บุกยึด3ล้านไร่..!! กอรมน.เตรียมบุกยึดสวนยางนายทุนบุกรุก
กอ.รมน. เตรียมปฏิบัติการยึดคืนป่าสงวนฯ
แฉนายทุนบุกรุกปลูกยางพารา กว่า3 ล้านไร่ เผย ภาคใต้ มากสุด 1,547,500 ไร่ ,ภาคอิสาน 715,300 ไร่ ,ภาคกลาง 469,300 ไร่,ภาคเหนือ 367,300 ไร่ /เตือนชาวบ้าน อย่าตกเป็นเครื่องมือ “กลุ่มนายทุน”บุกรุกผืนป่า /ระบุ ที่ผ่านมา กอ.รมน. ยึดคืนผืนป่าได้ 5 แสนไร่ /เผยแผน 10ปี จากผืนป่า 102 ล้านไร่ จะพลิกฟื้นผืนป่าให้เป็น 128 ล้านไร่
พ.อ. พีรวัชฌ์ แสงทอง โฆษก กอ.รมน. กล่าวว่า ที่ผ่านมา จากแผนพลิกฟื้นผืนป่า สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน จากเดิมมีผืนป่าประมาณ 102 ล้านไร่ จะพลิกฟื้นผืนป่าให้เป็น 128 ล้านไร่ ในระยะเวลา 10 ปี ซึ่งในปัจจุบันสามารถยึดคืนผืนป่าได้ 5 แสนไร่เศษ และที่อยู่ในระหว่างดำเนินคดีอีกจำนวนหนึ่ง
นอกจากนี้ ยังได้ตรวจสอบพบว่ามีพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ได้ถูกบุกรุก ปลูกยางพาราเป็นจำนวนมากถึง 3.09 ล้านไร่
แยกเป็น ภาคเหนือ จำนวน 367,300 ไร่ , ภาคกลาง จำนวน 469,300 ไร่ , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 715,300 ไร่ และภาคใต้ จำนวน 1,547,500 ไร่
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) ร่วมกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม , สำนักงานตำรวจแห่งชาติ , กอ.รมน.จังหวัด , กองกำลังรักษาความสงบจังหวัด , ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ได้บูรณาการร่วมกันปฏิบัติการเพื่อหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และเพื่อการบังคับใช้กฎหมายต่อกลุ่มนายทุนที่บุกรุกผืนป่าปลูกยางพารา
โดยจะมุ่งเน้นในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ,2 และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งได้กำหนดลักษณะพื้นที่เป้าหมายและวิธีดำเนินการ ดังนี้
– เจ้าของสวนยางพาราเป็นของนายทุน , กลุ่มทุน หรือผู้มีอิทธิพล
– เป็นพื้นที่ครอบครองโดยผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และไม่อยู่ในเงื่อนไขการผ่อนผันให้ครอบครอง
– เป็นพื้นที่บุกรุกหลังปี พ.ศ.2545 (มติ ครม. 30 มิ.ย.41) หรือเป็นพื้นที่ถูกบุกรุกก่อนและเปลี่ยนมือผู้ถือครอง
– เป็นพื้นที่ที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี
– เป็นพื้นที่ที่ดำเนินคดีไปแล้ว แต่มีการกระทำผิดซ้ำ หรือเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนมือผู้ครอบครอง
ลักษณะของนายทุน ,กลุ่มทุน หรือผู้มีอิทธิพล มีข้อพิจารณา ได้แก่ พื้นที่บุกรุกตั้งแต่ 25 ไร่ขึ้นไป , พื้นที่บุกรุกน้อยกว่า 25 ไร่ แต่มีรูปแบบการดำเนินการในลักษณะกลุ่มทุนจากต่างถิ่น , เป็นเจ้าของพื้นที่บุกรุกจำนวนหลายแปลง , เป็นนายทุนต่างถิ่นที่มาจ้างแรงงานในพื้นที่หรือคนท้องถิ่นให้ดำเนินการแทน , เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่และมีการจัดการที่มีการลงทุนสูงเชิงธุรกิจ และประชาชนในพื้นที่หรือผู้นำท้องถิ่นยืนยันว่าเจ้าของเป็นคนต่างถิ่นและไม่ใช่ผู้ยากไร้
กอ.รมน.จึงขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และขอความร่วมแรงร่วมใจจากคนไทยทุกคน ในการร่วมกันอนุรักษ์ ดูแล รักษาป่า และอย่าได้ตกเป็นเครื่องมือหรือกลไกของกลุ่มนายทุนในการบุกรุกผืนป่า
ขอให้ทุกคนผนึกกำลังร่วมกันแก้ไขปัญหา ร่วมกันพลิกฟื้นผืนป่า เพื่อไม่ให้พื้นที่ป่า 102 ล้านไร่ที่เหลืออยู่นี้ กลายเป็น “ป่าผืนสุดท้าย” และค่อยๆ หดหายไปจนไม่เหลือแม้ต้นไม้สักต้นเดียว
cr: Wassana Nanuam