นายวิโรจน์ กล่าวว่า แนวทางการบริหารรถเมล์ของกรุงเทพผิดพลาด เพราะตั้งใจเอากำไรจากประชาชน ขณะที่เส้นทางรถเมล์ก็มีปัญหา สำหรับตัวอย่างวิธีแก้ปัญหารถเมล์ เพื่อทำให้คนหันมาใช้บริการระบบขนส่งมวลชน คือ กทม. ต้องขออนุญาตจากกรมขนส่ง เพื่อเพิ่มเส้นทาง และควรอุดหนุนประชาชนด้วยตั๋วรายเดือน เพื่อบรรเทาปัญหาทางเศรษฐกิจและช่วยคลี่คลายการจราจรที่ติดขัด เพราะหากระบบรถเมล์ดี มีเส้นทางเดินรถที่ดี จะช่วยสร้างย่าน สร้างเสน่ห์ของเมือง สร้างานกระจายโอกาสการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จากการเดินทางจับจ่ายใช้สอยและการค้าขายของคนกรุงเทพ
นายวิโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปัญหาน้ำท่วมเสนอทางออกว่า การลอกท่อเป็นวิธีการแก้ปัญหาและเป็นเรื่องง่ายที่สุดในการเริ่มต้นจัดการน้ำท่วมใน กทม. เชื่อว่าจะเห็นผลมากกว่าการสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่และผลาญงบประมาณ ดังนั้นลอกท่อทั่วเมือง ลอกคลองทั่วกรุง จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนในการจัดการน้ำท่วม และสำหรับปัญหาสุดท้าย การเพิ่มพื้นที่สีเขียว แม้แต่ สนามหลวง พื้นที่สีเขียวที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของคนกรุงเทพ ปัจจุบันก็ถูกล้อมรั้วและทางเดินเต็มไปด้วยสิ่งกีดขวาง สำหรับตนจึงพร้อมคืนสนามหลวงให้คนกรุงเทพ นอกจากนี้ เรายังเห็นปัญหาจากกลวิธีเลี่ยงภาษี ด้วยการปลูกกล้วย ปลูกพืชไร่ ในที่ดินของนายทุน หรือการแบ่งที่ดินเป็นเส้นสปาเกตตี้ เพื่อลดราคาเลี่ยงภาษี ดังนั้น วิธีแก้คือเวนคืนที่ดินประเภทนี้เพื่อทำพื้นที่สีเขียว ทำสวนสาธารณะให้กับคนกรุงเทพทุกคน
“คนกรุงต้องการผู้ว่าฯ ที่เป็นผู้แทนของคนกรุงเทพ มีเจตจำนงที่จะทำให้คนกรุงเทพเท่าเทียมกันและคืนเมืองที่เป็นธรรม ผู้ว่าฯ ต้องไม่เป็นกลางท่ามกลางความขัดแย้ง แต่เป็นต้องตัวแทนยืนอยู่ข้างประชาชน” วิโรจน์ กล่าว