สกู๊ปข่าว » #ประเวศ ปลุกกระแสปฏิรูป กระจายอำนาจลดเหลื่อมล้ำ แก้ปฏิวัติซ้ำซาก

#ประเวศ ปลุกกระแสปฏิรูป กระจายอำนาจลดเหลื่อมล้ำ แก้ปฏิวัติซ้ำซาก

30 May 2018
765   0

ประเวศ ปลุกกระแสคนในสังคมร่วมกดดันพรรคการเมือง รวมพลังปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ กระจายอำนาจ แก้ปัญหาเหลื่อมล้ำ ป้องกันกองทัพปฏิวัติซ้ำซาก เพราะไม่รู้จะยึดอำนาจที่ไหน…

เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2561 นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวถึงการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ หลังการเมืองในการเลือกตั้ง 2562 เพื่อปฏิรูปประเทศด้านอื่นๆ ต่อไปว่า ประเทศไทยติดกับโครงสร้างอำนาจ นายกรัฐมนตรีคนต่อไปควรเป็นผู้นำในการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ ประชาชนควรเลือกพรรคที่มีนโยบายปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ กำกับและมีส่วนร่วมในการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ เพราะถ้าไม่ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจจะแก้ความยากจน และความเหลื่อมล้ำไม่ได้ สร้างสังคมศีลธรรมไม่ได้ และสร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์ไม่ได้ การปฏิรูปที่เป็นหัวใจของการปฏิรูป คือ การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ ตามที่คณะกรรมการปฏิรูป ที่ นายอานันท์ ปันยารชุน เสนอไว้ เมื่อปี 2554 เมื่อไม่เข้าใจหัวใจของการปฏิรูป การปฏิรูปอื่นๆ ก็ไม่เห็นผลจริงจัง

สังคมไทยมีโครงสร้างอำนาจทั้งเนื้อทั้งตัว ที่ไปกันไม่ได้กับสังคมปัจจุบันที่หลากหลายซับซ้อนและยาก ในปัญหาที่ซับซ้อนและยากการใช้อำนาจไม่ได้ผล แต่ต้องใช้พลังสติปัญญา วิจารณญาณ และศีลธรรม กับพลังทางสังคม ที่เป็นหน้าที่ของสมองส่วนหน้าที่เรียกว่า Neo-cortex อันเป็นสมองของความเป็นมนุษย์ การใช้อำนาจจะไปกระตุ้นสมองส่วนหลัง ซึ่เป็นสมองสัตว์เลื้อยคลาน (Reptilian brain) ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการอยู่รอด เช่น ต่อสู้ หลบหนี พฤติกรรมต่างๆ ในสังคมไทยเป็นเพราะเป็นสังคมที่สมองส่วนหลังเด่น สมองส่วนหน้าด้อย เพราะโครงสร้างอำนาจ เรื่องการขาดศีลธรรมมีรากฐานลึกซึ้งจากโครงสร้างของสมอง การสอนศีลธรรมจึงไม่ได้ผล

ราษฎรอาวุโส กล่าวต่อว่า ส่วนระบบราชการเป็นระบบรวมศูนย์อำนาจที่ใหญ่ที่สุด ใช้เพื่อการควบคุมมากกว่าการพัฒนา คุณบรรยง พงษ์พานิช ไปนับดูปรากฏว่ามีกฎหมาย กฎกระทรวง ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง ทั้งหมดประมาณ 1.3 แสนฉบับ ที่ใช้กำกับการทำงานของระบบราชการ การบริหารในภาครัฐจึงเป็นการบริหารกฎ ระเบียบ หรือบริหารอำนาจ มากกว่าเนื้อหาสาระ การพัฒนาประเทศจึงไม่ได้ผล การรวมศูนย์อำนาจของระบบราชการก่อให้เกิดปัญหาเกือบทุกด้าน เช่น 1. ทำให้ชุมชนท้องถิ่นอ่อนแอปัญหา 70-90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งควรแก้ได้ในพื้นที่ต้องพุ่งเข้าส่วนกลางซึ่งก็แก้ไม่ได้จริง 2. เกิดความขัดแย้งระหว่างอำนาจส่วนกลางกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ดังในชายแดนใต้ 3. ระบบรัฐอ่อนแอ เพราะใช้อำนาจโดยไม่ใช้ปัญญา 4. คอร์รัปชันมาก อำนาจมากที่ไหนคอร์รัปชันใหญ่โตที่นั่น 5. ทำให้การต่อสู้ทางการเมืองรุนแรง เพราะใครชนะกินรวบ (ใช้ระบบรัฐที่รวมศูนย์อำนาจ) เพราะฉะนั้นไม่ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือรัฐประหารก็แก้ปัญหาของประเทศไม่ได้ ถ้าไม่มีการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ 5. ทำให้ทำรัฐประหารได้ง่ายเพราะอำนาจรวมศูนย์ จึงยึดอำนาจได้ง่าย ไม่ว่าจะด้วยกำลังทหาร หรือกำลังเงิน จะเห็นได้ว่าโครงสร้างอำนาจที่รวมศูนย์ทำให้ประเทศไทยไม่มีประสิทธิภาพ วนเวียนหมักหมมอยู่ในวังวนของปัญหาและสภาวะวิกฤติ หัวใจของการปฏิรูปประเทศจึงอยู่ที่การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ

นพ.ประเวศ กล่าวอีกว่า การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจคือการเปลี่ยนประเทศจากมืดเป็นสว่าง มืด หมายถึง โครงสร้างอำนาจทางดิ่ง อันเป็นระบบรวมศูนย์อำนาจที่เน้นการควบคุมทั่วประเทศในความมืด ความไม่ดีต่างๆ เกิดได้ง่าย สว่าง หมายถึง โครงสร้างทางราบ อันเป็นระบบส่งเสริมความงอกงามอย่างหลากหลาย คน ทั้งหลายมีอิสระที่จะรวมตัวร่วมคิดร่วมทำกิจสาธารณะในรูปต่างๆ เต็มประเทศ ในความสว่าง คนไม่กล้าทำผิด ในโครงสร้างทางดิ่ง เศรษฐกิจจะไม่ดี การเมืองจะไม่ดี ศีลธรรมจะไม่ดี เพราะประเทศมีการใช้ สมองส่วนหลังสูง สมรรถภาพและคุณภาพต่ำ ในโครงสร้างทางราบ เศรษฐกิจจะดี การเมืองจะดี ศีลธรรมจะดี เพราะประเทศมีการใช้สมอง ส่วนหน้าสูง สมรรถภาพและคุณภาพสูง

ราษฎรอาวุโส กล่าวอีกว่า ส่วนหลักการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ เริ่มจาก 1. รัฐบาลออก พ.ร.บ.ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ ถอดสลักกฎหมายหลายร้อยฉบับที่รวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง กระจายอำนาจไปให้ชุมชน ท้องถิ่น และองค์กรในพื้นที่ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล มีอิสระในการจัดการกันเอง โดยการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ และปรับบทบาทของระบบราชการส่วนกลางจากการบริหารอำนาจ เป็นบริหารนโยบายและยุทธศาสตร์ 2. รัฐต้องส่งเสริมสนับสนุน การรวมตัวร่วมคิดร่วมทำอย่างอิสระ เพื่อกิจสาธารณะในทุกพื้นที่ ทุกองค์กร และทุกประเด็น เกิดพลังพลเมืองที่ตื่นรู้ เต็มประเทศ พลังพลเมืองที่ตื่นรู้จะทำให้เศรษฐกิจดี การเมืองดี และศีลธรรมดี 3. ออก พ.ร.พ.สัมฤทธิศาสตร์ เพื่อส่งเสริมศาสตร์แห่งการขับเคลื่อนเรื่องสำคัญไปสู่ความสำเร็จ รัฐติดอยู่ในความไม่สำเร็จมาช้านาน เป็นต้น

เหตุให้บ้านเมืองวิกฤติ สังคมปัจจุบันต่างจากสังคมโบราณที่เต็มไปด้วยเรื่องที่ซับซ้อนและยาก ในเรื่องที่ซับซ้อนการใช้อำนาจไม่ได้ผล แต่กลไกของรัฐก็คุ้นเคยแต่การใช้อำนาจการมีแต่แผนก็ไม่ได้เกิดผลสัมฤทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นแผนปฏิรูปหรือแผนยุทธศาสตร์ เพราะปัจจัยของความสำเร็จยังมีอื่นๆ อีก 8-9 อย่าง นอกเหนือไปจาก แผนสัมฤทธิศาสตร์ คือ การขับเคลื่อนให้ปัจจัยแห่งความสำเร็จทั้งหมดเข้ามาเชื่อมโยง ด้วยการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติในสถานการณ์จริง หน่วยงานต่างๆ คุ้นเคยกับการทำงานเฉพาะตัว ไม่มีวัฒนธรรมและทักษะในการทำงานแบบเชื่อมโยงเป็นภาคีกัน

ในการนี้อาจจำเป็นต้องมีหน่วยงานอิสระที่มีทักษะในการขับเคลื่อนเข้ามาช่วย การทำเรื่องสำคัญๆ ให้สำเร็จ นอกจากทำให้บ้านเมืองสามารถก้าวข้ามไปข้างหน้าได้ การขับเคลื่อนเข้ามาช่วย การทำเรื่องสำคัญๆ ให้สำเร็จ นอกจากทำให้บ้านเมืองสามารถก้าวข้ามไปข้างหน้าได้ การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติในสถานการณ์จริงยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformation) เช่น ควมเสมอภาค การเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นคน ความเชื่อถือไว้วางใจ การเกิดปัญญาร่วม และอัจฉริยภาพกลุ่ม ทั้งยังก่อให้เกิดความสุขประดุจบรรลุนิพพาน ฉะนั้น ถ้าได้ทำงานร่วมกันทำนองนี้ไปสัก 5 ปี ทุกฝ่ายจะได้รับรสชาติของความปีติร่วมกัน เกิดวัฒนธรรมใหม่แห่งการทำงาน อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานที่เรียกว่า Transformative development หรืออาริยพัฒนา

นพ.ประเวศ กล่าวถึงการทำยุทธศาสตร์การสื่อสารเพื่อการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ เนื่องจากการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจว่า ต้องการจิตสำนึกใหม่ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ควรมีคณะกรรมการอิสระเพื่อยุทธศาตร์การสื่อสารปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ ที่มีความเข้าใจประเด็นเรื่องปฏิรูปโครงสร้างอำนาจเป็นอย่างดี ทำการสื่อสารทุกรูปแบบอย่างกว้างขวาง ทั้งทางสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ โซเชียลมีเดีย ศิลปะทุกแขนง ซึ่งรวมทั้งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ละคร และภาพยนตร์ เพื่อให้เกิดจิตสำนึกใหม่ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ในการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ อีกทั้ง รัฐบาลใหม่ในปี2562 อาจตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปโครงสร้างอำนาจเป็นเครื่องมือช่วยรัฐบาลในการนี้ พร้อมทำให้การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจเป็นประเด็นทางการเมืองในการเลือกตั้ง 2562

เมื่อเป็นประเด็นทางการเมือง (Political issue) เรื่องนั้นก็จะขับเคลื่อนต่อไปโดยหยุดยั้งไม่ได้ เพราะฉะนั้นควรทำให้การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจเป็นประเด็นทางการมืองสำหรับการเลือกตั้ง2562 โดยสื่อมวลชนทำการสื่อสารเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ นักเคลื่อนไหวสังคมและเคลื่อนไหวทางการเมือง และนักวิชาการ จัดประชุมเรื่อง ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ จนเกิดเป็นกระแสสังคม

เสร็จแล้วสื่อมวลชนไปสัมภาษณ์พรรคฝ่ายค้านพรรคใดพรรคหนึ่ง ว่ามีนโยบายจะปฏิรูปโครงสร้างอำนาจหรือไม่ คำตอบคือมี เมื่อพรรคหนึ่งประกาศว่าจะปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ สื่อมวลชนก็ไปถามพรรคอื่นๆ ต่อไป ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจจะกลายเป็นประเด็นทางการเมือง และเกิดกระแสสังคมแรงขึ้นๆ ในเรื่องปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ ภายหลังเลือกตั้งไม่ว่าพรรคใดชนะ หรือต้องร่วมกันหลายพรรคจัดตั้งรัฐบาล ก็ต้องปฏิรูปโครงสร้างอำนาจเพราะสังคมจะมาทวงถามหรือกดดัน

ราษฎรอาวุโส กล่าวด้วยว่า ส่วนกระบวนการประชาชน ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ ตามปรกติบุคคล หรือองค์กรที่มีอำนาจจะไม่ต้องการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ ฉะนั้นกระบวนการประชาชนจึงสำคัญที่สุดในการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ ซึ่งอาจทำได้ ดังนี้ 1. เผยแพร่เอกสารเรื่อง “ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ” โดยคณะกรรมการปฏิรูปที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานอย่างกว้างขวางที่สุด 2. จัดประชุมระดมความคิด เรื่อง ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจบ่อยๆ ทุกจังหวัดทั่วประเทศ 3. สถานีโทรทัศน์จัดเวทีอภิปราย เรื่อง ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจเป็นประจำ 4. ประชาชนลงมือปฏิบัติปฏิรูปโครงสร้างอำนาจโดยไม่ต้องรอกฎหมาย นั่นคือรวมตัวร่วมคิดร่วมทำในประเด็นสาธารณะในทุกพื้นที่ ทุกองค์กร และทุกประเด็น ภาคประชาสังคม มหาวิทยาลัย สื่อมวลชน ภาคธุรกิจ และองค์กรต่างๆ ควรสนับสนุนการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำดังกล่าวให้เต็มประเทศ นี่คือการสร้างพลังพลเมืองที่ตื่นรู้ พลังพลเมืองที่ตื่นรู้จะไปขับเคลื่อนให้เกิดและร่วมปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ รวมทั้งร่วมพัฒนาสิ่งดีงามต่างๆ ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย และ 5. พรรคการเมืองสร้างความเป็นสถาบันให้ตัวเอง และร่วมกับพลังพลเมืองที่ตื่นรู้ พัฒนาประเทศไทย ในทุกพื้นที่ ทุกองค์กร และทุกประเด็น จะเกิดประชาธิปไตย ที่สมบูรณ์ทั้ง 3 ระดับ และ 4 มิติ นั่น คือ ประชาธิปไตย 3 ระดับ ได้แก่ ประชาธิปไตยระดับชุมชน ประชาธิปไตยระดับท้องถิ่น และ ประชาธิปไตยระดับชาติ ประชาธิปไตย 4 มิติ ได้แก่ ประชาธิปไตยทางการเมือง ประชาธิปไตยทางสังคม ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยทางจิตสำนึก (Spiritual democracy) เมื่ออำนาจกระจายไปโดยทั่วถึง การยึดอำนาจก็จะไม่มีอีกต่อไป เพราะไม่รู้จะยึดที่ไหน และยึดไปทำไม ประเทศไทยจะได้ลงตัวและมุ่งหน้าไปสู่ความสุขความเจริญที่แท้จริงเสียที

สำนักข่าววิหคนิวส์