะไม่ถือว่าเป็นโมฆะ
“สมมุติศาลตัดสินว่านับตั้งแต่ปี 57 เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ พ้นไปก็สามารถรักษาการเองได้ แต่ควรหรือไม่นั้นไม่ควร พล.อ.ประวิตร ก็รักษาการไปจะกว่ารัฐสภาจะเลือกนายกฯคนใหม่ ส่วนอำนาจยุบสภาฯสามารถทำได้หรือไม่นั้น ผมพูดมา 9 ครั้งแล้วว่าทางทฤษฎีทำได้ แต่ทางปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างสมัยพฤษภาทมิฬ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ลาออก นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นรองนายกฯ รักษาราชการแทนนายกฯในขณะนั้นเตรียมคิดว่าจะยุบสภาฯซึ่งมีอำนาจ แต่คิดไปคิดมาให้เขาไปหานายกฯใหม่มายุบสภาดีกว่า จนได้นายอานันท์ ปันยารชุน มาเป็นนายกฯแล้วเข้ามายุบสภาฯในที่สุด ดังนั้นมันต้องคำนึงถึงความเหมาะสมอะไรหลายๆอย่าง” นายวิษณุ กล่าว
ถามว่าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาได้คุยกับนายมีชัย หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ได้พบในงานสังคม แต่ไม่ได้คุยในเรื่องนี้ และเรื่องเกี่ยวกับปม 8 ปีไม่จำเป็นต้องคุย สื่อก็ถามแต่นายมีชัย แล้วไม่ถามถึง นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤฎีกาและอดีตเลขาธิการคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาตนบ้างหรือ เมื่อสื่อถามว่าแล้วได้คุยกับนายปกรณ์หรือไม่ นายวิษณุ ระบุว่า “ไม่ตอบ”