ปตท.เผยเตรียมนำผลศึกษาโครงการผลิตยารักษามะเร็งถกกับองค์การเภสัชกรรมเพื่อสรุปตัวเลขการลงทุนที่ชัดเจน ลั่น ปตท.อาสาทำตลาดยาในต่างประเทศให้ ส่วนในประเทศจับมือองค์การเภสัชกรรมทำตลาดร่วมกัน นับเป็นการต่อยอดสู่ธุรกิจไบโอฟาร์มา
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยความคืบหน้าความร่วมมือระหว่าง ปตท. กับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในการศึกษาโครงการศึกษาตั้งโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งว่า ขณะนี้โครงการดังกล่าวอยู่ในกระบวนการศึกษาของทั้งสองฝ่าย และมีความคืบหน้าไปมากแล้ว โดยขั้นตอนต่อไปจะต้องนำผลการศึกษาของแต่ละฝ่ายมาพิจารณาร่วมกัน โดยเฉพาะเรื่องวงเงินลงทุนในการก่อสร้างโรงงานผลิตยารักษามะเร็ง ซึ่งตามหลักการแล้วทาง ปตท.จะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตยาดังกล่าวให้ทางองค์การเภสัชกรรมเช่า
ทั้งนี้ ปตท.ไม่ได้ต้องการเข้าไปแข่งขันธุรกิจยาในไทย แต่เป็นการเข้าไปช่วยเสริมขีดความสามารถแข่งขันขององค์การเภสัชกรรม และทดแทนการนำเข้ายารักษาโรคมะเร็งจากต่างประเทศที่มีมูลค่าสูงมากในแต่ละปี ทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงยารักษามะเร็งได้
นายอรรถพลกล่าวต่อไปว่า การตั้งโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งต้องพิจารณาความคุ้มค่าการลงทุน โดยการก่อสร้างโรงงานต้องเผื่อกำลังการผลิตในอนาคต ดังนั้นมองเห็นช่องทางที่ ปตท.จะเข้าไปช่วยได้ในเรื่องทำการตลาด (มาร์เกตติ้ง) ที่จะเน้นตลาดต่างประเทศเป็นหลัก เพื่อสร้างดีมานด์ให้กับโรงงานฯ ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำ ซึ่ง ปตท.ก็จะมีบทบาทในการเป็นตัวแทนจำหน่ายยา แต่คงไม่ใช่แค่ยารักษาโรคมะเร็งเท่านั้น เพราะการเป็นตัวแทนจำหน่ายฯ จะต้องมียารักษาโรคอื่นทั้งที่ผลิตจากองค์การเภสัชกรรมหรือบริษัทยาอื่นๆ ด้วย
ส่วนตลาดในประเทศไทย ปตท.จะร่วมกับองค์การเภสัชกรรมทำการตลาดยาร่วมกัน นับเป็นการขยายธุรกิจสู่ไบโอเบส หรือต่อยอดธุรกิจไบโอฟาร์มาในอนาคต ส่วนจะตั้งบริษัทใหม่มาดูแลรับผิดชอบหรือไม่นั้นขึ้นกับโมเดลธุรกิจที่เหมาะสม เบื้องต้นทาง ปตท.จะดูแลรับผิดชอบ
เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2561 องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ร่วมกับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ลงนามบันทึกข้อตกลง โดยองค์การเภสัชกรรมมีเป้าหมายมุ่งเน้นการผลิตยารักษาโรคมะเร็งในทุกกลุ่มการผลิต 3 ชนิด คือ 1. ยาเคมีบำบัดชนิดเม็ดและฉีด (Chemotherapy) ที่เป็นยาพื้นฐานในการรักษาโรคมะเร็งที่สามารถออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย 2. ยาเคมีชนิดเม็ดและยาฉีดชีววัตถุคล้ายคลึงประเภท Monoclonal antibodies (Biosimilar) เพื่อให้มียาครอบคลุมการรักษาทุกกลุ่มโรคมะเร็งในปัจจุบัน และ 3. ยารักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted Therapy) เบื้องต้นคาดว่าโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งจะมีมูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าหมายจะเริ่มผลิตยาได้เองในประเทศประมาณปี 2568 จากช่วงแรกที่ยังเป็นการนำเข้ายารักษาโรคมะเร็งจากต่างประเทศ
Cr.mgronline