13 พ.ย.2564 – จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คดีที่นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่าการกระทำของกลุ่มแกนนำม็อบคณะราษฏร 63 ที่ประกอบด้วย นายอานนท์ นำภา, นายภาณุพงศ์ จาดนอก นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ซึ่งจัดชุมนุมปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตเพื่อเสนอข้อเรียกร้อง10 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองอันมีประมหากษัตริย์เป็นประมุข
ล่าสุดเมื่อนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” แกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “ราษฎร” ซึ่งถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในคดีตามความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้ส่งแถลงการณ์เผยแพร่ในเฟซบุ๊กเพจ “เพนกวิน – พริษฐ์ ชิวารักษ์ Parit Chiwarak” โดยมีรายละเอียดดังนี้
แถลงการณ์ 5 ข้อจากเรือนจำถึงศาลรัฐธรรมนูญ
เนื่องจากเมื่อวันพุธที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้การเคลื่อนไหวเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นการล้มล้างการปกครอง ข้าพเจ้าจึงขอแถลงจุดยืน 5 ข้อถึงศาลรัฐธรรมนูญดังต่อไปนี้
1. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ ไม่มีความชอบธรรมที่จะวินิจฉัยคำร้องนี้ตั้งแต่แรกเพราะไม่มีความยึดโยงกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ทั้งยังได้รับการแต่งตั้งโดยเครือข่ายเผด็จการ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงของประชาชนผู้เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จึงถือว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่อาจเป็นคนกลางที่ชี้ขาดคำร้องได้
2. การที่ศาลรัฐธรรมนูญ ขมีขมัน วินิจฉัยให้การชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ เป็นการล้มล้างการปกครอง แต่กลับเพิกเฉยต่อการที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพวก ใช้กำลังล้มเลิกรัฐธรรมนูญ และยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลประชาธิปไตยเมื่อ พ.ศ.2557 นั้น เป็นเรื่องย้อนแย้งอย่างน่าสังเวช ทั้งยังเป็นข้อพิสูจน์ว่าศาลรัฐธรรมนูญปราศจากความเป็นกลาง ไร้ซึ่งความน่าเชื่อถือ..
3. การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ไม่ใช่การล้มล้างการปกครอง เพราะข้อเรียกร้อง 10 ข้อนั้นล้วนเป็นไปเพื่อให้สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่ในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างสง่างามยิ่งขึ้น และหลายข้อก็เคยได้ใช้จริง และถือเป็นธรรมเนียมประเพณีการปกครองด้วยซ้ำ เช่นข้อที่ 10 ที่เรียกร้องให้ไม่มีการลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก ควรต้องถือว่าเป็นการปกป้องการปกครอง มิใช่การล้มล้างการปกครองแต่อย่างใด
4. คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เต็มไปด้วยตรรกะวิบัติ ให้เหตุผลจับแพะชนแกะและใช้ข้อมูลที่บิดเบือน คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง อาทิ การอ้างถึงเจตนารมณ์ของคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.2475 นั้น สะท้อนให้เห็นว่าคณะตุลาการมิได้มีความเข้าใจในเจตนารมณ์ของคณะราษฎรเลยแม้แต่น้อย หรือไม่เช่นนั้นก็จงใจบิดเบือนเจตนารมณ์เพื่อทางการเมืองของตน
5. การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากจะเป็นการปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรงแล้ว ยังเป็นการละเมิดหลักการของรัฐธรรมนูญที่ว่า “ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย” เมื่อประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยแล้ว หากประชาชนมีมติ จะให้มีการแก้ไขสิ่งใดในประเทศ สิ่งนั้นย่อมต้องถูกแก้ไข ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นสถาบัน องค์กร หรือโครงสร้างใดๆ การวินิจฉัยที่เกิดขึ้นจึงเรียกได้ว่า เป็นการไม่ให้ความเคารพต่ออำนาจของประชาชน
คำวินิจฉัยที่ศาลได้อ่านเมื่อวันพุธที่ผ่านมาเป็นคำวินิจฉัย “อัปยศ” การบวนการทั้งหมดเป็นเสมือนปาหี่การเมือง…
ข้าพเจ้าเชื่อว่าประชาชนจะร่วมกันจดจำชื่อของคณะตุลาการเหล่านี้คือ
1. นายวรวิทย์ กังศศิเทียม (ประธานศาลรัฐธรรมนูญ)
2. นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ
3. นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์
4. นายปัญญา อุดชาชน
5. นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม
6. นายวิรุฬห์ แสงเทียน
7. นายจิรนิติ หะวานนท์
8. นายนภดล เทพพิทักษ์
9. นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์
และประชาชน จะร่วมกันตัดสินพวกเขาในวันที่ชัยชนะเป็นของประชาชน
พริษฐ์ ชิวารักษ์
เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
12 พฤศจิกายน 2564