นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ เสนอ ปลดล็อกพันธนาการโดยการแก้ไขประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องวิธีการบริหารงานสุรา ๒๕๔๖ (ฉบับที่ ๔) และกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. ๒๕๖๐ เพื่อส่งเสริมการผลิตชุมชนสร้างมูลค่าเพิ่มภูมิปัญญาท้องถิ่นเพิ่มรายได้แก้จน
‘นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เสนอรัฐพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชน ยกกรณีศึกษาสุราชุมชน จังหวัดแพร่ เพื่อเพิ่มรายได้แก้ความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคมไทย’
เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๓.๓๐ น. ในการประชุมคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ มี นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการ พร้อมด้วย นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ รองประธานคณะกรรมาธิการ อดีตอธิบดีกรมพัฒนาชุมชนและอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ โดยมีตัวแทนจากอุตสาหกรรมจังหวัดแพร่ ผู้แทนวิสาหกิจชุมชนจังหวัดแพร่ และผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ผู้แทนวิสาหกิจชุมชน จังหวัดแพร่ ได้เสนอปัญหาและแนวคิดที่จะเสนอให้หน่วยงานรัฐแก้ไขเกี่ยวกับวิสาหกิจสุราพื้นบ้านโดย
๑. นายตรีพล ตุ้ยเรือน ตัวแทนวิสาหกิจชุมชนโรงงานสุรากลั่นสามจอก อ.วังชิ้น จ.แพร่ กล่าวถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขโดยสรุปว่า
๑.) วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตสุราพื้นบ้านคิดว่าพวกเขากำลังถูกกีดกันการค้าจากบริษัทใหญ่ จึงเสนอว่าขอให้ร้านค้าขนาดช่วยรับสุราพื้นบ้านประมาณ ร้อยละ ๑๐ – ๑๕ จากยอดขายของเอเย่นต์ที่ทำการจำหน่ายสุรา
๒.) การกำหนดให้การผลิตสุรากลั่นชุมชน ต้องใช้เครื่องจักรที่มีกำลังรวมต่ำกว่าห้าแรงม้า และคนงานจะต้องไม้น้อยกว่า ๗ คน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของการทำธุรกิจนี้ จึงเสนอให้มีการแก้ไขกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. ๒๕๖๐ โดยขอขยายกำลังแรงม้าของเครื่องจักรจาก ๕ แรงม้า เป็น ๑๕ – ๒๐ แรงม้า และเพิ่มจำนวนคนงานจาก ๗ คน เป็นไม่เกิน ๒๐ คน
๓.) การกำหนดเกี่ยวกับการทำบัญชีควบคุมวัตถุดิบรายวัน รายเดือน มีรายละเอียดและขั้นตอนในการดำเนินการและมีความยุ่งยาก สำหรับวิสาหกิจชุมชนมาก ดังนั้น จึงขอให้มีการปรับลดขั้นตอนการควบคุมการผลิตสุราชุมชนให้สามารถดำเนินการได้
๒. นางดารารัตน์ สลักหร่าย ผู้แทนวิสาหกิจชุมชนสุราแก่งเสือเต้น อ.สะเอียบ จ.แพร่ เสนอปัญหาต่อที่ประชุมว่า
๑.) เป็นชุมชนที่ผลิตสุรากลั่นชุมชนมากที่สุดในจังหวัดแพร่ โดยเสียภาษีประมาณปีละ 400-500 ล้านบาท สิ่งที่ได้รับผลกระทบขณะนี้คือ มีความรู้สึกว่าการผลิตสุรากลั่นที่มีขนาดยิ่งโตยิ่งทำให้รายได้เหลือน้อย หรือบางกรณีไม่เหลือเลย เนื่องจากการที่ต้องชำระภาษีซ้ำซ้อนคือ ผู้ผลิตสุราชุมชนต้องภาษีสรรพสามิตร ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้ประจำปี นอกจากนี้ยังต้องคิดคำนวณต้นทุนข้าวเหนียวรวมด้วย เช่น ถ้าขายสุราขวดละ ๗๕ บาท ต้องเสียภาษีสรรพสารมิตรในอัตราขวดละ ๔๑.๗๒ ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราขวดละ ๕.๒๕ บาท และต้นทุนข้าวเหนียวในอัตราขวดละ ๒๗.๗๐ บาท (ราคาจะสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับช่วงเวลาในการซื้อข้าว) รวมแล้วทั้งสิ้น ๗๖.๔๖ บาท
ดังนั้น จึงเสนอขอให้แก้ไขเกี่ยวกับการงดเก็บภาษีสรรพสามิต และภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการมากขึ้น
๒.) ปัญหากำลังเครื่องจักรที่ถูกจำกัดตามกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. ๒๕๖๐ ได้เสนอให้มีการแก้ไขกำลังเครื่องจักรในทำนองเดียวกันกับตัวแทนวิสาหกิจชุมชนโรงงานสุรากลั่นสามจอก รวมทั้งปัญหาข้อกำหนดเกี่ยวกับการบังคับให้ติดสลากอากรแสตมป์ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งวัน ซึ่งในข้อเท็จจริงไม่สอดคล้องกับจำนวนแรงงานคนกำหนดไว้ที่ ๗ คน ดังนั้น จึงเสนอให้มีการขยายจำนวนแรงงานคนเพิ่มขึ้น
๓.) ปัญหากากหรือของเสียที่เหลือจากการผลิตสุรากลั่นชุมชนที่ปัจจุบันยังไม่มีแนวทางการกำจัดที่ชัดเจน
นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ รองประธานคณะกรรมาธิการ เห็นว่าปัญหาและข้อเสนอของผู้แทนแทนผู้ผลิตสุราพื้นชุมชนเสนอพบว่า มีปัญหาในเรื่องต่างๆ ที่จำเป็นต้องมีการแก้ไขและพัฒนาอย่างต่อเนื่องดังต่อไปนี้คือ
๑. ปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษี ทั้งภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม และปัญหาด้านต้นทุนสูง
สำหรับเรื่องการเสียภาษี เช่น ภาษีสรรพากร ภาษีสรรพสามิตหรือภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไปจึงไม่อาจยกเว้นเฉพาะรายใดรายหนึ่งได้ หากยังผลิตเพื่อขายในลักษณะเดิมจะไม่สามารถแก้ไขเรื่องราคาได้ ดังนั้น การผลิตจะต้องเน้นการขายให้กับนักท่องเที่ยว เพิ่มนวัตกรรมในการผลิต สร้าง Stories เกี่ยวกับสุราพื้นบ้าน การพัฒนาด้านการการตลาด เช่น การจัดแบ่งระดับชั้นของสุรา โดยพิจารณาจากระยะเวลาในบ่ม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า
๒. ปัญหาเกี่ยวกับการกำจัด หรือการนำกากและของเสียเหลือจากการผลิตสุราหรือ “น้ำโจ้” หรือการนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นที่เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบดังกล่าว จะหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ถึงแนวทางการแก้ปัญหาต่อไป
นายสังศิต กล่าวสรุปก่อนปิดการประชุมว่า ‘เศรษฐกิจของประเทศจะไปได้ดีจะต้องอาศัยผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมาก ประเทศจะปลอดภัยมากกว่าให้มี ประกอบการเพียงรายเดียวผูกขาดทั้งประเทศ เพราะนอกจากจะเกิดความเหลื่อมล้ำ จะไม่เป็นผลดีทางเศรษฐกิจ ในภาพรวม เพราะการผลิตขนาดเล็กจะจ้างคนมาก การผลิตขนาดใหญ่จ้างคนน้อยเพราะใช้เครื่องจักร ฉะนั้น ถ้ามองด้าน เศรษฐกิจชุมชนจะช่วยคนจำนวนมาก เรื่องนี้เราควรสนับสนุน‘
‘ปัญหาขณะนี้คือ กฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งออกโดยกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ที่ออกกฎเกณฑ์กำหนดให้ชาวบ้าน ต้องจำกัดกำลังแรงม้าของเครื่องจักสำหรับผลิตสุราให้อยู่ในระดับไม่เกิน ๕ แรงม้า และจำนวนแรงงานคนไม่เกิน ๗ คน ถ้าสามารถแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าวได้ตามที่กลุ่มตัวแทนชาวบ้านเสนอมา จะเป็นการปลดปล่อยพลังการผลิตของวิสาหกิจชุมชน ตนจึงใคร่ขอเสนอว่า
๑. ต้องปลดล็อคเรื่องการผลิต โดยการขยายกำลังแรงเครื่องจักรการผลิตสุราให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตามที่เสนอมา
๒. เรื่องการประชาสัมพันธ์จะทำอย่างไร จะต้องประสานขอความร่วมมือกับสำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงจะไม่ผิดกฎหมายการควบคุมสุรา
๓. จะต้องศึกษาแนวทางที่จะทำให้ธุรกิจเล็กๆ โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้เติบโต
“ดังนั้น ผมจึงเห็นว่าถ้าเราสามารถปลดปล่อยปัญหาเหล่านี้ทีละเรื่องได้ เพื่อให้ธุรกิจชุมชนเหล่านี้ได้ลืมตาอ้าปาก ก็จะต้องปลดพันธนาการด้านกฎหมายของกรมสรรพสามิต ที่ออกมาพันธนาการให้ชาวบ้าน ไม่สามารถเติบโตได้” นายสังศิตกล่าวในที่สุด