ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #ปฏิรูปตร.ป่วน !! เสรี โต้ผบ.ตร.ลั่นห้องประชุม

#ปฏิรูปตร.ป่วน !! เสรี โต้ผบ.ตร.ลั่นห้องประชุม

6 September 2017
917   0

           กก.ปฏิรูปตำรวจถกเดือด! “จักรทิพย์” วิวาทะ “เสรี” ขวางกระจายอำนาจอ้างทำให้ ตร.ทำงานยาก ยกเหตุ รปภ.ในคดียิ่งลักษณ์ เจอสวนกลับอย่าเอาเหตุการณ์เดียวมาเป็นเหตุผลไม่ปฏิรูป ลั่นต้องไม่ใช่การปะผุแต่ผ่าตัดแก้ปัญหาให้ตรงจุด “บุญสร้าง” รับมีความเห็นต่างต้องดูฝ่ายไหนมีเหตุผลที่ดีกว่า “สยามเทคโนโลยีโพล” พบพฤติกรรม ตร.รีดไถ เรียกรับสินบน ข่มขู่คุกคามมากที่สุด และไม่เชื่อจะปฏิรูปให้สำเร็จเป็นรูปธรรมได้

          ที่รัฐสภา วันที่ 4 กันยายน มีการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจที่มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจเป็นประธาน ภายหลังการประชุมนายเสรี สุวรรณภานนท์ คณะกรรมการ เปิดเผยว่า ไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับการกระจายอำนาจ โดยที่ประชุมอยากเห็นการปฏิรูปเพื่อให้การทำงานของตำรวจมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการกระจายอำนาจที่คณะอนุกรรมการ เสนอวางแนวทางไว้เบื้องต้น โดยเฉพาะงานบุคคล อำนาจหน้าที่ ส่วนเรื่องการกระจายอำนาจไปสู่ส่วนท้องถิ่น คิดว่าจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมที่จะบริหารจัดการงานของตำรวจในพื้นที่ ทั้งเรื่องการกำหนดพฤติกรรม หรือการทำหน้าที่ของตำรวจในแต่ละส่วนที่มีผลกระทบที่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน เนื่องจากในท้องถิ่นค่อนข้างมีความสำคัญ
           “แนวทางดังกล่าวยังไม่มีการกำหนดขอบเขตทั้งภูมิภาคและจังหวัด โดยเฉพาะเรื่องอำนาจจะตัดไปให้ส่วนจังหวัดดูแลหรือไม่ แต่เบื้องต้นมองว่าส่วนของจังหวัดสามารถกำหนดงานในแต่ละพื้นที่หรือส่วนของเทศกิจ หรือพนักงานฝ่ายปกครอง หรือแม้แต่งานของตำรวจว่าจะกำหนดบทบาทหน้าที่อย่างไร ทั้งนี้หากให้จังหวัดมีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลงานของตำรวจในจังหวัดนั้น มีหลายสถานีตำรวจ อาจจะเอาตำรวจที่อยู่ในแต่ละภาคกระจายไปอยู่ในจังหวัดเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”
          นายเสรีกล่าวว่า ในที่ประชุมเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นไม่ได้ขัดแย้ง แต่มีการแสดงความเห็นที่หลากหลาย โดยเฉพาะตำรวจมีมุมมองว่าหน้าที่เดิมมีประสิทธิภาพดีอยู่แล้ว แต่ส่วนของอนุกรรมการ มองว่าเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น ทั้งนี้ในวันที่ 6 ก.ย.นี้จะมีการประชุมเพื่อเร่งงานให้ทันกรอบที่กำหนดไว้ ยอมรับว่ามีความกังวลว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดความชัดเจน 2-3 ประเด็นเพื่อให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลง

          “ยอมรับว่าการปฏิรูปอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ อยู่ระหว่างการสรุป เราต้องพูดความจริงว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร ไม่อย่างนั้นจะแก้ไขปัญหาไม่ได้ หากเราโลกสวยพูดจาดีๆ เยินยอกันไปมาหรือเกรงอกเกรงใจกันมากเกินไป ผลที่ออกมาคืองานจะไม่ประสบความสำเร็จและจะเกิดความเสียหาย ช่วงเวลานี้คือการนำข้อมูลต่างๆ มาถกแถลงให้ตกผลึกและเห็นปัญหาที่แท้จริง เพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการให้เกิดการปฏิรูปและการเปลี่ยนแปลงที่มีความชัดเจน คือไม่ใช่การปะผุหรือปรับปรุง แต่เป็นการผ่าตัดและแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด เพื่อประโยชน์ตกอยู่กับประชาชน โดยเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง ถือเป็นประเด็นสำคัญ” นายเสรีกล่าว
          ด้าน พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจให้สัมภาษณ์ว่า ยังไม่ได้สรุปประเด็นใดและจะประชุมต่อในวันที่ 6 ก.ย.นี้ โดยเฉพาะเรื่องการกระจายอำนาจ โดยเราต้องมีข้อพึงระวัง เพราะการเปลี่ยนแปลงอาจจะทำให้เกิดช่องโหว่หรือช่องว่างหากไม่ระวัง สิ่งที่ดีที่มีอยู่เดิมอาจหายไป หรือสิ่งใหม่ที่เข้ามาอาจจะไม่ดี ดังนั้นการทำงานต้องคำนึงว่าของดีๆ ที่มีอยู่เดิมต้องไม่หายไป และได้ของดีๆ ใหม่ด้วย
           “เหมือนกับช้างเดิน ที่ต้องเอาเท้าหยั่งไปข้างหน้าก่อน หากไปไม่ได้ก็ต้องถอยหลัง เหมือนกับองค์กรใหญ่ๆ หากพลาดพลั้งไปจะทำให้หกคะเมน ซึ่งอาจดูแลไม่รอบคอบ ดังนั้นการทำงานต้องระมัดระวัง ทั้งนี้ยอมรับว่ามีความเห็นที่ต่างกัน ต้องดูว่าฝ่ายไหนมีความเห็นที่ดีกว่า ต้องยอมรับกันเอง ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องมีความเห็นแตกต่างกันออกไป ตำรวจหลายๆ ท่านก็อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงและมีข้อเสนอดีๆ ออกมา”
           ผู้สื่อข่าวถามว่า ส่วนหนึ่งเพราะตำรวจไม่ยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า ไม่ใช่แสดงการไม่ยอมรับ แต่ตำรวจก็อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงและมีข้อเสนอดีๆ ที่ผ่านมาระบบเดิมตำรวจก็ทำมาอยู่แล้ว ดังนั้นเขาจึงต้องระวัง ที่ทำดีอยู่แล้วหากเปลี่ยนเป็นระบบใหม่แล้วข้อดีอาจจะหายไป เช่นคดีสำคัญๆ หากกระจายอำนาจแล้วต้องเข้มแข็งในระดับบนมีอยู่หรือไม่ เมื่อลงไปแล้วไปจัดการต่างๆ ให้เสร็จภายในไม่กี่วัน ถ้าตำรวจพลาดรับไปเต็มๆ จะจัดการได้หรือไม่ ฉะนั้นการปฏิรูปเมื่อกระจายลงไปแล้วต้องสามารถปฏิบัติภารกิจให้ได้ ส่วนการแต่งตั้งโยกย้ายระดับนายพลจะแต่งตั้งโดย ผบ.ตร.และมีกรรมการร่วมกันพิจารณา ส่วนที่เหลือจะกระจายลงไปในพื้นที่ระดับล่าง โดยพิจารณาทั้งความอาวุโสและผลงาน

          แหล่งข่าวจากคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจเปิดเผยว่า ในการประชุมเกิดการวิวาทะระหว่าง พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. กับนายเสรี สุวรรณภานนท์ กรรมการปฏิรูปตำรวจและอดีต สปท.ในประเด็นการกระจายอำนาจตำรวจ เนื่องจาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ไม่เห็นด้วย เพราะจะทำให้การทำงานของตำรวจยาก ยกตัวอย่างการสั่งการใช้ตำรวจหลายร้อยคนคุมฝูงชนและรักษาความปลอดภัยให้ประชาชน อย่างเช่นในคดีโครงการรับจำนำข้าวที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะเดินทางไปที่ศาลฎีกาเมื่อวันที่ 25 ส.ค. เพราะเห็นว่าหากมีการกระจายอำนาจจะทำให้มีการสั่งการได้ยาก จึงทำให้นายเสรีสวนกลับว่าอย่าเอาเหตุการณ์เดียวมาเป็นเหตุผลให้ไม่ปฏิรูปตำรวจ จากนั้นจึงทำให้ทั้งสองฝ่ายพาดพิงถึงผลประโยชน์ส่วนตัวแต่ละฝ่าย โดย ผบ.ตร.บอกว่า “ทุกอาชีพมีคนดีไม่ดีทั้งนั้น เช่นเดียวกับอาชีพทนายความ” ทำให้นายเสรีสวนกลับว่า “ในห้องประชุมนี้ไม่มีทนายเลวแน่นอน”
          อย่างไรก็ตาม หลังจากทั้งสองฝ่ายโต้ตอบกัน แต่สุดท้ายก็ยอมรับความเห็นซึ่งกันและกันที่ต้องการผลักดันจุดยืนของตัวเอง จนที่ประชุมต้องแขวนประเด็นดังกล่าวเอาไว้
          วันเดียวกัน นายศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส, นายพรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ, นายพิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และนายวัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพล วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน จำนวน 1,213 คน ต่อนโยบายการปฏิรูปตำรวจ ระหว่างวันที่ 26-31 สิงหาคม 2560 สรุปว่า พฤติกรรมไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กลุ่มตัวอย่างเคยพบเห็น/เคยได้ยินมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ รีดไถ/เรียกรับสินบน ร้อยละ 83.92, ข่มขู่คุกคาม/ใช้อำนาจบาตรใหญ่ ร้อยละ 81.78, ช่วยเหลือ/อำนวยความสะดวกให้ผู้ต้องหา ร้อยละ 79.47, แจ้งข้อหาประชาชนโดยไม่เป็นธรรม ร้อยละ 76.92 และต่อว่า/ด่าทอ/ทำร้ายร่างกายประชาชน ร้อยละ 73.29
          ด้านความคิดเห็นต่อการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับพฤติกรรมของตำรวจ ร้อยละ 75.85 เห็นว่าส่งผลลบต่อภาพลักษณ์ของวงการตำรวจโดยรวม, ร้อยละ 77.16 เห็นว่าส่งผลให้ความเชื่อมั่น ความเชื่อถือ ความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อการทำงานของตำรวจโดยรวมลดลง, ร้อยละ 63.48 เห็นว่ามีส่วนช่วยเพิ่มภาพลักษณ์ของวงการตำรวจให้ดีขึ้น, ร้อยละ 47.07 เชื่อว่าในปัจจุบันยังมีตำรวจประมาณ 51-75% ที่เป็นตำรวจ “น้ำดี” เป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง ขณะที่ร้อยละ 33.31 เชื่อว่ามีตำรวจที่เป็น “น้ำดี” ประมาณ 25-50% มีเพียงร้อยละ12.86 เชื่อว่ามีมากกว่า 75% โดยที่ร้อยละ 6.76 เชื่อว่ามีน้อยกว่า 25%

          ส่วนสิ่งที่อยากจะบอกตำรวจมากที่สุด 5 อย่าง คือ บังคับใช้กฎหมายกับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ร้อยละ 83.43, ดำเนินคดีต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา/โปร่งใส ร้อยละ 81.62, ดำเนินคดีต่างๆ อย่างรวดเร็ว ร้อยละ 79.39, ไม่อวดเบ่ง/วางอำนาจ ร้อยละ 76.42 และขอให้อดทนในการทำงาน ร้อยละ 74.28
          ทั้งนี้ ร้อยละ 66.45 เห็นว่าการปฏิรูปตำรวจอย่างเป็นรูปธรรมจะมีส่วนช่วยเพิ่มความเชื่อมั่น ความเชื่อถือ ความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อการทำงานของตำรวจให้สูงขึ้นได้ ขณะที่ร้อยละ 67.52 เห็นว่าจะมีส่วนช่วยเพิ่มภาพลักษณ์วงการตำรวจโดยรวมให้ดีขึ้นได้ ร้อยละ 59.19 เห็นว่าจะมีส่วนช่วยลดจำนวนตำรวจที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่างๆ ลงได้ อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างถึงสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 75.19 ไม่เชื่อว่าคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจที่ตั้งขึ้นจะสามารถดำเนินการปฏิรูปตำรวจให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมได้จริง
          เมื่อเปรียบเทียบสิ่งที่มีผลต่อความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในการปฏิรูปตำรวจ ร้อยละ 55.73 เห็นว่าขึ้นอยู่กับทัศนคติ/การปฏิบัติตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจเองมากกว่า ขณะที่ร้อยละ 17.15 เห็นว่าขึ้นอยู่กับแนวทาง/วิธีการดำเนินการปฏิรูปมากกว่า และร้อยละ 27.12 เห็นว่าขึ้นอยู่กับทั้งสองสิ่งเท่าๆ กัน.

ที่มา ไทยโพสต์

สำนักข่าววิหคนิวส์