ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน เรียกร้องเมื่อวันอาทิตย์(20 มี.ค.)ให้อิสราเอลละทิ้งความพยายามวางตัวเป็นกลางกรณีรัสเซียรุกรานประเทศของเขา ระบุถึงเวลาแล้วที่รัฐยิวแห่งนี้จะให้การสนับสนุนเคียฟอย่างหนักแน่น คร่ำครวญถึงกรณีที่อิสราเอลไม่ส่งมอบอาวุธช่วยเหลือและกำหนดมาตรการคว่ำบาตรมอสโก
ในการปราศรัยกับเหล่านักการเมืองอิสราเอล หนล่าสุดของการกล่าวสุนทรพจน์กับเหล่ารัฐสภาต่างชาติผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ประธานาธิบดีเซเลนสกี บอกว่า ถึงเวลาแล้วที่อิสราเอล ซึ่งปรากฏตัวในฐานะคนกลางสำคัญระหว่างยูเครนและรัสเซีย ท้ายที่สุดจะต้องเลือกข้าง เขาบอกว่าอิสราเอลควรทำตามพันธมิตรตะวันตกด้วยการกำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ เล่นงานรัสเซีย และมอบอาวุธแก่ยูเครน
“มีคนถามมานานแล้วว่าทำไมเราถึงไม่ได้รับอาวุธจากพวกคุณ หรือทำไมอิสราเอลไม่กำหนดมาตรการคว่ำบาตรเล่นงานรัสเซีย ทำไมคุณไม่กดดันภาคธุรกิจของรัสเซีย” เซเลนสกีกล่าว “พวกคุณเลือกเอง พี่ชายและพี่สาว”
เซเลนสกี อ้างถึงเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวบ่อยครั้งในความพยายามขอแรงสนับสนุน การเปรียบเทียบที่เรียกเสียงประณามจากอนุสรณ์สถานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวแห่งชาติอิสราเอล ซึ่งระบุว่า เซเลนสกี ด้อยค่าทำให้เหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวนั้นดูเป็นเรื่องเล็กน้อย
ประธานาธิบดีรายนี้กล่าวหาประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย กำลังพยายามใช้ “มาตรการสุดท้าย” กับยูเครน คำกล่าวของนาซี สำหรับแผนฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือการกำจัดชาวยิวมากกว่า 6 ล้านคน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
“พวกคุณคงจำกันได้ และแน่นอนว่า จะไม่มีวันลืม” เขากล่าว “แต่พวกคุณควรได้ยินสิ่งที่กำลังออกมาจากมอสโกในเวลานี้ ถ้อยคำที่พวกเขาพูดออกมาคือ มาตรการสุดท้าย แต่คราวนี้มันเกี่ยวกับเรา เกี่ยวกับหัวข้อยูเครน”
เซเลนสกี ซึ่งตัวเขาเองเป็นชาวยิว ยังได้พูดเน้นถึงเหตุการณ์ที่ขีปนาวุธลูกหนึ่งของรัสเซียตกใส่ บาบิยาร์ จุดที่พวกนาซีลงมือสังหารหมู่ชาวยิวอันน่าสยดสยองในปี 1941 และปัจจุบันได้กลายมาเป็นอนุสรณ์สถานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวหลักในยูเครน
“ประชาชนชาวยูเครน คุณเห็นจรวดของรัสเซียตกใส่บาบิยาร์ไหม คุณรู้ไหมว่าสถานที่แห่งนี้มีความหมายเยี่ยงไร เหยื่อของเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวถูกฝังอยู่ที่นี่”
การใช้ภาษาที่อ่อนไหวเช่นนี้ ชัดเจนว่าเป็นความพยายามของเซเลนสกี ในการเชื่อมโยงอารมณ์ความรู้สึกกับเหล่าผู้ฟัง อิสราเอลก่อตั้งในปี 1948 ในฐานะถิ่นหลบภัยของชาวยิวตามหลังเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ประเทศแห่งนี้เป็นที่พำนักของผู้อยู่รอดวัยชราหลายแสนคน และผู้นำของพวกเขาจำนวนมากเป็นลูกๆ ของบรรดาผู้อยู่รอดเหล่านั้น
ปูติน ก็วาดภาพบรรดาศัตรูของเขาในยูเครน ในฐานะนาโอนาซีเช่นกัน ในความพยายามอ้างความชอบธรรมแก่สงครามของเขาในยูเครน อย่างไรก็ตาม พวกนักประวัติศาสตร์เน้นว่ายูเครนเป็นประเทศประชาธิปไตยที่นำโดยประธานาธิบดียิว และประณามการใช้คำศัพท์เฉพาะดังกล่าวว่าเป็นการบิดเบือนและเป็นอุบายของผู้นำรัสเซีย
ยาอีร์ ลาปิด รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ซึ่งบิดาของเขาเป็นผู้รอดชีวิตจากเหตุสังหารหมู่ชาวยิว ขอบคุณ เซเลนสกี สำหรับคำปราศรัย “เราจะเดินหน้าให้ความช่วยเหลือกับประชาชนยูเครนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเราจะไม่มีวันหันหลังให้กับชะตากรรมของประชาชนที่รับรู้ถึงความสยดสยองของสงคราม
อย่างไรก็ตาม พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถาน โฮโลคอสท์ ยาด วาเชม ซึ่งเคยประณาม ปูติน เกี่ยวกับการพาดพิงถึงนาซี ก็ประณาม เซเลนสกี อย่างดุเดือดเช่นกัน แม้จะไม่เอ่ยนามผู้นำรายนี้
“วาทกรรมของนักโฆษณาชวนเชื่อที่มาพร้อมกับสถานการณ์ความเป็นปรปักษ์ในปัจจุบัน เต็มไปด้วยถ้อยแถลงที่ขาดความรับผิดชอบและเปรียบเทียบอย่างผิดๆ โดยสิ้นเชิงกับอุดมการณ์และพฤติกรรมของนาซี ทั้งก่อนและระหว่างเหตุสังหารหมู่ชาวยิว” อนุสรณ์สถาน ระบุ “ยาด วาเชม ขอประณามการด้อยค่าและบิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว”
ประชาชนชาวอิสราเอลส่วนใหญ่แล้วให้การสนับสนุนยูเครน นับตั้งแต่รัสเซียรุกรานประเทศเพื่อนบ้านทางตะวันตกแห่งนี้ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ และมีหลายพันคนรวมตัวกันและโบกธงชาติยูเครน ณ จัตุรัสแห่งหนึ่งในเทล อาวีฟ เพื่อรับฟังการกล่าวปราศรัยของประธานาธิบดีเซเลนสกี ผ่านจอยักษ์
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรัฐบาลอิสราเอล แสดงท่าทีระมัดระวังมากกว่า พร้อมกับพยายามรับบทเป็นคนกลางในสงคราม โดยนายกรัฐมนตรีนาฟตาลี เบนเนตต์ เดินทางไปเยือนมอสโกอย่างน่าประหลาดใจในวันที่ 5 มีนาคม เพื่อพบปะกับ ปูติน จากนั้นเขาได้พูดคุยกับผู้นำรัสเซียอีกอย่างน้อย 2 รอบ และเซเลนสกี 6 ครั้ง
ในขณะที่กระทรวงการต่างประเทศอิสราเอลประณามการรุกรานอย่างแข็งกร้าว แต่ เบนเนตต์ เลือกใช้ถ้อยคำที่จืดชืดกว่าเพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นกลาง
(ที่มา : เอเอฟพี/เอพี/เซาต์ไชนามอร์นิงโพสต์)