22 พ.ย.60 ที่รัฐสภา เครือข่ายการปฏิรูปการประกันตัวเพื่อคนจน นำโดย นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ น.ส.สรัลรัสย์ เชื้อเมืองพานกุล นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เข้ายื่นหนังสือเรื่อง ขอยื่นรายชื่อผู้สนับสนุนโครงการ “ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน” ต่อ พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมโน คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม
แนวหน้า – โดย นายปริญญา กล่าวว่า รัฐธรรมนูญทุกฉบับต่างมีหลักการเหมือนกันว่า ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า บุคคลใดมีความผิด จะปฏิบัติต่อผู้นั้นเสมือนผู้กระทำความผิดมิได้ จึงไม่ควรมีบุคคลใดต้องติดคุก ก่อนศาลพิพากษา หรือระหว่างพิจารณาคดี แต่ในทางปฏิบัติได้กำหนดให้ใช้เงินเป็นหลักประกันสำหรับขอปล่อยตัวชั่วคราว ผลคือปัจจุบันมีคนติดคุกอยู่ 66,000 คน เพราะไม่มีเงินประกัน
“เครือข่ายฯสร้างแคมเปญล่ารายชื่อสนับสนุนโครงการบนเว็บไซต์ change.org มีเป้าหมายอยู่ที่ 66,000 รายชื่อ โดยตอนนี้มีผู้ร่วมลงชื่อแล้วกว่า 30,000 ราย ทั้งนี้ ผลเสียจากการใช้เงินประกันตัว ทำให้เกิดปัญหาอย่างร้ายแรงในกระบวนการยุติธรรมคือ 1.ความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรมมีมากขึ้น ขัดต่อหลักความเสมอภาคตามมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญ 2.คุกล้นโดยไม่จำเป็น และ 3.ไม่ได้เป็นหลักประกันว่า จำเลยจะกลับมาศาล มีตัวอย่างให้เห็นมากมายว่า พอจำเลยที่ได้ประกันรู้ว่าผิด ก็ไม่มาศาล ทั้งนี้ จึงขอเสนอให้ใช้หลักการประเมินความเสี่ยงในการหลบหนีของจำเลยแทนการใช้เงินประกัน แม้ตอนนี้จะมีศาล 13 แห่งใช้ระบบนี้อยู่ แต่ก็คิดเป็นเพียงส่วนน้อยหรือจำนวนร้อยละ 5 ของศาลทั้งหมดเท่านั้น” นายปริญญา กล่าว
ด้าน พล.ต.ท.อำนวย กล่าวว่า จะนำข้อเสนอดังกล่าวมาเป็นข้อสนับสนุนของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม เพราะตรงกับแนวทางการปฏิรูปของคณะเรา ที่จะหามาตรการโดยไม่ใช้หลักทรัพย์การขอประกันตัวเป็นตัวตั้ง แต่จะผลักดันระบบประเมินความเสี่ยงมาใช้สำหรับการปล่อยตัวชั่วคราวแทน ต้องปรับกระบวนทัศน์กันใหม่ มิเช่นนั้นก็จะเป็นอย่างที่เห็นกันคือ ขอประกัน 5 ล้านบาท 20 ล้านบาท พอออกจากห้องขังแล้วก็บินไปไม่กลับมาอีก พร้อมกันนี้ คณะกรรมการปฏิรูปชุดนี้ จะจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนในวันที่ 23 พฤศจิกายน ที่โรงแรมเจ้าพระยาพาร์คด้วย
สำนักข่าววิหคนิวส์